1. บ่อใหม่ ปกติแล้วดินจะมีสภาพเป็นกรดอย่างอ่อน ๆ หรืออาจจะมีสภาพเป็นกรดสูง ขึ้นอยู่กับลักษณะท้องที่ ฉะนั้นควรใช้ปูนขาวประมาณ 1 กก. ต่อพื้นที่ 10-25 ตารางเมตร โดยสาดปูนขาวให้ทั่วบ่อแล้วตากบ่อไว้ประมาณ 7-10 วันก่อน จึงสูบน้ำเข้าบ่อตามระดับที่ต้องการ แต่ควรมีระดับน้ำลึกประมาณ 50 ซม. แล้วจึงปล่อยปลาลงเลี้ยง
2. บ่อเก่า เมื่อเลี้ยงปลาดุกผ่านไปรุ่นหนึ่งแล้ว ควรตากบ่อให้แห้งประมาณ 10-15 วัน พร้อมทั้งโรยปูนขาวให้ทั่วบ่อ ในอัตราส่วนปูนขาว 1 กก. ต่อพื้นที่ 10 ตารางเมตร เพื่อให้แสงแดดทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม และเป็นการให้จุลินทรีย์เน่าสลายทำให้อินทรียสารที่ตกค้างอยู่ก้นบ่อหมดไปด้วย เมื่อเลี้ยงปลาดุกได้ประมาณ 3-4 รุ่น ควรลอกแลนและทำคันบ่อใหม่ เนื่องจากบ่ออาจตื้นเขินและขอบคันอาจเป็นรู เป็นโพรงมาก ทำให้บ่ออาจเก็บกักน้ำไม่อยู่และไม่สะดวกในการจับปลาอีกด้วย
บ่อเลี้ยงปลา |
น้ำยาและสารปฏิชีวนะที่นิยมใช้กำจัดโรคปลาดุกมีมากมายหลายชนิดขึ้นอยู่กับความต้องการและความเชื่อถือของผู้เลี้ยง แต่น้ำยาและสารปฏิชีวนะที่ใช้กำจัดโรคปลาดุกที่นับว่าได้ผลดี ได้แก่
1. ฟอร์มาลิน (Formalin) และดิพเทอร์เร็กซ์ (Dipterex) เมื่อปลาดุกเกิดโรคเนื่องจากตัวเบียน ควรใช้ฟอร์มาลิน 25 ซี.ซี. และดิพเทอร์เร็กซ์ 0.25 กรัม ผสมลงในน้ำ1 ลูกบาศก์เมตร ใส่ลงในบ่อทันทีหรืออาจใช้ฟอร์มาลิน 50 ซี.ซี. ต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร เพียงอย่างเดียวก็ได้ การใช้ฟอร์มาลินและดิพเทอร์เร็กซ์นั้น ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ใช้ฟอร์มาลินและดิพเทอร์เร็กซ์ในอัตราส่วนเดียวกันนั้นแช่ลูกปลาขนาดเล็ก เพื่อเป็นการกำจัดโรคพยาธิ พวกโปรโตชัว และหนอนพยาธิต่าง ๆ ที่ติดมากับตัวปลา โดยแช่ลูกปลาไว้ในน้ำยานี้ประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อ
- ใช้สวิงตาถี่ช้อนลูกปลาที่แช่น้ำยาแล้วเลี้ยงในบ่อ ส่วนน้ำยาที่ใช้แล้วไม่ควรเทลงไปในบ่อ
- หลังจากปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงในบ่อประมาณ 3-5 วัน ควรใช้น้ำยาดังกล่าวผสมกับน้ำสะอาดสาดลงให้ทั่วบ่ออีกครั้งหนึ่ง โดยการคำนวณปริมาณน้ำยาที่ใช้กับปริมาณน้ำในบ่อให้ได้อัตราส่วนเดียวกันกับอัตราส่วนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
- ควรใช้น้ำยาฯ ผสมกับน้ำสะอาดสาดให้ทั่วบ่ออีกทุก ๆ 15-18 วันแต่ก่อนใช้น้ำยาต้องให้ปลาอดอาหารอย่างน้อย 12 ชั่วโมง และควรใส่น้ำยาฯ ลงในบ่อเฉพาะในเวลากลางวันเท่านั้น ในกรณีที่เกรงว่าจะสิ้นเปลืองน้ำยาฯ มาก ควรลดน้ำในบ่อให้เหลือประมาณ 30-35 ซม. แล้วจึงคำนวณปริมาณการใช้น้ำยาฯ เมื่อใส่น้ำยาแล้วประมาณ 12 ชั่วโมง จึงสูบน้ำเข้าบ่อให้ได้ระดับที่ต้องการและให้อาหารปลาต่อไป
2. เทอร์รามัยซิน (Terramycin) คลอโรมัยซีติน (Chloromycetin) เตตราชัยคลิน (Tetracyclin) ใช้กับปลาดุกที่เกิดโรค อันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากบัคเตรี ควรใช้สารปฏิชีวนะอย่างหนึ่งอย่างใดที่ได้กล่าวแล้ว ในอัตรา 1.8-2 กรัม ผสมกับอาหาร 1 กิโลกรัม ให้ปลากินติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน
3. พยาธิที่เกิดในระบบทางเดินอาหาร ควรใช้ยา ได-เอ็นบิวทีลทินออกไซด์ (di-N-butyl tinoxide) 1 เปอร์เซ็นต์ (ยา 1 ส่วน ต่ออาหารปลา 99 ส่วน ) ผสมกับอาหารให้ปลากินติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน
4. ในกรณีที่ปลาเป็นโรคตัวแข็งและกะโหลกร้าว ควรใช้อาหารธาตุพวกแคลเซียม ผสมลงในอาหารปลาที่เคยให้ตามปกติ ในอัตราส่วนแคลเซียมหนัก 20-22 กรัม ต่ออาหารปลา 100 กิโลกรัม และควรให้ติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน
No comments:
Post a Comment