Tuesday, 18 November 2008

ปลาไน

รูปร่างลักษณะปลาไน
ปลาไนเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอยู่ในจำพวกปลาตะเพียน มีร่างกายแข็งแรงและรูปลักษณะคล้ายปลาตะเพียน ปลาเล็ก ไม่มีฟัน ริมฝีปากหนา และมีหนวดสี่เส้น ครีบหลังเป็นครีบเดี่ยวยาวติดกันเป็นพีด สีของลำตัวจะมีน้ำหนักเป็นสีเงินปนเทา บางทีก็เหลืองอ่อน หรือบางตัวเป็นสีทอง

ปลาไนชอบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีพื้นเป็นดินโคลน กระแสน้ำไหลอ่อนเกือบจะนิ่ง ชอบอยู่ในน้ำอุ่นมากกว่าในน้ำเย็นไม่ชอบน้ำใสจนเกินไป โดยปกติมีนิสัยขลาด แต่สามารถฝึกให้เชื่องได้โดยวิธีการให้อาหาร ชอบวางไข่ในพื้นที่ตื้น เป็นปลาที่อดทนต่อดินฟ้าอากาศปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้รวดเร็ว ดังนั้น จึงเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว

ปลาไน
ลักษณะเพศการแพร่ขยายพันธุ์
ลักษณะเพศ รูปร่างลักษณะภายนอกของปลาไนตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก การสังเกตลักษณะของเพศได้ ต้องอาศัยความชำนาญ คือตัวเมียมีลำตัวป้อม ช่วงท้องตอนล่างอวบใหญ่แบน ส่วนตัวผู้มีลำตัวเรียวยาว โดยเฉพาะในฤดูวางไข่ ตัวเมียท่องจะอูมเป่งออกมาทั้งสองข้าง พื้นท้องนิ่ม หากเอามือบีบท้องปลาเบาๆ ไข่จะไหลออกมาทางช่องเพศ ส่วนปลาตัวผู้ พื้นท้องไม่อูมเป่งแต่พื้นท้องจะมีความตึงค่อนไปทานแข็ง ถ้าเอามือบีบไล่ไปทางช่องทวารเบาๆ จะมีน้ำสีขาวๆ คล้ายน้ำนมไหลออกมาจากช่องเพศ และถ้าเอามือลูบที่แก้มหรือเกล็ดตามตัวจะรู้สึกสาก ส่วนของตัวเมียจะมีลักษณะลื่นกว่า

ฤดูวางไข่ ย่อมแตกต่างกันบ่างตามแต่อากาศและฤดูกาลของแต่ละประเทศ เช่น ปลาไนที่เลี้ยงอยู่ในบ่อเมืองกวางตุ้ง ประเทศจีน จะวางไข่ในเดือนธันวาคม ในฮ่องกง ปลาไนจะวางไข่ในเดือนมกราคม และในแถบเยงซี ปลาไนจะวางไข่ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ในญี่ปุ่นฤดูวางไข่ของปลาไหนเริ่มตั้งแต่ เดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม สำหรับในประเทศไทย ปลาไนสามารถที่จะวางไข่ได้ทุกฤดู แต่ก็มีระยะหนึ่งซึ่งปลาไนสามารถวางไข่ได้มากที่สุด ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ปลาไนจะเติบโตพอที่จะสืบพันธุ์ได้ เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน ความยาวประมาณ 25 ซม. ในฤดูหนึ่ง แม่ปลาตัวหนึ่งอาจวางไข่ได้ถึง 2 ครั้ง

บ่อที่ใช้เลี้ยงปลาไน ควรแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. บ่อผสมพันธุ์สำหรับพ่อ – แม่ปลา บ่อผสมพันธุ์ ไม่ควรลึกหรือมีขนาดใหญ่โตนัก ควรมีขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร ความลึกของน้ำประมาณ 1 เมตร เหมาะสำหรับแม่ปลาขนาด 1-2 กิโลกรัม จำนวน 2-4 ตัว น้ำที่จะระบายเข้าบ่อควรเป็นน้ำสะอาดไม่ใสหรือขุ่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ไข่ปลาเสียเนื่องจากเชื้อรา
2. บ่ออนุบาล เป็นบ่อที่ใช้ฟักไข่ปลาที่แม่ปลาวางไข่ในบ่อผสมพันธุ์ขนาดของบ่อควรมีเนื้อที่ประมาณ 400-800 ตารางเมตร ความลึกของน้ำไม่เกิน 1 เมตร ก่อนย้ายไข่จากบ่อผสมพันธุ์มาฟักในบ่ออนุบาล ต้องจับศัตรูของลูกปลาออกให้หมด เช่น กบ เขียด ปลากุก ปลาช่อน ฯลฯ บ่อนุบาลนี้อาจใช้เป็นบ่อเลี้ยงด้วยก็ได้
3. บ่อเลี้ยง ใช้เลี้ยงลูกปลาที่มีอายุตั้งแต่ 2-3 เดือนขึ้นไป โดยแยกมาจากบ่ออนุบาล บ่อเลี้ยงนี้จะใช้เลี้ยงปลาไนจนเติบโตได้ขนาดที่จะขายได้ ดังนั้นบ่อเลี้ยงจึงควรเป็นบ่อขนาดใหญ่ และมีน้ำลึกประมาณ 1-2 เมตร ตลอดปี

ลูกปลาอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ ขนาดตัวยาว 3-5 ซม. นั้นมีโอกาสตายได้ง่ายมาก ดังนั้นการให้อาหารในระยะนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

1. ลูกปลาขนาดยาวไม่เกิน 3 ซม. จะมีอวัยวะและเครื่องย่อยอาหารภายในร่างกายไม่แข็งแรงดีนัก อาหารในระยะนี้จึงต้องเป็นอาหารธรรมชาติที่ละเอียดอ่อน ได้แก่ พวกพืช และไรน้ำเล็กๆ ซึ่งมีในน้ำ วิธีที่จะทำให้อาหารธรรมชาติในบ่อลูกปลาหรือบ่ออนุบาลควรใช้มูลสัตว์ที่ตากแห้งใส่ลงในบ่ออนุบาล และควรทำเป็นสองระยะ ระยะแรกควรใส่ปุ๋ยในเวลาที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้า ประมาณ 250-300 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะหลังควรใส่ปุ๋ยหลังจากที่ลูกปลาอยู่ในบ่ออนุบาลแล้ว ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะที่เคยใส่ในตอนแรก

บ่อที่มีอาหารธรรมชาติมากหรือน้อยนั้นสังเกตได้จากสีของน้ำ ถ้าน้ำมีสีเขียวมากแสดว่ามีอาหารจำพวกพืชเล็กๆ อยู่มาก แต่ถ้าน้ำในบ่อมีสีค่อนข้างคล้ำ มักจะมีสีอาหารจำพวกไรน้ำมาก ส่วนวิธีที่จะใช้วัดอาหารธรรมชาติในบ่อว่ามีเพียงพอหรือไม่ ควรใช้มือจุ่มลงไปในน้ำ ให้ลึกประมาณถึงข้อศอก ถ้ามองไม่เห็นฝ่ามือ แสดงว่ามีอาหารเพียงพอ แต่ถ้าน้ำใสจนแลเห็นฝ่ามือก็แสดงว่ามีอาหารธรรมชาติน้อย ควรเติมปุ๋ยลงไปอีก

2. ลูกปลาขนาดยาวเกินกว่า 3 เซนติเมตร อาหารที่ให้ควรเป็นพวกรำ ปลายข้าวบด กากถั่วเหลือง อาหารเหล่านี้ทำให้เป็นผงโรยตามข้างบ่อในตอนเช้าและตอนเย็น
ลูกปลาที่เลี้ยงในบ่ออนุบาลเหล่านี้ เมื่อมีขนาด 5-7 เซนติเมตร หรือ 2-3 นิ้วฟุต ก็สามารถนำลงไปเลี้ยงในบ่ออื่นต่อไปได้

No comments: