Saturday, 29 November 2008

การเลี้ยงปลาสวาย

การเลี้ยงปลาสวายควรจะพิจารณาและปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. บ่อ เนื่องจากปลาสวายเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ ศัตรูที่เป็นพวกปลาด้วยกันจึงมีน้อย เพราะส่วนมากปลาอื่น ๆ ที่มีอายุไล่เลี่ยกันจะมีขนาดของลำตัวเล็กกว่า ไม่อาจทำอันตรายปลาสวายได้ บ่อเลี้ยงปลาสวาย ควรเป็นบ่อขนาดใหญ่ มีระดับน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ทำเลของบ่อเลี้ยงควรให้อยู่ใกล้หรือติดกับแม่น้ำลำคลอง หรือยู่ในที่ซึ่งมีทางน้ำไหลถ่ายเทได้ในบางโอกาส เมื่อน้ำเสียจะได้ถ่ายเทน้ำได้สะดวก บ่อเลี้ยงปลาสวายไม่จำเป็นต้องมีชานบ่อ เพราะปลาสวยไม่วางไข่ในที่ตื้นแต่ควรจะทำขอบบ่อให้เทลาดเล็กน้อย และมีชานคอยรับคันดินขอบบ่อไว้ มิให้ดินพังทลายลง ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้บ่อตื้นเขิน อย่างไรก็ตาม คันดินขอบบ่อนั้นจะไม่มีเลยก็ได้บ่อที่ติดต่อกับทางน้ำอื่น ๆ ได้ควรสร้างบานประตูสอดตะแกรง เพื่อให้น้ำไหลถ่ายเทได้สะดวก บานประตูนี้ควรกว้างไม่น้อยกว่าช่องละ 1 เมตร ส่วนบานตะแกรงที่สอดกับบานประตูควรทำด้วยไม้ไผ่สานที่แน่นหนาแข็งแรงบานตะแกรงที่ใช้ควรมีตาตะแกรงขนาดเล็ก เพื่อป้องกันมิให้ลูกปลาเล็ดลอดหนีออกไป และเป็นการป้องกันศัตรู คือปลาที่ใหญ่กว่ามิให้เข้ามาในบ่อ เมื่อปลาที่เลี้ยงไว้มีขนาดโตขึ้นแล้ว ควรเปลี่ยนบานตะแกรงใหม่ให้ขนาดของตาตะแกรงใหญ่ขึ้น ปลาอื่น ๆ ที่อาจจะลอดตาตะแกรงเข้ามาในบ่อในระยะนี้นอกจากจะเป็นอาหารของปลาสวายแล้ว ผู้เลี้ยงยังอาจจะจับขึ้นมาจำหน่ายพร้อมปลาสวายได้อีกด้วย เพราะปลาอื่น ๆ ที่เข้ามาอาศัยตั้งแต่มีขนาดตัวเล็ก ๆ เช่น ปลาตะเพียนหรือปลาดุก ฯลฯ จะเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กับปลาสวายที่เลี้ยงไว้

ปลาสวาย
2. น้ำ น้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาสวาย จะต้องเป็นน้ำที่จืดสนิท ถ้าเป็นน้ำกร่อยหรือมีรสเฝื่อน ปลาจะไม่เติบโตเท่าที่ควร

3. พันธุ์ปลา การเลือกพันธุ์ปลาที่จะนำมาเพาะเลี้ยง ควรคัดปลาที่ไม่มีแผล ตาไม่บอด ไม่เป็นปลาที่แคระพิการ ปลาที่มีแผลนั้น หากปล่อยลงเลี้ยงอาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคระบาดติดต่อตัวอื่น ๆ ได้ ส่วนปลาที่ตาบอด (สังเกตตรงตามีจุดฝ้าขาว) ก็จะมองไม่เห็นอาหารที่ผู้เลี้ยงให้ ปลาจะได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง ทำให้ไม่เจริญเติบโต และอาจเจ็บตาย
ที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การคัดพันธุ์ปลาลงเลี้ยงในบ่อต้องคัดปลาที่มีขนาดโตไล่เลี่ยกัน ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อเดียวกัน เพราะหากปลามีขนาดตัวแตกต่างกันมาก ปลาที่มีขนาดโตกว่าจะแย่งกินอาหารจากปลาตัวเล็กเสมอ
อนึ่ง การเลี้ยงปลาสวายในบ่อนี้ ผู้เลี้ยงสามารถที่จะเลี้ยงปลาดุกในบ่อเดียวกันกับปลาสวายได้ เพราะไม่มีอันตรายต่อกัน อกจากนี้ปลาดุกยังช่วยกินเศษอาหารที่เหลือจากปลาสวายได้อีกด้วย แต่การเลี้ยงปลาดุกปนกับปลาสวาย จะต้องกำหนดอัตรา คือปลาดุก 1 ตัว ต่อปลาสวาย 2 ตัว

4. อัตราการปล่อยปลา การเลี้ยงปลาสวายในบ่อ ควรปล่อยปลาสวายอัตรา 1 ตัว ต่อเนื้อที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตร

5. อาหาร ปลาสวายเป็นปลาที่ไม่เลือกอาหาร กินอาหารง่าย กินได้ทั้งเนื้อสัตว์และพืชผัก จากการสังเกตของผู้เลี้ยงหลายราย ปรากฏว่าปลาสวายชอบกินอาหารพวกเนื้อสัตว์มากว่าพืชผัก อาหารที่ว่านี้ ได้แก่พวกปลาเล็ก ๆ เช่น ปลาสร้อย หรือปลาไส้ตัน ทั้งสดและที่ตายแล้ว โดยวิธีสับหรือบดให้ละเอียดเสียก่อน นอกจากนี้ปลาสวายยังชอบกินพวกรำผสมปนกับผักบุ้งอีกด้วย

Wednesday, 26 November 2008

ปลาสวาย

ปลาสวายเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ซึ่งพบเห็นอยู่ทั่วไป ทั้งในประเทศไทย เขมร และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยมีผู้นิยมเลี้ยงปลาสวายทั้งในบ่อและในกระชัง จังหวัดที่เลี้ยงปลาสวายในกระชังกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ได้แก่จังหวัดอุทัยธานี และนครสวรรค์ โดยสร้างกระชังขนาดใหญ่เลี้ยงเรียงรายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ นับว่าเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง เพราะเนื้อมีรสดี มีปริมาณมากสามารถปรุงแต่งเป็นอาหารได้หลายแบบหลายรส

รูปร่างลักษณะและนิสัย
ปลาสวายเป็นปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกับปลาเทโพ เพราะมีรูปร่างขนาด ลักษณะ ตลอดจนความเป็นอยู่ไปในลักษณะเดียวกัน เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ลำตัวเรียวยาว ลักษณะด้านข้างค่อนไปทางอวบกลมมีหลังข้างตรง ส่วนหน้าลาดลงถึงปาก และปากกว้างทู่มีหนวดสั้น ๆ 2 คู่ มีกระโดงครีบหลัง 1 อัน และครีบอกข้างละ 1 คู่ ปลายหางยาวและเว้าลึกเป็นแฉก หลังมีสีหม่นเข้ม ตามครีบจะมีสีเหลืองอ่อน ส่วนที่ปลายหางครีบหลัง และครีบอกจะมีสีค่อนข้างดำปลาเทโพ มีลักษณะส่วนสัดคล้ายคลึงกับปลาสวาย แต่ที่นับว่าแตกต่างใช้เป็นจุดสังเกตได้ง่าย ๆ คือ ปลาเทโพจะมีจุดกลมดำที่เหนือโคนครีบหู หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "หู" อีกข้างละหนึ่งจุด

ปลาสวาย
ในประเทศไทย แหล่งที่พบปลาสวายชุกชุมมากที่สุด อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยทั่วไป คือ มักพบเห็นตามแม่น้ำ ลำคลอง ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่อยไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ ปลาทั้งสองชนิดนี้มักจะว่ายรวมกันไปเป็นฝูง ๆ อยู่ในน้ำลึกซึ่งมีกระแสน้ำไหลถ่ายเทได้ชอบรวมกลุ่มพักอยู่ในที่ร่มใกล้พันธุ์ไม้น้ำ เช่น ตามใต้แพผักบุ้งที่มีกร่ำแพสนุ่น หรือใต้กอผักตบชวา ปลาสวายเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่ายเมื่อถูกรบกวนหรือถูกทำอันตราย

ลักษณะเพศและการแพร่ขยายพันธุ์
ลักษณะเพศ ปลาสวายตัวผู้มีท้องเรียบไม่นูน พื้นท้องแข็งกว่าตัวเมีย ลักษณะช่องเพศเป็นรูปวงรี แคบเล็ก มีสีแดงอ่อน เมื่อใช้มือบีบที่ช่องเพศเบา ๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมาให้เห็นได้ชัด ส่วนตัวเมียมีลักษณะที่พอจะสังเกตได้ชัด คือบริเวณส่วนท้องอูมเป่ง กลมนูนออกมาเห็นได้ถนัด พื้นท้องมีผิวเนียนนิ่ม ลักษณะของช่องเพศ เป็นรูปรีมีขนาดกว้างใหญ่กว่าของตัวผู้ นอกจากนั้นตรงบริเวณช่องเพศยังมีลักษณะพองเป่งปรากฏเป็นสีแดงเข้มฤดูและแหล่งวางไข่ ปลาสวายจะวางไข่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติในบริเวณที่มีน้ำท่วมในฤดูน้ำมาก ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ไข่ปลาสวายจะฟักออกเป็นตัวในระยะเวลา 27-33 ชั่วโมงหลังจากวางไข่ ที่อุณหภูมิ 28-31 องศาเซลเซียส

Tuesday, 18 November 2008

ปลาไน

รูปร่างลักษณะปลาไน
ปลาไนเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอยู่ในจำพวกปลาตะเพียน มีร่างกายแข็งแรงและรูปลักษณะคล้ายปลาตะเพียน ปลาเล็ก ไม่มีฟัน ริมฝีปากหนา และมีหนวดสี่เส้น ครีบหลังเป็นครีบเดี่ยวยาวติดกันเป็นพีด สีของลำตัวจะมีน้ำหนักเป็นสีเงินปนเทา บางทีก็เหลืองอ่อน หรือบางตัวเป็นสีทอง

ปลาไนชอบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีพื้นเป็นดินโคลน กระแสน้ำไหลอ่อนเกือบจะนิ่ง ชอบอยู่ในน้ำอุ่นมากกว่าในน้ำเย็นไม่ชอบน้ำใสจนเกินไป โดยปกติมีนิสัยขลาด แต่สามารถฝึกให้เชื่องได้โดยวิธีการให้อาหาร ชอบวางไข่ในพื้นที่ตื้น เป็นปลาที่อดทนต่อดินฟ้าอากาศปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้รวดเร็ว ดังนั้น จึงเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว

ปลาไน
ลักษณะเพศการแพร่ขยายพันธุ์
ลักษณะเพศ รูปร่างลักษณะภายนอกของปลาไนตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก การสังเกตลักษณะของเพศได้ ต้องอาศัยความชำนาญ คือตัวเมียมีลำตัวป้อม ช่วงท้องตอนล่างอวบใหญ่แบน ส่วนตัวผู้มีลำตัวเรียวยาว โดยเฉพาะในฤดูวางไข่ ตัวเมียท่องจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง พื้นท้องนิ่ม หากเอามือบีบท้องปลาเบาๆ ไข่จะไหลออกมาทางช่องเพศ ส่วนปลาตัวผู้ พื้นท้องไม่อูมเป่งแต่พื้นท้องจะมีความตึงค่อนไปทานแข็ง ถ้าเอามือบีบไล่ไปทางช่องทวารเบาๆ จะมีน้ำสีขาวๆ คล้ายน้ำนมไหลออกมาจากช่องเพศ และถ้าเอามือลูบที่แก้มหรือเกล็ดตามตัวจะรู้สึกสาก ส่วนของตัวเมียจะมีลักษณะลื่นกว่า

ฤดูวางไข่ ย่อมแตกต่างกันบ่างตามแต่อากาศและฤดูกาลของแต่ละประเทศ เช่น ปลาไนที่เลี้ยงอยู่ในบ่อเมืองกวางตุ้ง ประเทศจีน จะวางไข่ในเดือนธันวาคม ในฮ่องกง ปลาไนจะวางไข่ในเดือนมกราคม และในแถบเยงซี ปลาไนจะวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ในญี่ปุ่นฤดูวางไข่ของปลาไหนเริ่มตั้งแต่ เดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม สำหรับในประเทศไทย ปลาไนสามารถที่จะวางไข่ได้ทุกฤดู แต่ก็มีระยะหนึ่งซึ่งปลาไนสามารถวางไข่ได้มากที่สุด ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ปลาไนจะเติบโตพอที่จะสืบพันธุ์ได้ เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน ความยาวประมาณ 25 ซม. ในฤดูหนึ่ง แม่ปลาตัวหนึ่งอาจวางไข่ได้ถึง 2 ครั้ง

บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาไน ควรแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. บ่อผสมพันธุ์สำหรับพ่อ – แม่ปลา บ่อผสมพันธุ์ ไม่ควรลึกหรือมีขนาดใหญ่โตนัก ควรมีขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร ความลึกของน้ำประมาณ 1 เมตร เหมาะสำหรับแม่ปลาขนาด 1-2 กิโลกรัม จำนวน 2-4 ตัว น้ำที่จะระบายเข้าบ่อควรเป็นน้ำสะอาดไม่ใสหรือขุ่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ไข่ปลาเสียเนื่องจากเชื้อรา
2. บ่ออนุบาล เป็นบ่อที่ใช้ฟักไข่ปลาที่แม่ปลาวางไข่ในบ่อผสมพันธุ์ขนาดของบ่อควรมีเนื้อที่ประมาณ 400-800 ตารางเมตร ความลึกของน้ำไม่เกิน 1 เมตร ก่อนย้ายไข่จากบ่อผสมพันธุ์มาฟักในบ่ออนุบาล ต้องจับศัตรูของลูกปลาออกให้หมด เช่น กบ เขียด ปลากุก ปลาช่อน ฯลฯ บ่อนุบาลนี้อาจใช้เป็นบ่อเลี้ยงด้วยก็ได้
3. บ่อเลี้ยง ใช้เลี้ยงลูกปลาที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 เดือนขึ้นไป โดยแยกมาจากบ่ออนุบาล บ่อเลี้ยงนี้จะใช้เลี้ยงปลาไนจนเติบโตได้ขนาดที่จะขายได้ ดังนั้นบ่อเลี้ยงจึงควรเป็นบ่อขนาดใหญ่ และมีน้ำลึกประมาณ 1-2 เมตร ตลอดปี

ลูกปลาอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขนาดตัวยาว 3-5 ซม. นั้นมีโอกาสตายได้ง่ายมาก ดังนั้นการให้อาหารในระยะนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

1. ลูกปลาขนาดยาวไม่เกิน 3 ซม. จะมีอวัยวะและเครื่องย่อยอาหารภายในร่างกายไม่แข็งแรงดีนัก อาหารในระยะนี้จึงต้องเป็นอาหารธรรมชาติที่ละเอียดอ่อน ได้แก่ พวกพืช และไรน้ำเล็กๆ ซึ่งมีในน้ำ วิธีที่จะทำให้อาหารธรรมชาติในบ่อลูกปลาหรือบ่ออนุบาลควรใช้มูลสัตว์ที่ตากแห้งใส่ลงในบ่ออนุบาล และควรทำเป็นสองระยะ ระยะแรกควรใส่ปุ๋ยในเวลาที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้า ประมาณ 250-300 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะหลังควรใส่ปุ๋ยหลังจากที่ลูกปลาอยู่ในบ่ออนุบาลแล้ว ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะที่เคยใส่ในตอนแรก

บ่อที่มีอาหารธรรมชาติมากหรือน้อยนั้นสังเกตได้จากสีของน้ำ ถ้าน้ำมีสีเขียวมากแสดว่ามีอาหารจำพวกพืชเล็กๆ อยู่มาก แต่ถ้าน้ำในบ่อมีสีค่อนข้างคล้ำ มักจะมีสีอาหารจำพวกไรน้ำมาก ส่วนวิธีที่จะใช้วัดอาหารธรรมชาติในบ่อว่ามีเพียงพอหรือไม่ ควรใช้มือจุ่มลงไปในน้ำ ให้ลึกประมาณถึงข้อศอก ถ้ามองไม่เห็นฝ่ามือ แสดงว่ามีอาหารเพียงพอ แต่ถ้าน้ำใสจนแลเห็นฝ่ามือก็แสดงว่ามีอาหารธรรมชาติน้อย ควรเติมปุ๋ยลงไปอีก

2. ลูกปลาขนาดยาวเกินกว่า 3 เซนติเมตร อาหารที่ให้ควรเป็นพวกรำ ปลายข้าวบด กากถั่วเหลือง อาหารเหล่านี้ทำให้เป็นผงโรยตามข้างบ่อในตอนเช้าและตอนเย็น
ลูกปลาที่เลี้ยงในบ่ออนุบาลเหล่านี้ เมื่อมีขนาด 5-7 เซนติเมตร หรือ 2-3 นิ้วฟุต ก็สามารถนำลงไปเลี้ยงในบ่ออื่นต่อไปได้

Thursday, 13 November 2008

การผสมพันธุ์ปลาตะเพียน

การเตรียมการผสมพันธุ์ปลาตะเพียนขาว
1. การคัดเลือกพ่อแม่ปลา ปลาที่มีลักษณะพร้อมที่จะทำการขยายพันธุ์ได้ จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.1. ปลาตัวผู้ เป็นปลาที่มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่ช้ำ ไม่มีบาดแผลตามตัว เมื่อเอามือบีบตรงบริเวณท้องเบา ๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวข้นไหลออกมา
1.2. ปลาตัวเมีย เป็นปลาที่มีลักษณะท้องอูม บริเวณส่วนท้องจะมีขนาดกว้างกว่าปลาตัวผู้ เมื่อเอามือจับจะรู้สึกนิ่ม หากมองจากด้านหลังของตัวปลา จะเห็นท้องยื่นออกมาทางด้านข้างทั้งสองด้าน ช่องเพศมีสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีแดงเข้ม

ปลาตะเพียน
2. การเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะขยายพันธุ์ปลาตะเพียนขาว มีดังต่อไปนี้
2.1 กรงลวดตาข่ายขนาด 50x120x70 ซม. ใช้สำหรับขังพ่อแม่ปลา เพื่อให้ผสมพันธุ์ในกรงนี้
2.2 กระชังผ้าขาวไนลอนแก้ว กว้าง 100 ซม. ยาว 120 ซม. และลึก 90 ซม. ใช้สำหรับรองรับไข่ที่ผ่านจากกรงลวดตาข่าย
2.3 กระชังไม้เนื้อแข็งหรือไม่ไผ่ กว้าง 2 ม. ยาว 4 ม. ลึก 1.5 ม.
2.4 สวิงใช้สำหรับจับปลา

บ่อผสมพันธุ์ปลา
บ่อดินขนาดตั้งแต่ 100 ตารางเมตร หรือบ่อซีเมนต์ขนาด 10 ตารางเมตร ถ้ามีน้ำถ่ายเทเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลาก็จะดี นำกรงลวดไปลอยไว้ในน้ำ ให้กรงอยู่เหนือผิวน้ำ ประมาณ 20 ซม. กรงลวดนี้ลอยน้ำอยู่ในกระชังผ้าไนลอนแก้ว ก้นของกรงลวดอยู่เหนือก้นกระชังประมาณ 20 ซม. ทั้งกรงลวดและกระชังผ้าในลอนแก้วนี้จะอยู่ในกระชังไม้ ซึ่งมีขนาดตากระชังห่างประมาณ 1 ซม. เพื่อกันมิให้ปลาปักเป้าหรือปูมาทำลายกระชังผ้าไนลอนแก้ว ซึ่งหุ้มไข่ปลาอยู่



วิธีการเพาะขยายพันธุ์
หลังจากคัดเลือกพ่อ-แม่ปลาได้แล้ว นำพ่อ-แม่ปลาไปปล่อยไว้ในกรงลวด ในอัตราตัวเมีย 1 ตัว ต่อตัวผู้ 2 ตัว หรือตัวเมีย 3 ตัวต่อตัวผู้ 5 ตัว กรงลวดแต่ละกรงนั้นควรปล่อยแม่ปลาประมาณ 5-10 ตัว การเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ต้องทำในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนมิถุนายนเพราะเป็นช่วงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์ของปลาตะเพียนขาวเมื่อพ่อ-แม่ปลาเริ่มรัดหรือผสมพันธุ์กันแล้ว ประมาณ 2 ชั่วโมงแม่ปลาก็จะออกไข่หมด เมื่อยก กรงลวดออกจากกระชังผ้าไนลอนแก้ว (พ่อ-แม่ปลาติดออกมาด้วย) จะพบว่ามีไข่ปลาจมอยู่ที่ก้นกระชังผ้าเป็นจำนวนมาก ควรแยกไข่ปลาไปฟักในกระชังผ้าใบอื่น เพื่อไม่ให้ไข่ทับถมกันจนแน่นเกินไป ไข่ปลาจะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา8-12 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำและอากาศ ถ้าอุณหภูมิสูง จะทำให้ไข่ฟักออกเป็นตัวเร็วกว่าอุณหภูมิต่ำ

Monday, 10 November 2008

ปลาตะเพียน

ปลาตะเพียนขาว หรือที่เรียกติดปากกันสั้น ๆ ว่า ปลาตะเพียน ชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Puntius gonionotus เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ทั่วไปในแถบประเทศอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และศรีลังกา สำหรับในประเทศไทยนั้น หากจะค้นไปถึงว่าปลานี้ประชาชนเริ่มรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยไหน เชื่อกันว่าปลาชนิดนี้มีอยู่คู่กับแม่น้ำ ลำคลอง ในแถบภูมิภาคส่วนนี้นานหนักหนาแล้ว นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรืออาจจะก่อนกว่านั้น เพราะมีลายของถ้วยชามเครื่องเคลือบปรากฎเป็นรูปปลาตะเพียนให้เห็นอยู่กลาดเกลื่อนแต่ชื่อ "ตะเพียน" ที่ใช้เรียกขานกัน เพิ่งจะมาพบเป็นหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากพงสาวดารฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ปลาตะเพียน
ปลาตะเพียนขาว มีลักษณะลำตัวแบนข้าง ขอบหลังโค้งยกสูงขึ้น หัวเล็ก ปากเล็ก ริมฝีปากบาง จะงอยปากแหลม มีหนวดเส้นเล็ก ๆ 2 คู่ มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว 29-31 เกล็ดลำตัวมีสีเงิน บริเวณส่วนหลังมีสีคล้ำส่วนท้องเป็นสีขาวนวล ปลาตะเพียนขาวซึ่งมีขนาดโตเต็มที่แล้วจะมีลำตัวยาวที่สุดเกือบ 50 ซม.ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาน้ำจืด อาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง แต่เจริญเติบโตขยายsพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำซึ่งมีความกร่อยเล็กน้อย ฉะนั้นจึงสามารถเลี้ยงให้เจริญเติบโตได้ทั้งในบ่อน้ำจืดและน้ำกร่อย อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนในนาข้าว

ลักษณะเพศและการแพร่ขยายพันธุ์
ลักษณะเพศ ลักษณะภายนอกของปลาตะเพียนขาวตัวผู้ และตัวเมีย คล้ายคลึงกันมาก แต่เมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ จะสังเกตได้ง่ายขึ้น คือตัวเมียจะมีท้องอูมเป่ง พื้นท้องนิ่มและช่องเพศกว้างกว่าปกติ ส่วนตัวผู้ท้องจะแบน พื้นท้องแข็ง ถ้าเอามือลองรีดเบา ๆ ตรงบริเวณท้อง จะมีสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมาฤดูวางไข่ ปลาตะเพียนขาว จะวางไข่ราว ๆ ปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ฝนเริ่มตก หลังจากที่ฝนตกหนักเพียง 2-3 ครั้ง ปลาก็จะวางไข่จนหมด ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 8-12 ชั่วโมง ในอุณหภูมิของน้ำประมาณ 29-30 องศาเซลเซียส แม่ปลาตะเพียนขาวตัวหนึ่ง ๆ สามารถมีไข่ได้ตั้งแต่ 50,000-100,000 ฟอง และชอบวางไข่ตามบริเวณชายฝั่งของลำธารเล็ก ๆ ที่ไหลลงมารวมกับลำธารใหญ่ซึ่งมีสภาพเป็นโคลน ปลาตะเพียนขาวสามารถวางไข่ในบ่อเลี้ยงได้ภายในปีแรก เมื่อแม่ปลามีขนาดตัวยาว 25 ซม.



การเลี้ยงปลาตะเพียนในบ่อ
1. บ่อ บ่อเลี้ยงปลาตะเพียนขาว ควรมี 3 ชนิดคือ

ก. บ่อผสมพันธุ์ ควรเป็นบ่อดินขนาด 100 ตารางเมตร หรือบ่อซีเมนต์ขนาด 10 ตารางเมตร มีน้ำถ่ายเทเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลา

Wednesday, 5 November 2008

การสืบพันธุ์ปลานิล

การสืบพันธุ์
1.ลักษณะ ตามปกติแล้วรูปร่างภายนอกของปลานิล ตัวผู้และตัวเมีย จะมีลักษณะคล้ายคลึง กันมากแต่จะสังเกตลักษณะเพศได้ก็โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้กับช่องทวาร โดยตัวผู้จะมี อวัยะเพศ ในลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา แต่สำหรับตัวเมียมีลักษณะเป็นรูค่อนข้างใหญ่และกลม ขนาดปลาที่จะ ดูเพศได้ชัดเจนนั้น ต้องเป็นปลาที่มีขนาดยาวตั้งแต่ 10 เซนติเมตรขึ้นไป สำหรับปลา ที่มีขนาดโตเต็ม ที่นั้นเราจะสังเกตเพศได้อีกวิธีหนึ่งด้วยการดูสีที่ลำตัว ซึ่งปลาตัวผู้ที่ใต้คางและลำตัวจะ มีสีเข้มต่าง กับตัวเมีย ยิ่งเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์สีจะเข้มยิ่งขึ้น

2.การผสมพันธุ์และวางไข่ ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปีโดยใช้เวลา 2-3 เดือน/ครั้ง แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสม ในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5-6 ครั้ง ขนาดอายุและช่วง การสืบพันธุ์ของปลาแต่ละตัวจะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และสภาพทางสรีรวิทยาของปลา เองการวิวัฒนาการของรังไข่และถุงน้ำเชื้อของปลานิล พบว่าปลานิลจะมีไข่และน้ำเชื้อเมื่อมีความยาว 6.5 ซม.

การเพาะพันธุ์ปลานิล
3.โดยปกติปลานิลที่ยังโตไม่ได้ขนาดผสมพันธุ์หรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมเพื่อการวางไข่ ปลาจะรวมกันอยู่เป็นฝูง แต่ภายหลังที่ปลามีขนาดที่จะสืบพันธุ์ได้ปลาตัวผู้จะแยกออกจากฝูงแล้ว เริ่มสร้างรังโดยเลือกเอาบริเวณเชิงลาดหรือก้นบ่อที่มีระดับน้ำลึกระหว่าง 0.5 - 1 เมตร วิธีการสร้างรัง นั้นปลาจะปักหัวลง โดยที่ตัวของมันอยู่ในระดับตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วใช้ปากพร้อมกับความเคลื่อนไหว ของลำตัวที่ เขี่ยดินตะกอนออก จากนั้นจะอมดินตะกอนออก จากนั้นจะอมดินตะกอนงับเศษสิ่งของ ต่าง ๆ ออกไปทิ้งนอกรังทำเช่นนี้จนกว่าจะได้รังที่มีลักษณะค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-35 ซม. ลึกประมาณ 3-6 ซม. ความกว้างและลึกของรังไข่ขึ้นอยู่กับขนาดของพ่อปลาหลักจาก สร้างรังเสร็จเรียบร้อยแล้ว มันพยายามไล่ปลาตัวอื่น ๆ ให้ออกไปนอกรังสีของรังไข่ประมาณ 2-3 เมตร ขณะเดียวกันพ่อปลาที่สร้างรังจะแผ่ครีบหลังและอ้าปากกว้าง ในขณะที่มีปลาตัวเมียว่ายน้ำเข้ามาใกล้ ๆ รัง และเมื่อเลือกตัวเมียได้ถูกต้องใจแล้วก็จะแสดงอาการจับคู่โดยว่ายน้ำเคล้าคู่กันไปโดยใช้หากและกัด กันเบาๆ การเคล้าเคลียดังกล่าวใช้เวลาไม่นานนัก ปลาตัวผู้ก็จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมีย เพื่อเป็นการกระตุ้นเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ซึ่งตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 10-15 ฟอง ปริมาณไข่ที่วางรวม กันแต่ละครั้งมีประมาณ 50-600 ฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา เมื่อปลาวางไข่ แต่ละครั้งปลา ตัวผู้จะว่าน้ำไปเหนือไข่พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อลงไป ทำเช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์แล้วเสร็จ โดยใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ปลาตัวเมียเก็บไข่ที่ได้รับการผสมแล้วอมไว้ในปากและว่ายออกจากรัง ส่วนปลาตัวผู้ก็คอย หาโอกาสเคล้าเคลียกับปลาตัวเมียอื่นต่อไป