Wednesday 29 October 2008

ปลานิล

ปลานิล Tilapia nilotica
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดในประเทศแอฟริกาและลุ่มน้ำจอร์แดน เป็นปลาพื้นเมืองที่พบได้ทั่วไปตามลำคลอง หนอง บึงทั่วไป รูปร่างของปลานิลลักษณะคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่มีสีจางกว่า ลำตัวมีควงามยาว 45-50 เซนติเมตร มีริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว และมีเกล็ดสีเข้มอยู่จุดหนึ่ง

ธรรมชาติของปลานิลนั้นเป็นปลาที่ชอบอาศัยรวมกันเป็นฝูงอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย อดทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆได้ดี เป็นปลาที่กินอาหารจำพวกพืช มีไข่ดกและขยายพันธุ์ได้ตลอดปี ใช้เวลาเลี้ยงสั้น เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย มีรสชาติดี จึงเป็นที่นิยมเลี้ยงและบริโภคกันอย่างแพร่หลาย

การเพาะเลี้ยงปลานิล
การะเพาะพันธุ์ปลานิลให้ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ ต้องได้รับการเอาใจใส่และมีการปฏิบัติใน ด้านต่าง ๆ เช่น การเตรียมบ่อ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การตรวจสอบลูกปลา และการอนุบาลลูกปลา สำหรับการเพาะปลานิลอาจทำได้ทั้งในบ่อดินและบ่อปูนซิเมนต์ และกระซังไนลอนตาถี่ ดังวิธีการ ต่อไปนี้

ปลานิล
1. การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์
1.1 บ่อดิน บ่อเพาะปลานิลควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ 50-1,600 ตารางเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ระดับสูง 1 เมตร บ่อควรมีเชิงลาดตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันดินพังทลาย และมี ชานบ่อกว้าง 1-2 เมตร ถ้าเป็นบ่อเก่าก็ควรวิดน้ำและสาดเลนขึ้น ตกแต่งภายในบ่อให้ดินแน่น ใส่โล่ติ๊น กำจัดศัตรูของปลาอัตรส่วนใช้โล่ติ๊นแห้ง 1 กก./ปริมาตรของน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร โรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ 1 กก./ พื้นที่บ่อ 10 ตรม. ใส่ปุ่ยคอกแห้ง 300 กก./ไร่ ตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จึงเปิดหรือสูบน้ำเข้าบ่อ ผ่านผ้ากรองหรือตะแกรงตาถี่ให้มีระดับสูงประมาณ 1 เมตร การใช้บ่อดินเพาะปลานิลจะมีประสิทธิภาพ ดีกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นบ่อที่มีลักษณะคล้ายคลึงธรรมชาติ และการผลิตลูกปลานิลจากบ่อดินจะได้ ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่น

1.2 บ่อปูนซีเมนต์ ก็สามารถใช้ผลิตลูกปลานิลได้ รูปร่างของบ่อจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือรูปกลม ก็ได้ มีความลึกประมาณ 1 เมตร พื้นที่ผิวน้ำตั้งแต่ 10 ตารางเมตร ขึ้น ทำความสะอาดบ่อและ เติมน้ำที่กรองผ้าในล่อนหรือมุ้งลวดตาถี่ให้มีระดับน้ำสูงประมาณ 80 ซม. ถ้าใช้เครื่องเป่าลมช่วย เพิ่มออกซิเจน ในน้ำ จะทำให้การเพาะปลานิลด้วยวิธีนี้ได้ผลมากขึ้น อนึ่ง การเพาะปลานิลด้วยบ่อซีเมนต์ ถ้าจะให้ได้ลูกปลามากก็ต้องใช้บ่อขนาดใหญ่ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง

1.3 กระชังในล่อนตาถี่ ขนาดของกระชังที่ใช้ประมาณ 5 x 8 x 2 เมตร เมตร วางกระชังในบ่อดินหรือ ในหนองบึง อ่างเก็บน้ำ ให้พื้นกระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ ประมาณ 1 เมตร ใช้หลักไม้ 4 หลัก ผูกตรงมุม 4 มุม ยึดปากและพื้นกระชังให้แน่นเพื่อให้กระชังขึงตึง การเพาะปลานิลด้วยวิธีนี้มีความเหมาะ ที่จะใช้ผลิต ลูกปลาในกรณีซึ่งเกษตรกรไม่มีพื้นที่ดินก็สามารถจะเลี้ยงปลาได้ เช่น เลี้ยงในอ่างเก็บน้ำหนอง บึงและ ลำน้ำต่าง ๆ เป็นต้น

Tuesday 28 October 2008

การให้อาหารปลา

การให้อาหารปลา
การเลี้ยงปลาโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ นิยมใช้อาหารเลี้ยงปลาเพราะจะทำให้ได้ผลผลิตสูง การให้อาหารปลานั้นต้องคำนึงถึงชนิดของปลาที่เลี้ยงว่าเป็นปลากินพืชหรือปลากินเนื้อ และอาหารอะไรที่ปลาชอบกิน เพื่อจะได้จัดหาอาหารให้ถูกต้อง นอกจากจะต้องคำนึงถึงคุณค่าของอาหารแล้วจะต้องคำนึงถึงแหล่งของอาหารว่ามีมากพอหรือไม่

อาหารปลา
ปลาไน กินจุลินทรีย์ในน้ำหรือไรน้ำ ลูกน้ำ แหน สาหร่ายน้ำ รำ รากและใบผักบุ้ง ลูกกุ้ง ลูกหอย หนอน
ปลาสลิด กินตะไคร่น้ำ แหน ไรน้ำ รำ ตัวปลวก
ปลาดุก ชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น แมลง เครื่องในสัตว์ เศษเนื้อ ไส้เดือน รำ ปลายข้าว กากมัน
ปลาสวาย ปลาเทโพ กินพืช ไรน้ำ ลูกกุ้ง ตัวปลวก รำ เศษเนื้อ ผักสด หอย ปลาป่น
ปลาแรด กินผักบุ้ง แหน จอก สาหร่าย หญ้า ข้าวสุก กากมะพร้าว

ลูกกุ้ง - อาหารปลาธรรมชาติ
อาหารธรรมชาติและแหล่งของอาหารธรรมชาติ
จุลินทรีย์ หมายถึง พืชและไรน้ำเล็กๆที่อาศัยอยู่ในน้ำ เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หากต้องการเพิ่มจำนวนก็ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชหมักใส่ลงไปในบ่อ

แหน เป็นพืชชนิดหนึ่ง เกิดบนผิวน้ำในหนองหรือบ่อน้ำนิ่งและในที่ๆได้รับแสงแดด เป็นพืชที่งอกงามและขยายตัวเร็ว

รำ นอกจากอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ ควรใช้รำเป็นอาหารเพิ่มให้ปลา จะต้มปนกับผักบุ้งหรือสาหร่ายปลาป่นผสมเลือดสัตว์ก็ได้ ใช้รำ 2 ส่วนต่อรำ 1 ส่วน คลุกให้เข้ากันและปั้นเป็นก้อนๆ

ผักหญ้า ได้แก่ จอก สาหร่าย ผักตบชวา ผักบุ้ง
เศษเนื้อ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู และปลา ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ
แมลง เช่น ตัวปลวก หนอน ตัวไหม ไข่มดบางชนิด
เศษอาหาร เช่น กากมะพร้าว ถั่ว ข้าวสุก และเศษอาหารเหลือผสมกับรำให้กิน
ตะไคร่น้ำ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ปลาป่น ทำจากเศษปลาตากแห้งแล้วบด หรือปลาป่นที่จำหน่ายเป็นอาหารให้ปนกับรำหรือผัก

อาหารควรให้เป็นเวลาเพื่อฝึกหัดปลาให้ชิน ปลาแต่ละชนิดก็มีลักษณะและการกินอยู่ต่างกับอีกชนิดหนึ่งไม่มากก็น้อย ฉะนั้นก่อนที่จะเลี้ยงปลาไม่ว่าชนิดใดผู้เลี้ยงควรทราบลักษณะและนิสัยของปลานั้นๆ ก่อน การเลี้ยงปลาก็ย่อมจะได้ผลดียิ่งขึ้น

Sunday 26 October 2008

การบริหารงานเพาะเลี้ยงปลา

การบริหารงานเพาะเลี้ยงปลา
งานเพาะเลี้ยงปลาหรือการดูแลรักษาบ่อปลานั้นเป็นเทคนิคที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการเลี้ยงปลา ซึ่งถ้าผู้เลี้ยงปลาไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่บ่อปลาแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาทีหลัง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ดังนั้นการดูแลรักษาและเอาใจใส่บ่อปลาเพื่อให้การเลี้ยงปลาประสบผลสำเร็จนั้น ผู้เลี้ยงควรคำนึงถึงเรื่องต่างๆดังนี้คือ

โดยปกติการเลี้ยงปลาในบ่อนั้นจำเป็นที่จะต้องกำจัดศัตรูปลาให้หมดก่อนที่จะถูกปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง ศัตรูที่สำคัญในบ่อปลา ได้แก่ ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาไหล กบ เขียด เป็นต้น ศัตรูพวกนี้กำจัดได้โดยใช้โล่ติ๊น 1 กิโลกรัมต่อปริมาตรน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร สาดให้ทั่วบ่อแล้วทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จึงเติมน้ำลงในบ่อและปล่อยปลาลงเลี้ยงได้ ในกรณีที่บ่อสูบน้ำจนแห้งควรใส่ปูนขาวในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อ 10 ตารางเมตร เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะสูบน้ำลงบ่อ ในกรณีที่ปล่อยปลาและเลี้ยงปลาในระยะหนึ่งแล้วตาปรากฏว่าได้มีปลาช่อนหรือศัตรูชนิดอื่นๆ สามารถเล็ดลอดเข้าไปอาศัยอยู่ในบ่อเลี้ยงปลานั้น จำเป็นจะต้องใช้อวนจับปลาที่เป็นศัตรูออกให้หมด นอกจากการใช้อวนจับแล้วอาจจะใช้แหก็ได้ ฉมวกหรือเครื่องมืออย่างใดก็ได้ตามแต่เหมาะสม ซึ่งผู้เลี้ยงปลาจำเป็นต้องตรวจตราดูแลเอาใจใส่บ่อเลี้ยงปลาของตนเองอยู่เสมอๆ

บ่อเพาะเลี้ยงปลา
น้ำในบ่อเลี้ยงนั้นต้องคำนึงถึงสภาพของน้ำว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ถ้ามีสีเขียวใสแสดงว่าน้ำดี แต่ถ้าสภาพของน้ำขุ่นเป็นสีโคลนแสดงว่ามีสารแขวนลอยอยู่มาก เช่น บ่อที่ขุดใหม่ๆ จึงจำเป็นต้องทำให้ตกตะกอน โดยใช้ปุ๋ยพืชสดหรือฟางข้าวใส่หมักไว้ ซึ่งจะทำให้สารแขวนลอยตกตะกอน น้ำเปลี่ยนสภาพเป็นกลางน้ำจะใสขึ้น เมื่อปล่อยปลาลงวเลี้ยงจึงจะทำให้ปลาโตได้ดี แต่ในกรณีที่น้ำในบ่อมีสีเขียวจัด ควรสูบน้ำออกบ้างแล้วเติมน้ำใหม่ เพื่อให้สีเขียวเจือจางลง การให้อาหารปลาที่มากเกินไปก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำเสีย



ผู้ที่เลี้ยงปลาดุกและปลาช่อนจะต้องคอยเปลี่ยนน้ำในบ่อให้ดีอยู่เสมอ การเลี้ยงปลาทั้งสองชนิดนี้ต้องลงทุนค่อนข้างสูง ให้อาหารสม่ำเสมอทุกวัน ส่วนการเลี้ยงปลาแบบกินพืช เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน นั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยนัก จะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อเห็นว่าน้ำเสียจึงจะสูบออกและเติมน้ำใหม่เข้าไปในบ่อ

Saturday 25 October 2008

ชนิดของปลาที่ควรเลี้ยง

ชนิดของปลาที่ควรจะนำมาเลี้ยง
พันธุ์ปลาที่ควรเลี้ยง คือ ปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว หาพันธุ์ได้ง่าย มีลูกมาก อดทน เนื้อมีรสชาติอร่อย และมีผู้นิยมบริโภคมาก นอกจากนี้ควรคำนึงถึงความชำนาญของผู้ที่จะเลี้ยง สภาพของที่ที่จะเลี้ยง สภาวะของตลาด ราคาปลา และราคาค่าอาหารเป็นส่วนประกอบด้วย เพี่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลังได้

ปลาน้ำจืดที่นิยมเลี้ยงกันมีอยู่หลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาดุก ปลาไน ปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลายี่สกเทศ ปลาสลิด ปลาจีน ปลา ปลาสวาย ปลาบึก ปลาบู่ ปลาแรด ปลาช่อน ปลาหมอ เป็นต้น

ปลาช่อน
ชนิดของปลาที่เลี้ยง แยกตามลักษณะของการกินอาหารของปลาได้ 4 ลักษณะใหญ่ๆ เนื่องจากปลาแต่ละชนิดชอบกินอาหารไม่เหมือนกัน ถ้าผู้เลี้ยงใช้อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ปลาก็จะไม่เจริญเติบโตทำให้การเลี้ยงปลาไม่ได้ผล ดังนั้นการที่จะเลือกเลี้ยงปลาอะไรดีนั้นต้องคำนึงถึงลักษณะของอาหารที่ปลาชอบกินด้วย
1.ปลากินพืช ได้แก่ ปลานิล ปลาไน ปลาตะเพียนขาว ปลาแรด ปลาหมอตาล ปลาจีน ปลาประเภทนี้ชอบกิน รำ ปลายข้าว แหนเป็ด เศษผัก หญ้า และเศษอาหารในครัวเรือน

2.ปลากินเนื้อ ได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาบู่ ปลาประเภทนี้ชอบกินเศษปลาบดคลุกผสมกับรำเป็นอาหาร

3.ปลากินได้ทั้งเนื้อและพืช ได้แก่ ปลาสวายและปลายี่สก

4.ปลากินตะไคร่น้ำ สาหร่ายหรือพืชสีเขียวเล็กๆ ในน้ำ ได้แก่ ปลายี่สกเทศ ปลาสลิด ปลาจีน เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มเลี้ยงปลาใหม่ๆ ซึ่งยังไม่มีความชำนาญในการเลี้ยงปลามาก่อน ควรที่จะทดลองเลี้ยงปลาประเภทกินพืช เช่น ปลานิล ปลาตะเพียนขาวเสียก่อน เพราะปลากินพืชเลี้ยงง่าย ดูแลง่าย และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องน้ำเสีย นอกจากนั้นยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารปลาได้อีกด้วย ต่อเมื่อมีความชำนาญในการเลี้ยงปลากินพืชแล้ว ต่อไปในอนาคตค่อยคิดที่จะเลือกเลี้ยงปลากินเนื้อหรือปลาชนิดอื่นๆตามแต่ความต้องการ

ทำเลที่ควรเลี้ยงปลา

ทำเลที่ควรเลี้ยงปลา
การเลือกทำเลหรือสถานที่เลี้ยงปลามีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง หากสถานที่นั้นเหมาะสมก็จะทำให้การเลี้ยงปลาประสบความสำเร็จได้มากและเป็นการประหยัดเงินทุน เมื่อจะขุดบ่อเลี้ยงปลาควรพิจารณาเลือกทำเลที่มีลักษณะดังนี้

1. ใกล้กับแม่น้ำลำคลอง คลองส่งน้ำที่่เป็นน้ำสะอาด มีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี และไม่อยู่ใกล้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการระบายน้ำเสียออกมา

2. ดินควรเป็นดินเหนียวหรือดินเหนียวปนทราย ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ดี ดินไม่เป็นกรดมากเกินไปควรอยู่ในระหว่าง pH 6-7

3. เป็นพื้นที่เรียบน้ำไม่ท่วม จนยากแก่การป้องกันปลาหลบหนีออกไปจากบ่อ

4. การคมนาคมสะดวก เพื่อการขนส่งปลาไปจำหน่ายยังตลาดได้สะดวกและรวดเร็วและควรอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน

บ่อเลี้ยงปลา
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ควรหาแหล่งที่ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย เนื่องจากปัญหาคนขโมยปลาที่เลี้ยงนั้น ทำให้บั่นทอนสุขภาพจิตและกำลังของผู้เลี้ยงได้เสมอ กรณีที่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคในครัวงเรือนเพียงแค่มีบ่อที่กักน้ำได้และมีน้ำก็สามารถเลี้ยงปลาไว้กินได้ตลอดทั้งปี

การเตรียมบ่อ
ถ้าเป็นบ่อเก่าต้องระบายน้ำเก่าออกให้หมดเสียก่อน ทำการลอกเอาดินที่เป็นโคลนทิ้งไป แล้วจึงใส่ปูนขาวลงไปในบ่ออัตรา 1 กิโลกรัม ต่อ 10 ตารางเมตร หรือ 160 กิโกรัม ต่อ 1 ไร่ โดยโรยให้ทั่วบ่อตากบ่อทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วจึงปล่อยน้ำลงไปในบ่อประมาณ 30 เซนติเมตร และเมื่อต้องการให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อได้รวดเร็ว ควรเติมปุ๋ยคอกลงในบ่ออัตราส่วน 400 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ ทิ้งไว้ 4-5 วัน น้ำจะกลายเป็นสีเขียวอ่อนๆ แสดงว่ามีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้นในบ่อแล้ว ต่อจากนั้นจึงเติมน้ำตามที่ต้องการแล้วจึงปล่อยปลาลงไป

ถ้าเป็นบ่อที่ขุดใหม่จะต้องมีการวัดความเป็รกรดของดิน แล้วจึงใส่ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดของดินเสียก่อน ซึ่งควรจะปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมง เมื่อใส่ปูนขาวจนน้ำไม่เป็นกรดแล้ว จึงเพิ่มน้ำลงในบ่อตามที่ต้องการแล้วจึงปล่อยปลาลงได้

ความสำคัญของปลา

ความสำคัญของปลา
ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในป่าหรืออยู่ในเขาลำเนาไพร ตามบ้านหรือในภัตตราคารดีๆ ทุกคนจะรู้จักและชอบบริโภคปลา ปลาเป็นอาหารที่สำคัญของคนไทยมาแต่ในโบราณแล้ว เป็นอาหารโปรตีนที่มีราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อื่นๆ

ความต้องการโปรตีนเพื่อการบริโภคอย่างถูกหลักโภชนาการของคนนั้นเป็นปัญหาที่นักโภชนาการต้องคิดกันอีกมาก เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอาหารจำพวกโปรตีน ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้บริโภคเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เจริญเติบโตสมบูรณ์นั้น ส่วนใหญ่มาจากเนื้อสัตว์ เช่น หมู วัว เป็ด ไก่ เป็นต้น แต่การผลิตเนื้อสัตว์พวกนี้มีราคาค่อนข้างสูง และมีปัญหาในการเลี้ยงดูมาก ต้องมีการลงทุนที่สูงมาก จึงไม่อาจทำให้เนื้อสัตว์พวกนี้มีบริโภคได้อย่างเพียงพอและมีราคาถูกพอที่จะให้คนที่มีฐานะยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศซื้อมาบริโภคได้ ทั้งนี้เพราะต้นทุนการเลี้ยงสัตว์พวกนี้ค่อนข้างสูงมาก

ปลา
ปลาเป็นสัตว์น้ำที่มีอยู่อย่างมากมาย สามารถเลี้ยงได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนสูง เนื้อปลามีราคาถูก คนทั่วไปสามารถซื้อหามาบริโภคได้ง่าย โปรตีนของเนื้อปลามีเท่ากับเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่มีคุณค่าทางอาหารและรสชาติที่คนทั่วไปยอมรับได้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำมาเป็นอาหารประเภทโปรตีนในสภาพความเป็นอยู่และฐานะของคนไทย ปลาเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์ได้ดี ไม่ต้องลงทุนสูง ใช้บริโภคได้ทุกฐานะ และสภาพทางภูมิประเทศของไทยเหมาะกับการเลี้ยงปลา เพราะมีแหล่งน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก มีทั้งแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำคลอง หนอง บึง และแหล่งน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เขื่อนและอ่างเก็บน้ำ