Sunday, 28 December 2008

ปลาช่อน

ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และทะเลสาบ มีชื่อสามัญ STRIPED ANAKE-HEAD FISH และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striatus ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดี ก้างน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงทำให้การบริโภคปลาช่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันปริมาณปลาช่อนที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตตลอดจนสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรมตื้นเขิน ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ทำให้ปริมาณปลาช่อนในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และความต้องการบริโภค การเลี้ยงปลาช่อนจึงเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนโดยนำลูกปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากการเพาะขยายพันธุ์มาเลี้ยงให้เป็นปลาโตขนาดตลาดต้องการต่อไป

ปลาช่อน
ลักษณะนิสัยของปลาช่อน
โดยธรรมชาติปลาช่อนเป็นปลาประเภทกินเนื้อ กินสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งปลาขนาดเล็กและแมลงในน้ำชนิดต่างๆ เป็นอาหารเมื่ออาหารขาดแคลน ปลาจะมีพฤติกรรมกินกันเองโดยปลาช่อนตัวใหญ่จะกินปลาตัวเล็ก

รูปร่างลักษณะ
ปลาช่อนเป็นปลาที่มีเกล็ด ลำตัวอ้วนกลม ยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่ ปากกว้างมาก มีฟันซี่เล็กๆ อยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางกลม ลำตัวส่วนหลังมีสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ปลาช่อนจึงสามารถเคลื่อนไหวไปบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนได้เป็นเวลานานๆ

การผสมพันธุ์วางไข่
ปลาช่อนสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดปี สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม – ตุลาคม ช่วงที่มีความพร้อมที่สุดคือเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม
ในฤดูวางไข่ จะสังเกตความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับเพศเมียอย่างเห็นได้ชัดคือ ปลาเพศเมีย ลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่ มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ ลำตัวมีสีเข้มใต้คางจะมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าปลาเพศเมีย

ตามธรรมชาติปลาช่อนจะสร้างรังวางไข่ในแหล่งน้ำนิ่งความลึกของน้ำประมาณ 30 –100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังด้วยการกัดหญ้าหรือพรรณไม้น้ำ และใช้หางโบกพัดตลอดเวลาเพื่อที่จะทำให้พื้นที่เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 –40 เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางของรัง ส่วนพื้นดินใต้น้ำ ปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ หลังจากที่ปลาช่อนได้ผสมพันธุ์วางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆ เพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากินจนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลลูกปลาวัยอ่อน เมื่อลูกปลามีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จึงแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งระยะนี้เรียกว่า ลูกครอก หรือลูกชักครอก ลูกปลาขนาดดังกล่าวน้ำหนักเฉลี่ย 0.5 กรัม ปลา 1 กิโลกรัมจะมีลูกครอก ประมาณ 2,000 ตัว ลูกครอกระยะนี้จะมีเกษตรกรผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอาชีพนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงปลาอีกต่อหนึ่งในราคากิโลกรัมละ 70 – 100 บาท ซึ่งรวบรวมได้มากในระหว่างเดือนมิถุนายน – ธันวาคม

Tuesday, 23 December 2008

การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาดุก

วิธีการเตรียมบ่อควรปฏิบัติดังนี้
1. บ่อใหม่ ปกติแล้วดินจะมีสภาพเป็นกรดอย่างอ่อน ๆ หรืออาจจะมีสภาพเป็นกรดสูง ขึ้นอยู่กับลักษณะท้องที่ ฉะนั้นควรใช้ปูนขาวประมาณ 1 กก. ต่อพื้นที่ 10-25 ตารางเมตร โดยสาดปูนขาวให้ทั่วบ่อแล้วตากบ่อไว้ประมาณ 7-10 วันก่อน จึงสูบน้ำเข้าบ่อตามระดับที่ต้องการ แต่ควรมีระดับน้ำลึกประมาณ 50 ซม. แล้วจึงปล่อยปลาลงเลี้ยง

2. บ่อเก่า เมื่อเลี้ยงปลาดุกผ่านไปรุ่นหนึ่งแล้ว ควรตากบ่อให้แห้งประมาณ 10-15 วัน พร้อมทั้งโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ในอัตราส่วนปูนขาว 1 กก. ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร เพื่อให้แสงแดดทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และเป็นการให้จุลินทรีย์เน่าสลายทำให้อินทรียสารที่ตกค้างอยู่ก้นบ่อหมดไปด้วย เมื่อเลี้ยงปลาดุกได้ประมาณ 3-4 รุ่น ควรลอกแลนและทำคันบ่อใหม่ เนื่องจากบ่ออาจตื้นเขินและขอบคันอาจเป็นรู เป็นโพรงมาก ทำให้บ่ออาจเก็บกักน้ำไม่อยู่และไม่สะดวกในการจับปลาอีกด้วย

บ่อเลี้ยงปลา
การใช้น้ำยาและสารปฏิชีวนะกำจัดโรค
น้ำยาและสารปฏิชีวนะที่นิยมใช้กำจัดโรคปลาดุกมีมากมายหลายชนิดขึ้นอยู่กับความต้องการและความเชื่อถือของผู้เลี้ยง แต่น้ำยาและสารปฏิชีวนะที่ใช้กำจัดโรคปลาดุกที่นับว่าได้ผลดี ได้แก่

1. ฟอร์มาลิน (Formalin) และดิพเทอร์เร็กซ์ (Dipterex) เมื่อปลาดุกเกิดโรคเนื่องจากตัวเบียน ควรใช้ฟอร์มาลิน 25 ซี.ซี. และดิพเทอร์เร็กซ์ 0.25 กรัม ผสมลงในน้ำ1 ลูกบาศก์เมตร ใส่ลงในบ่อทันทีหรืออาจใช้ฟอร์มาลิน 50 ซี.ซี. ต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร เพียงอย่างเดียวก็ได้ การใช้ฟอร์มาลินและดิพเทอร์เร็กซ์นั้น ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

- ใช้ฟอร์มาลินและดิพเทอร์เร็กซ์ในอัตราส่วนเดียวกันนั้นแช่ลูกปลาขนาดเล็ก เพื่อเป็นการกำจัดโรคพยาธิ พวกโปรโตชัว และหนอนพยาธิต่าง ๆ ที่ติดมากับตัวปลา โดยแช่ลูกปลาไว้ในน้ำยานี้ประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อ

- ใช้สวิงตาถี่ช้อนลูกปลาที่แช่น้ำยาแล้วเลี้ยงในบ่อ ส่วนน้ำยาที่ใช้แล้วไม่ควรเทลงไปในบ่อ

- หลังจากปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อประมาณ 3-5 วัน ควรใช้น้ำยาดังกล่าวผสมกับน้ำสะอาดสาดลงให้ทั่วบ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยการคำนวณปริมาณน้ำยาที่ใช้กับปริมาณน้ำในบ่อให้ได้อัตราส่วนเดียวกันกับอัตราส่วนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

- ควรใช้น้ำยาฯ ผสมกับน้ำสะอาดสาดให้ทั่วบ่ออีกทุก ๆ 15-18 วันแต่ก่อนใช้น้ำยาต้องให้ปลาอดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และควรใส่น้ำยาฯ ลงในบ่อเฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น ในกรณีที่เกรงว่าจะสิ้นเปลืองน้ำยาฯ มาก ควรลดน้ำในบ่อให้เหลือประมาณ 30-35 ซม. แล้วจึงคำนวณปริมาณการใช้น้ำยาฯ เมื่อใส่น้ำยาแล้วประมาณ 12 ชั่วโมง จึงสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับที่ต้องการและให้อาหารปลาต่อไป

2. เทอร์รามัยซิน (Terramycin) คลอโรมัยซีติน (Chloromycetin) เตตราชัยคลิน (Tetracyclin) ใช้กับปลาดุกที่เกิดโรค อันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากบัคเตรี ควรใช้สารปฏิชีวนะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้กล่าวแล้ว ในอัตรา 1.8-2 กรัม ผสมกับอาหาร 1 กิโลกรัม ให้ปลากินติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน

3. พยาธิที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร ควรใช้ยา ได-เอ็นบิวทีลทินออกไซด์ (di-N-butyl tinoxide) 1 เปอร์เซ็นต์ (ยา 1 ส่วน ต่ออาหารปลา 99 ส่วน ) ผสมกับอาหารให้ปลากินติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน

4. ในกรณีที่ปลาเป็นโรคตัวแข็งและกะโหลกร้าว ควรใช้อาหารธาตุพวกแคลเซียม ผสมลงในอาหารปลาที่เคยให้ตามปกติ ในอัตราส่วนแคลเซียมหนัก 20-22 กรัม ต่ออาหารปลา 100 กิโลกรัม และควรให้ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน

Wednesday, 10 December 2008

โรคของปลาดุกและการักษา

ปลาดุกที่นิยมซื้อขายกันในท้องตลาดนั้นเป็นปลาขนาดพองามประมาณ 3-5 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม ปลาดุกขนาดดังกล่าวนี้ มีอายุประมาณ 6 เดือน ถึง 8 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของพันธุ์ปลาดุกที่ผู้เลี้ยงเริ่ปล่อยรวมทั้งปริมาณและประเภทของอาหารที่ให้ด้วย ฤดูและระยะเวลาที่ควรจับปลาดุกส่งจำหน่ายยังตลาดนั้น ควรจะพิจารณาจับจำหน่ายในฤดูที่ปลาขาดแคลนซึ่งจะทำให้ขายปลาได้ราคาดี

โรคของปลาดุกและการระวังรักษา
โรคของปลาดุกที่ผู้เพาะเลี้ยงประสบปัญหา ซึ่งเป็นเหตุให้ขาดทุนและต้องล้มเลิกกิจการไปมากรายแล้ว ได้แก่

ปลาดุก
1. โรคโคนครีบหูบวม หรือผู้เลี้ยงเรียกกันติดปากว่า "โรคกกหูบวม" มักจะพบในลูกปลาที่เลี้ยงได้ 2-3 วันแรก และอาจเกิดขึ้นกับปลาดุกระยะหนึ่งระยะใดก็ได้

2. โรคท้องบวม แผลพุพองข้างตัว เนื้องอก ทั้งนี้เนื่องจากพิษบัคเตรี เมื่อบัคเตรีเข้าสู่ตัวปลาแล้ว จะไปทำลายระบบขับถ่ายทำให้ปลาไม่สามารถระบายน้ำออกจากร่างกายได้ตามธรรมชาติ ดังนั้น เวลากล้ามเนื้อปลามีน้ำมากจนเกินขนาด น้ำจะดันออกทางผิวหนัง ทำให้เกิดท้องบวมเนื้อหนังแตกเป็นแผลตามตัวปลา

3. โรคครีบและหางเปื่อย-ฉีกขาด ปากเปื่อยและหนวดกุด เนื่องมาจากพวกตัวเบียน ซึ่งได้แก่ เห็บระฆัง (Trichodina) และปลิงใส (Gyrodactyrus) ตัวเบียนดังกล่าว จะเกาะดูดเลือดปลาตรงบริเวณเหงือก หนวด ครีบและหาง ซึ่งทำให้เส้นโลหิตฝอยตามอวัยวะต่าง ๆ แตกได้

4. โรคตัวแข็งหรือช็อก มักเกิดกับปลาดุกทุกวัย แต่จะพบมากในปลาดุกขนาดใหญ่ โรคนี้อาจเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากพยาธิตัวกลมในลำไส้ และการขาดอาหารประเภทวิตามินบี และธาตุแคลเซียม

5. โรคหัวกะโหลกร้าว ทำให้เนื้อแตกบริเวณใกล้ ๆ ข้อต่อหรือรอยแยกบนหัวปลาดุก เนื่องมาจากผู้เลี้ยงเร่งอาหารประเภทโปรตีนมากเกินไป ปลาจึงอ้วนมีเนื้อและไขมันมากผิดปกติ ทำให้ขาดความสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตของเนื้อและกระดูก ซึ่งนับได้ว่าอาการเช่นนี้เกิดจากปลาดุกขาดอาหารธาตุประเภแคลเซียม



สาเหตุที่ทำให้ปลาดุกเป็นโรคเนื่องมาจากปลาอ่อนแอทำให้เชื้อบัคเตรีเข้าสู่ตัวปลาแสดงพิษออกมาได้ง่ายขึ้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวนั้นมักเกิดขึ้นเพราะ
1. น้ำเสีย หรือก้นบ่อมีเศษอาหารเน่าเสียหมักหมมอยู่มาก
2. การปล่อยปลามีจำนวนมากเกินไปในบ่อเดียวกัน
3. ตัวเบียน เช่น พวกสัตว์เซลล์เดียวและหนอนตัวกลม
4. ปลาขาดอาหารธาตุ และมีอาหารไม่เพียงพอในการเลี้ยง
5. น้ำเป็นกรด

Monday, 8 December 2008

การเลี้ยงปลาดุก

แหล่งที่จะรวบรวมลูกปลาดุก มักจะเป็นบริเวณคูหรือคลองที่มีกระแสน้ำเล็กน้อย หรือในน้ำนิ่งตามท้องทุ่ง และในแหล่งน้ำจืดซึ่งมีระดับน้ำตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไป ลักษณะของแหล่งที่ปลาดุกจะวางไข่ตามธรรมชาติ มักจะเป็นบริเวณท้องทุ่งที่มีหญ้าปกคลุมเล็กน้อย หรือที่บริเวณชายน้ำ ริมคู คลอง ปลาดุกจะทำหลุมหรือโพรง ปากโพรงจะอยู่ต่ำกว่าระดับผิวน้ำ 20-25 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-30 เซนติเมตร

วิธีรวบรวมลูกปลาดุกสามารถกระทำได้ง่าย ปกติแล้วผู้รวบรวมลูกปลามักลงไปในน้ำ ใช้มือคลำตามชายน้ำตามทำเลที่เหมาะสมครั้งแรกเมื่อพบหลุมหรือโพรง ควรใช้มือค่อย ๆ คลำลงไปที่ก้นหลุมหรือโพรงนั้น ถ้าลักษณะก้นหลุมหรือโพรงลื่นเป็นมัน แสดงว่าปลาดุกกำลังกัดแอ่งเพื่อที่จะวางไข่ สังเกตให้ดีจะเห็นพ่อแม่ปลาดุกว่ายเข้าออกอยู่ในบริเวณนั้น ปลาดุกเมื่อวางไข่แล้ว ไข่จะติดอยู่ที่ผิวดิน หรือติดกับรากหญ้าที่บริเวณก้นหลุม ปลาดุกวางไข่ใหม่ ๆ เมื่อเอามือคลำจะรู้สึกว่ามีเม็ดเล็ก ๆ ติดอยู่ที่ก้นหลุมหากหยิบขึ้นมาพร้อมกับดินในบริเวณนั้น จะเห็นเม็ดสีเหลืองอ่อนขนาดประมาณเม็ดสาคูเล็ก ๆ ปนอยู่ แต่ถ้าไข่ฟักออกเป็นตัวแล้ว เมื่อเอามือคลำลงไปจะรู้สึกว่ามีสิ่งที่เคลื่อนไหวมากระทบมือ แสดงว่ามีลูกปลาดุกอยู่ในที่นั้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกปลาที่มีอยู่ในหลุมโพรงนั้นแข็งแรงพอที่จะตักออกไปเลี้ยงในบ่อได้หรือไม่ ผู้รวบรวมลูกปลามักจะใช้กระชอนช้อนลูกปลาขึ้นมาดู ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกปลายังมีถุงไข่แดงติดอยู่ที่ส่วนท้อง ก็ควรทิ้งไว้ในหลุมหรือโพรงนั้นอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้วจึงค่อยกลับมาช้อนเอาลูกปลาไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลภายหลัง

การเลี้ยงปลาดุก
การอนุบาลลูกปลาดุก
การอนุบาลลูกปลา ทำได้หลายวิธีตามความจำเป็นของผู้เลี้ยงแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
ก. การอนุบาลในบ่อดิน ลูกปลาดุกจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการอนุบาลลูกปลาในบ่อชนิดอื่น ทั้งนี้เนื่องจากในบ่อดินมีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์ ช่วยให้ลูกปลาเจริญเติบโตได้เร็ว บ่อดินที่ใช้อนุบาลลูกปลาแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. บ่อดินขนาดเล็ก เหมาะสำหรับผู้ประสงค์จะเลี้ยงลูกปลาไว้ชั่วระยะหนึ่งเพื่อจำหน่าย บ่อขนาดนี้นอกจากจะเป็นบ่อพักลูกปลาแล้วยังสะดวกในการคัดขนาดและดูแลรักษา การคัดขนาดมีความจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลาดุกเป็นอย่างมาก เพราะปลาดุกเป็นปลากินกันเอง ปลาที่มีขนาดโตกว่าจะกินปลาที่มีขนาดเล็กกว่า บ่อดินขนาดเล็กที่ใช้อนุบาลลูกปลาดุกทั่วไป ควรมีขนาด 2-3 ตารางเมตร น้ำลึกประมาณ 60 ซม. และควรปล่อยลูกปลาขนาดเล็กลงเลี้ยงประมาณ 10,000-30,000 ตัว

2. บ่อดินขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับผู้ที่จะเลี้ยงลูกปลาดุกให้เติบโตเป็นขนาด 3-5 ซม. เพื่อไว้จำหน่าย บ่อดังกล่าวนี้เมื่อปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้วไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่กับลูกปลานัก เพราะการปล่อยลูกปลาลงในบ่อขนาดใหญ่ดังกล่าว อัตราส่วนที่ปล่อยจะต้องมีปริมาณน้อยกว่าลูกปลาที่ปล่อยเลี้ยงในบ่อขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงโดยเฉลี่ยประมาณตารางเมตรละ 1,000 ตัว ลูกปลาดุกที่อนุบาลในบ่อขนาดใหญ่นี้จะมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว เพราะในบ่อมีอาหารธรรมชาติเพียงพอข้อเสียสำหรับการอนุบาลลูกปลาในบ่อขนาดใหญ่นี้คือ ถ้าเลี้ยงลูกปลาซึ่งมีขนาด 3-5 ซม. อาจมีอัตราการตายได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น การคัดขนาดของลูกปลาโดยใช้ปลาขนาดเดียวกันเลี้ยงรวมกัน จะได้ผลดีกว่าการเลี้ยงปลาคละขนาดรวมกันไป บ่อดินขนาดใหญ่ที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุก ควรมีขนาด 100-200 ตารางเมตร

Wednesday, 3 December 2008

ปลาดุก

ปลาดุก
นับตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ปลาน้ำจืดที่ชาวไทยยกย่องกันว่าเนื้อมีรสชาติอร่อยนุ่มหวาน สามารถนำมาปรุงแต่งเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ได้มากรสคือ "ปลาดุก" ปัจจุบันนี้ แม้จะพบว่าปลาดุกมีขายอยู่ตามตลาดทั่วไปก็ตาม แต่ก็ซื้อขายกันในราคาสูง เนื่องจากความนิยมของประชาชน นับวันก็ยิ่งทวีความต้องการมากขึ้น ฉะนั้นแม้ปลาชนิดนี้จะมีผู้นิยมเลี้ยงกันมาเป็นเวลานาน แต่ค่านิยมก็มิได้ลดน้อยลงแม้แต่น้อย ปลาดุกชนิดที่ประชาชนนิยมบริโภค คือ "ปลาดุกด้าน" ที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะปลาดุกเลี้ยงง่าย โตเร็ว อดทนต่อสิ่งแวดล้อม สามารถทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ๆ จึงมีผู้สนใจเลี้ยงปลาดุกมากขึ้นตามลำดับกรมประมง จึงได้ทดลองและค้นคว้าหาวิธีเพิ่มปริมาณ ด้วยวิธีการเพาะพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ และวิธีการผสมเทียม ตลอดจนวิธีเลี้ยง เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาโดยตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยจะพึงได้รับ ไม่ว่าจะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร หรือเพื่อการจำหน่ายให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องร่วมชาติได้มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข อยู่ดีกินดีในที่สุด

ปลาดุก
แหล่งกำเนิดและลักษณะทั่วไป
ในประเทศไทยมีพันธุ์ปลาจำพวกปลาดุกอยู่ 5 ชนิด แต่ที่รู้จักกันแพร่หลายมีอยู่ 2 ชนิด คือ "ปลาดุกด้าน" (Clarias batrachus) และ (Clarias macrocephalus) จากผลของการทดลอง พบว่า ปลาดุกด้านมีความเหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงมากกว่าปลาดุกอุย แหล่งกำเนิดของปลาชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปในน่านน้ำจืด ในเขตร้อนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยนั้น จะพบว่ามีอยู่ทั่วไปตามลำคลอง หนองบึง ทั่วทุกภาค โดยธรรมชาติปลาดุกจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำซึ่งมีพื้นดินเป็นโคลนตมที่มีน้ำจืดสนิท และแม้แต่ในแหล่งที่มีน้ำแต่เพียงเล็กน้อย หรือในน้ำที่ค่อนข้างกร่อย ปลาดุกก็สามารถอาศัยอยู่ได้

ปลาดุกเป็นปลาที่อยู่ในครอบครัว Clariidae ลักษณะโดยทั่วไปเป็นปลาไม่มีเกล็ด ตัวยาวเรียว ครีบหลังยาวไม่มีกระโดง ครีบท้องยาวเกือบถึงโคนหาง มีอวัยวะช่วยในการหายใจ ซึ่งช่วยให้ปลาดุกมีความอดทนสามารถอยู่พ้นน้ำได้นาน ขนาดนัยน์ตาของปลาดุกจะดูเล็กผิดส่วนถ้าเทียบกับขนาดของลำตัว มีหนวด 4 คู่ซึ่งสามารถรับความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดี ฉะนั้นปลาดุกจึงใช้หนวดมากกว่าใช้ตาเพื่อหาอาหารตามพื้นหน้าดินโดยปกติแล้วปลาดุกมีนิสัยว่องไว ชอบกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แต่ถ้านำมาเลี้ยงในบ่ออาจให้อาหารจำพวกพืช และสามารถฝึกนิสัยให้ปลาดุกขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำได้