วิธีรวบรวมลูกปลาดุกสามารถกระทำได้ง่าย ปกติแล้วผู้รวบรวมลูกปลามักลงไปในน้ำ ใช้มือคลำตามชายน้ำตามทำเลที่เหมาะสมครั้งแรกเมื่อพบหลุมหรือโพรง ควรใช้มือค่อย ๆ คลำลงไปที่ก้นหลุมหรือโพรงนั้น ถ้าลักษณะก้นหลุมหรือโพรงลื่นเป็นมัน แสดงว่าปลาดุกกำลังกัดแอ่งเพื่อที่จะวางไข่ สังเกตให้ดีจะเห็นพ่อแม่ปลาดุกว่ายเข้าออกอยู่ในบริเวณนั้น ปลาดุกเมื่อวางไข่แล้ว ไข่จะติดอยู่ที่ผิวดิน หรือติดกับรากหญ้าที่บริเวณก้นหลุม ปลาดุกวางไข่ใหม่ ๆ เมื่อเอามือคลำจะรู้สึกว่ามีเม็ดเล็ก ๆ ติดอยู่ที่ก้นหลุมหากหยิบขึ้นมาพร้อมกับดินในบริเวณนั้น จะเห็นเม็ดสีเหลืองอ่อนขนาดประมาณเม็ดสาคูเล็ก ๆ ปนอยู่ แต่ถ้าไข่ฟักออกเป็นตัวแล้ว เมื่อเอามือคลำลงไปจะรู้สึกว่ามีสิ่งที่เคลื่อนไหวมากระทบมือ แสดงว่ามีลูกปลาดุกอยู่ในที่นั้น เพื่อให้แน่ใจว่าลูกปลาที่มีอยู่ในหลุมโพรงนั้นแข็งแรงพอที่จะตักออกไปเลี้ยงในบ่อได้หรือไม่ ผู้รวบรวมลูกปลามักจะใช้กระชอนช้อนลูกปลาขึ้นมาดู ถ้าสังเกตเห็นว่าลูกปลายังมีถุงไข่แดงติดอยู่ที่ส่วนท้อง ก็ควรทิ้งไว้ในหลุมหรือโพรงนั้นอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้วจึงค่อยกลับมาช้อนเอาลูกปลาไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลภายหลัง
การเลี้ยงปลาดุก |
การอนุบาลลูกปลา ทำได้หลายวิธีตามความจำเป็นของผู้เลี้ยงแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
ก. การอนุบาลในบ่อดิน ลูกปลาดุกจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการอนุบาลลูกปลาในบ่อชนิดอื่น ทั้งนี้เนื่องจากในบ่อดินมีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์ ช่วยให้ลูกปลาเจริญเติบโตได้เร็ว บ่อดินที่ใช้อนุบาลลูกปลาแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. บ่อดินขนาดเล็ก เหมาะสำหรับผู้ประสงค์จะเลี้ยงลูกปลาไว้ชั่วระยะหนึ่งเพื่อจำหน่าย บ่อขนาดนี้นอกจากจะเป็นบ่อพักลูกปลาแล้วยังสะดวกในการคัดขนาดและดูแลรักษา การคัดขนาดมีความจำเป็นสำหรับการเลี้ยงปลาดุกเป็นอย่างมาก เพราะปลาดุกเป็นปลากินกันเอง ปลาที่มีขนาดโตกว่าจะกินปลาที่มีขนาดเล็กกว่า บ่อดินขนาดเล็กที่ใช้อนุบาลลูกปลาดุกทั่วไป ควรมีขนาด 2-3 ตารางเมตร น้ำลึกประมาณ 60 ซม. และควรปล่อยลูกปลาขนาดเล็กลงเลี้ยงประมาณ 10,000-30,000 ตัว
2. บ่อดินขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับผู้ที่จะเลี้ยงลูกปลาดุกให้เติบโตเป็นขนาด 3-5 ซม. เพื่อไว้จำหน่าย บ่อดังกล่าวนี้เมื่อปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้วไม่จำเป็นต้องเอาใจใส่กับลูกปลานัก เพราะการปล่อยลูกปลาลงในบ่อขนาดใหญ่ดังกล่าว อัตราส่วนที่ปล่อยจะต้องมีปริมาณน้อยกว่าลูกปลาที่ปล่อยเลี้ยงในบ่อขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงโดยเฉลี่ยประมาณตารางเมตรละ 1,000 ตัว ลูกปลาดุกที่อนุบาลในบ่อขนาดใหญ่นี้จะมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว เพราะในบ่อมีอาหารธรรมชาติเพียงพอข้อเสียสำหรับการอนุบาลลูกปลาในบ่อขนาดใหญ่นี้คือ ถ้าเลี้ยงลูกปลาซึ่งมีขนาด 3-5 ซม. อาจมีอัตราการตายได้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น การคัดขนาดของลูกปลาโดยใช้ปลาขนาดเดียวกันเลี้ยงรวมกัน จะได้ผลดีกว่าการเลี้ยงปลาคละขนาดรวมกันไป บ่อดินขนาดใหญ่ที่ใช้เลี้ยงลูกปลาดุก ควรมีขนาด 100-200 ตารางเมตร
ข. การอนุบาลในบ่อหรือถังซีเมนต์ วิธีนี้สะดวกในการถ่ายเปลี่ยนน้ำ ตลอดจนการดูแลรักษาและการคัดขนาดปลาที่โตออกแต่ในบ่อหรือถังซีเมนต์นี้ไม่มีอาหารธรรมชาติเพียงพอ จึงทำให้ลูกปลาเติบโตช้ากว่าที่ควร นอกจากนั้นข้อเสียอีกอย่างหนึ่ง คือ อาจทำให้เกิดโรคได้ง่าย บ่อหรือถังซีเมนต์ที่นิยมใช้มีขนาดประมาณ 1 ตารางเมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร
ค. การอนุบาลด้วยกระชัง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ใกล้กับคูคลองหรือแหล่งน้ำ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะใช้แหล่งน้ำดังกล่าวเป็นที่ลอยกระชัง ส่วนดีของการอนุบาลลูกปลาด้วยวิธีนี้คือ น้ำถ่ายเทได้ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังสะดวกต่อการคัดลูกปลาที่ต่างขนาดออก กระชังที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไปทำด้วยตะแกรงลวดอะลูมิเนียม ขนาดตาเล็กเท่าช่องตาของมุ้งลวด มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 1.5 เมตร ลึก 90 เซนติเมตร กระชังขนาดนี้ใช้อนุบาลลูกปลาได้ประมาณ 20,000 ตัว เหมาะสำหรับอนุบาลลูกปลาดุกไว้เพียงชั่วคราว
การเลี้ยงปลาดุกขนาดใหญ่
ก. การเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงปลาดุกนั้น ควรจะได้พิจารณาเป็นพิเศษ แตกต่างกว่าการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาชนิดอื่น ทั้งนี้เนื่องจากปลาดุกมีนิสัยชอบหนีออกจากบ่อเลี้ยง โดยเฉพาะขณะที่ฝนตกน้ำไหลลงไปในบ่อ ปลาจะว่ายทวนน้ำออกไป ฉะนั้นการเตรียมบ่อ ควรจะได้หาทางป้องกันไว้ด้วย โดยทั่ว ๆ ไป ผู้เลี้ยงปลาดุกมักนิยมล้อมขอบบ่อด้วยรั้วไม้รวกหรือเฝือก ซึ่งมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตรหรืออาจใช้ต้นหมากทาบขนานกับขอบบ่อโดยรอบ สำหรับผู้ที่มีบ่ออยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น คลอง คู ควรพิจารณากรุภายในบ่อด้วยไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเจาะชอนหนีไปได้
ข. อัตราการปล่อยปลาลงเลี้ยง ในเนื้อที่ 1 ตารางเมตร ควรปล่อยปลาที่มีขนาดยาว 5-7 เซนติเมตร ประมาณ 60 ตัว ถ้าปลามีขนาดเล็กกว่านี้ควรปล่อยประมาณตารางเมตรละ 70 ตัว สำหรับบ่อที่มีการถ่ายเทน้ำได้สะดวก จะเพิ่มจำนวนปลาให้มากกว่านี้เล็กน้อยก็ได้ แต่ไม่ควรปล่อยให้มากเกินไปจนแน่น จะทำให้ปลาเติบโตช้า และทำอันตรายกันเอง
อาหารและการให้อาหาร
ก. อาหารลูกปลา ลูกปลาซึ่งมีถุงไข่แดงยุบหมดแล้ว ควรจะให้อาหารจำพวกไรน้ำต่อไปประมาณ 5-7 วัน ในเวลาเช้าและเย็น ต่อจากนั้นก็ให้อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ได้แก่
1. อาหารจำพวกแมลง เช่น ปลวก ลูกน้ำ ไรน้ำ ฯลฯ
2. เนื้อสัตว์ เช่น เศษเนื้อวัว ควาย ปลา ไส้เป็ด ไส้ไก่ เลือด และเครื่องใน ฯลฯ
3. เนื้อกุ้ง หอย และปูต่าง ๆ
4. เนื้อสัตว์จำพวกกบ เขียด และอื่น ๆ
อาหารจำพวกเนื้อสัตว์เหล่านี้จะต้องนำมาสับจนละเอียด แต่สำหรับเนื้อปลานั้น ควรใช้ต้มทั้งตัวให้สุกเสียก่อน แล้วจึงให้ลูกปลากินระวังอย่าให้อาหารมากจนเกินขนาดจะทำให้ปลาตายได้ เนื่องจากอาหารย่อยไม่ทัน ทั้งอาหารที่เหลือก็จะทำให้น้ำเสียได้ง่าย นอกจากอาหารจำพวกเนื้อแล้ว อาหารจำพวกพืช เช่น กากถั่ว รำต้ม กากมัน ก็นิยมให้เป็นอาหารสมทบ
การให้อาหารลูกปลา ควรให้วันละประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักรวมของปลาที่เลี้ยงทั้งหมด แต่ควรสังเกตดูว่าอาหารที่ให้จะเหลือมากน้อยเพียงใด ถ้าเหลือมากควรลดปริมาณอาหารลงบ้าง การให้อาหารแต่ละครั้ง ควรให้ในปริมาณที่ปลาจะกินได้หมดในช่วงเวลาที่ไม่มากนัก
ข. อาหารปลาใหญ่ ปลาดุกเป็นปลาที่กินอาหารได้ทั้งเนื้อและผักซึ่งพอจะแบ่งได้เป็นพวกดังนี้
1. อาหารจำพวกเนื้อ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามแต่จะหาได้ หรือเครื่องใน เช่น เครื่องในของโคและสุกร ตลอดจนเลือดสัตว์และพวกแมลง เช่น ปลวก หนอน ตัวไหม และไส้เดือน ฯลฯ
2. อาหารจำพวกพืชผัก ได้แก่ รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว กากมัน แป้ง ข้าวโพด แป้งมัน และผักต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มอาหารหรืออาจจะให้มูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลหมู มูลแพะ ฯลฯ โดยจัดตั้งคอกเลี้ยงสัตว์นั้น ๆ ให้อยู่ใกล้กับบ่อปลา มูลสัตว์เหล่านี้จะเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ปลาดุกได้เป็นอย่างดีโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ปลาดุก ชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากกว่าอาหารประเภทพืชและประเภทแป้ง แต่การให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียว จะทำให้ปลาเจริญเติบโตไม่ได้สัดส่วน เช่น อาจทำให้ตัวอ้วนสั้น มีไขมันมากเกินไป ดังนั้นเพื่อจะให้ปลาเจริญเติบโตได้สัดส่วนและมีน้ำหนักดี ควรจะให้อาหารประเภทเนื้อในอัตรา 30-50 เปอร์เซ็นต์ของอาหารประเภทพืช และแป้ง
บริเวณที่ให้อาหารในแต่ละครั้งควรจะมีมากกว่า 1 แห่งและควรให้เป็นเวลา เพื่อฝึกให้ปลารู้เวลาและกินอาหารได้ทั่วถึงกัน ไม่เป็นการแออัด และแย่งอาหารทำร้ายกันเอง ปริมาณของอาหาร ควรให้ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักของปลาทั้งหมดที่ปล่อยเลี้ยงในบ่อ
No comments:
Post a Comment