Wednesday 3 December 2008

ปลาดุก

ปลาดุก
นับตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ปลาน้ำจืดที่ชาวไทยยกย่องกันว่าเนื้อมีรสชาติอร่อยนุ่มหวาน สามารถนำมาปรุงแต่งเป็นอาหารชนิดต่าง ๆ ได้มากรสคือ "ปลาดุก" ปัจจุบันนี้ แม้จะพบว่าปลาดุกมีขายอยู่ตามตลาดทั่วไปก็ตาม แต่ก็ซื้อขายกันในราคาสูง เนื่องจากความนิยมของประชาชน นับวันก็ยิ่งทวีความต้องการมากขึ้น ฉะนั้นแม้ปลาชนิดนี้จะมีผู้นิยมเลี้ยงกันมาเป็นเวลานาน แต่ค่านิยมก็มิได้ลดน้อยลงแม้แต่น้อย ปลาดุกชนิดที่ประชาชนนิยมบริโภค คือ "ปลาดุกด้าน" ที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะปลาดุกเลี้ยงง่าย โตเร็ว อดทนต่อสิ่งแวดล้อม สามารถทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ๆ จึงมีผู้สนใจเลี้ยงปลาดุกมากขึ้นตามลำดับกรมประมง จึงได้ทดลองและค้นคว้าหาวิธีเพิ่มปริมาณ ด้วยวิธีการเพาะพันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาติ และวิธีการผสมเทียม ตลอดจนวิธีเลี้ยง เพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาโดยตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนคนไทยจะพึงได้รับ ไม่ว่าจะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร หรือเพื่อการจำหน่ายให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องร่วมชาติได้มีชีวิตอยู่อย่างสมบูรณ์พูนสุข อยู่ดีกินดีในที่สุด

ปลาดุก
แหล่งกำเนิดและลักษณะทั่วไป
ในประเทศไทยมีพันธุ์ปลาจำพวกปลาดุกอยู่ 5 ชนิด แต่ที่รู้จักกันแพร่หลายมีอยู่ 2 ชนิด คือ "ปลาดุกด้าน" (Clarias batrachus) และ (Clarias macrocephalus) จากผลของการทดลอง พบว่า ปลาดุกด้านมีความเหมาะสมที่จะนำมาเลี้ยงมากกว่าปลาดุกอุย แหล่งกำเนิดของปลาชนิดนี้มีอยู่ทั่วไปในน่านน้ำจืด ในเขตร้อนแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และหมู่เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทยนั้น จะพบว่ามีอยู่ทั่วไปตามลำคลอง หนองบึง ทั่วทุกภาค โดยธรรมชาติปลาดุกจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำซึ่งมีพื้นดินเป็นโคลนตมที่มีน้ำจืดสนิท และแม้แต่ในแหล่งที่มีน้ำแต่เพียงเล็กน้อย หรือในน้ำที่ค่อนข้างกร่อย ปลาดุกก็สามารถอาศัยอยู่ได้

ปลาดุกเป็นปลาที่อยู่ในครอบครัว Clariidae ลักษณะโดยทั่วไปเป็นปลาไม่มีเกล็ด ตัวยาวเรียว ครีบหลังยาวไม่มีกระโดง ครีบท้องยาวเกือบถึงโคนหาง มีอวัยวะช่วยในการหายใจ ซึ่งช่วยให้ปลาดุกมีความอดทนสามารถอยู่พ้นน้ำได้นาน ขนาดนัยน์ตาของปลาดุกจะดูเล็กผิดส่วนถ้าเทียบกับขนาดของลำตัว มีหนวด 4 คู่ซึ่งสามารถรับความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดี ฉะนั้นปลาดุกจึงใช้หนวดมากกว่าใช้ตาเพื่อหาอาหารตามพื้นหน้าดินโดยปกติแล้วปลาดุกมีนิสัยว่องไว ชอบกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แต่ถ้านำมาเลี้ยงในบ่ออาจให้อาหารจำพวกพืช และสามารถฝึกนิสัยให้ปลาดุกขึ้นมากินอาหารบริเวณผิวน้ำได้



ความแตกต่างของ "ปลาดุกด้าน" และ "ปลาดุกอุย" นั้น สามารถเห็นได้ชัดตรงบริเวณกระดูกท้ายทอย เพราะท้ายทอยของปลาดุกด้านมีลักษณะแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม ต่างจากท้ายทอยของปลาดุกอุย ซึ่งมีลักษณะมนโค้ง ลักษณะอื่น ๆ คือ สีของลำตัว แต่การสังเกตลักษณะประการหลังนี้ ต้องอาศัยความชำนาญ

ลักษณะเพศและฤดูวางไข่
การแยกเพศ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเพาะพันธุ์ ลักษณะที่เห็นได้ง่ายและเด่นชัด คือบริเวณใกล้ช่องทวารของปลาดุกตัวผู้ จะมีอวัยวะแสดงเพศซึ่งมีลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา ถ้าเป็นตัวเมีย อวัยวะแสดงเพศจะมีลักษณะค่อนข้างกลม และเห็นได้ชัดว่าสั้นกว่า ขนาดของปลาดุกที่จะแยกเพศได้ถนัดนั้น ต้องเป็นปลาที่มีขนาดยาวเกินกว่า 15 เซนติเมตร
ลักษณะที่สังเกตได้ง่ายอีกประการหนึ่งคือ ในฤดูวางไข่ บริเวณส่วนท้องของปลาตัวเมียจะอูมเป่งกว่าปกติ ถ้าใช้มือบีบเบา ๆ ตรงบริเวณท้องจะมีไข่ออกมาฤดูที่ปลาดุกจะเริ่มวางไข่ อยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ช่วงเวลาที่ปลาดุกวางไข่มักอยู่ในระหว่างเดือนซึ่งมีฝนตกชุก ฉะนั้นการเพาะพันธุ์ปลาดุก จึงควรกระทำในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว

วิธีการเพาะเลี้ยงปลาดุก
ก. การเตรียมสถานที่ โดยที่ปลาดุกสามารถวางไข่ได้ในท้องนา คูหรือในทำเลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ฉะนั้น การเตรียมสถานที่สำหรับเพาะปลาดุกควรทำสถานที่ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพธรรมชาติที่ปลาดุกวางไข่ เท่าที่ได้ทำการทดลองได้ผลมาแล้ว ใช้บ่อซึ่งมีขนาดกว้างประมาณ 5 เมตร ยาว 10 เมตร ลึก 75 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อการดูแลได้สะดวก บริเวณของบ่อเพาะพันธุ์ควรตั้งอยู่ในทำเลที่เงียบสงัดห่างไกลจากการรบกวน นอกจากการใช้บ่อดังกล่าวแล้ว อาจใช้คูซึ่งมีสภาพคล้ายคลึงกันเป็นที่เพาะก็นับว่าได้ผลดีเช่นเดียวกัน

ข. เตรียมที่วางไข่ ธรรมชาติของปลาดุก เป็นปลาที่ชอบวางไข่ตามโพรงริมตลิ่ง ก่อนที่จะวางไข่นั้นพ่อปลาจะกัดดินทำโพรงเพื่อวางไข่ฉะนั้นบ่อที่ใช้ในการเพาะปลาดุกจึงควรขุดโพรงที่ริมบ่อ หรือคูให้มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 20 เซนติเมตร ให้ปากโพรงกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ลึกประมาณ 35 เซนติเมตร ที่ก้นโพรงควรทำให้เป็นแอ่งกว้างกว่าที่ปากโพรงเล็กน้อย อนึ่ง การเตรียมโพรงเพื่อให้ปลาวางไข่ ควรให้โพรงมีระยะห่างกันพอสมควร จำนวนโพรงนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนพ่อแม่พันธุ์ปลาที่ปล่อยลง

ค. คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ควรจะเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์เป็นปลาที่เติบโตเร็ว ไม่มีโรคพยาธิ มีไข่และน้ำเชื้อแก่เต็มที่นอกจากนี้ควรจะเป็นปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน โดยปกติควรใช้พ่อแม่พันธุ์ที่มีขนาดตั้งแต่ 20 เซนติเมตร ขึ้นไป

ง. อัตราส่วนการปล่อยพ่อแม่ปลา ถ้าผู้เลี้ยงปลามีบ่อหรือคูจำนวนจำกัด ภายหลังที่ใช้บ่อหรือคูในการเพาะปลาแล้ว จะใช้บ่อนี้เลี้ยงลูกปลาไปจนโตก็ได้ อัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่จะเพาะปลาดุกโดยวิธีนี้ ควรใช้พ่อแม่พันธุ์ขนาดใหญ่ประมาณ 10 คู่ ต่อเนื้อที่บ่อ 200 ตารางเมตรถ้ามีบ่อหลายบ่อ หลังจากที่เพาะปลาดุกในบ่อด้วยวิธีดังกล่าวแล้วก็อาจจะช้อนปลาดุกขนาด 2-3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ลูกปลาดุกยังไม่แตกฝูง นำไปเลี้ยงในบ่อที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงลูกปลาอีกต่างหากก็ได้แล้วใช้บ่อเดิมนั้นเป็นบ่อสำหรับเพาะปลารุ่นอื่นอีกต่อไป ทั้งนี้จะเพาะได้อีกประมาณ 2 รุ่น โดยปล่อยพ่อแม่ปลาชุดใหม่ไปครั้งละประมาณ 10 คู่ หากบ่อดังกล่าวสามารถถ่ายเทน้ำได้สะดวก ภายหลังที่เพาะปลาดุกรุ่นแรกได้แล้วควรจะระบายน้ำและจับพ่อแม่ปลารุ่นแรกออก จากนั้นจึงไขน้ำใหม่เข้ามา

จ. การวางไข่และการผสมพันธุ์จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความอ่อนแก่ของไข่และน้ำเชื้อ รวมทั้งสภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้ามีฝนตกชุก อุณหภูมิของน้ำพอเหมาะพอดี ปลาดุกก็จะวางไข่และผสมพันธุ์เร็วขึ้นคือหลังจากที่ได้ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ไว้ประมาณ 3-7 วัน ฤดูวางไข่ฤดูหนึ่ง ปลาดุกสามารถวางไข่ได้ประมาณ 2 ครั้ง ปลาดุกคู่หนึ่งสามารถให้กำเนิดลูกปลาได้ประมาณ 2,000-5,000 ตัว
ในขณะที่ปลาผสมพันธุ์ จะสังเกตเห็นได้ว่าปลาตัวผู้และตัวเมียจะว่ายเข้าออกอยู่ตรงบริเวณโพรง ปลาตัวเมียจะวางไข่ติดดินหรือติดกับรากหญ้าบริเวณก้นหลุม ไข่ของปลาดุกมีลักษณะเป็นเม็ดกลม สีเหลืองอ่อนขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร หลังจากการวางไข่และผสมพันธุ์แล้วปลาตัวผู้จะเฝ้าดูแลรักษาไข่ในโพรงจนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ลูกปลาจะอยู่ในโพรงนั้นจนถุงไข่แดงซึ่งอยู่บริเวณท้องยุบหายไป ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 5-7 วัน ในระหว่างนี้ลูกปลาจะผุดขึ้นผุดลงเพื่อหายใจบนผิวน้ำตรงบริเวณโพรงฟักไข่

No comments: