Saturday, 29 November 2008

การเลี้ยงปลาสวาย

การเลี้ยงปลาสวายควรจะพิจารณาและปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. บ่อ เนื่องจากปลาสวายเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ ศัตรูที่เป็นพวกปลาด้วยกันจึงมีน้อย เพราะส่วนมากปลาอื่น ๆ ที่มีอายุไล่เลี่ยกันจะมีขนาดของลำตัวเล็กกว่า ไม่อาจทำอันตรายปลาสวายได้ บ่อเลี้ยงปลาสวาย ควรเป็นบ่อขนาดใหญ่ มีระดับน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ทำเลของบ่อเลี้ยงควรให้อยู่ใกล้หรือติดกับแม่น้ำลำคลอง หรือยู่ในที่ซึ่งมีทางน้ำไหลถ่ายเทได้ในบางโอกาส เมื่อน้ำเสียจะได้ถ่ายเทน้ำได้สะดวก บ่อเลี้ยงปลาสวายไม่จำเป็นต้องมีชานบ่อ เพราะปลาสวยไม่วางไข่ในที่ตื้นแต่ควรจะทำขอบบ่อให้เทลาดเล็กน้อย และมีชานคอยรับคันดินขอบบ่อไว้ มิให้ดินพังทลายลง ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้บ่อตื้นเขิน อย่างไรก็ตาม คันดินขอบบ่อนั้นจะไม่มีเลยก็ได้บ่อที่ติดต่อกับทางน้ำอื่น ๆ ได้ควรสร้างบานประตูสอดตะแกรง เพื่อให้น้ำไหลถ่ายเทได้สะดวก บานประตูนี้ควรกว้างไม่น้อยกว่าช่องละ 1 เมตร ส่วนบานตะแกรงที่สอดกับบานประตูควรทำด้วยไม้ไผ่สานที่แน่นหนาแข็งแรงบานตะแกรงที่ใช้ควรมีตาตะแกรงขนาดเล็ก เพื่อป้องกันมิให้ลูกปลาเล็ดลอดหนีออกไป และเป็นการป้องกันศัตรู คือปลาที่ใหญ่กว่ามิให้เข้ามาในบ่อ เมื่อปลาที่เลี้ยงไว้มีขนาดโตขึ้นแล้ว ควรเปลี่ยนบานตะแกรงใหม่ให้ขนาดของตาตะแกรงใหญ่ขึ้น ปลาอื่น ๆ ที่อาจจะลอดตาตะแกรงเข้ามาในบ่อในระยะนี้นอกจากจะเป็นอาหารของปลาสวายแล้ว ผู้เลี้ยงยังอาจจะจับขึ้นมาจำหน่ายพร้อมปลาสวายได้อีกด้วย เพราะปลาอื่น ๆ ที่เข้ามาอาศัยตั้งแต่มีขนาดตัวเล็ก ๆ เช่น ปลาตะเพียนหรือปลาดุก ฯลฯ จะเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กับปลาสวายที่เลี้ยงไว้

ปลาสวาย
2. น้ำ น้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาสวาย จะต้องเป็นน้ำที่จืดสนิท ถ้าเป็นน้ำกร่อยหรือมีรสเฝื่อน ปลาจะไม่เติบโตเท่าที่ควร

3. พันธุ์ปลา การเลือกพันธุ์ปลาที่จะนำมาเพาะเลี้ยง ควรคัดปลาที่ไม่มีแผล ตาไม่บอด ไม่เป็นปลาที่แคระพิการ ปลาที่มีแผลนั้น หากปล่อยลงเลี้ยงอาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคระบาดติดต่อตัวอื่น ๆ ได้ ส่วนปลาที่ตาบอด (สังเกตตรงตามีจุดฝ้าขาว) ก็จะมองไม่เห็นอาหารที่ผู้เลี้ยงให้ ปลาจะได้กินบ้าง ไม่ได้กินบ้าง ทำให้ไม่เจริญเติบโต และอาจเจ็บตาย
ที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การคัดพันธุ์ปลาลงเลี้ยงในบ่อต้องคัดปลาที่มีขนาดโตไล่เลี่ยกัน ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อเดียวกัน เพราะหากปลามีขนาดตัวแตกต่างกันมาก ปลาที่มีขนาดโตกว่าจะแย่งกินอาหารจากปลาตัวเล็กเสมอ
อนึ่ง การเลี้ยงปลาสวายในบ่อนี้ ผู้เลี้ยงสามารถที่จะเลี้ยงปลาดุกในบ่อเดียวกันกับปลาสวายได้ เพราะไม่มีอันตรายต่อกัน อกจากนี้ปลาดุกยังช่วยกินเศษอาหารที่เหลือจากปลาสวายได้อีกด้วย แต่การเลี้ยงปลาดุกปนกับปลาสวาย จะต้องกำหนดอัตรา คือปลาดุก 1 ตัว ต่อปลาสวาย 2 ตัว

4. อัตราการปล่อยปลา การเลี้ยงปลาสวายในบ่อ ควรปล่อยปลาสวายอัตรา 1 ตัว ต่อเนื้อที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตร

5. อาหาร ปลาสวายเป็นปลาที่ไม่เลือกอาหาร กินอาหารง่าย กินได้ทั้งเนื้อสัตว์และพืชผัก จากการสังเกตของผู้เลี้ยงหลายราย ปรากฏว่าปลาสวายชอบกินอาหารพวกเนื้อสัตว์มากว่าพืชผัก อาหารที่ว่านี้ ได้แก่พวกปลาเล็ก ๆ เช่น ปลาสร้อย หรือปลาไส้ตัน ทั้งสดและที่ตายแล้ว โดยวิธีสับหรือบดให้ละเอียดเสียก่อน นอกจากนี้ปลาสวายยังชอบกินพวกรำผสมปนกับผักบุ้งอีกด้วย



ชนิดอาหารของปลาสวาย แยกได้ดังนี้ คือ
(ก) อาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อเลี้ยง ซึ่งได้แก่ พวกพืชและสัตว์เล็ก ๆ ที่อยู่ในน้ำ เช่น ตะไคน้ำ แหน ตัวอ่อนของแมลง ตัวแมลงเล็ก ๆ ลูกหอย ไส้เดือน หนอน ฯลฯ

(ข) อาหารสมทบที่ควรให้เพิ่มเติม เนื่องจากอาหารธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในบ่อไม่เพียงพอกับจำนวนปลาที่เลี้ยง และปลาเองก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อัตราการกินอาหารแต่ละตัวก็เพิ่มขึ้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องให้อาหารสมทบเพิ่มเติม เพื่อการเร่งให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้นอาหารสมทบ ได้แก่

- พวกผักต่าง ๆ และแหน ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกาดและเศษผักต่าง ๆ ใช้โปรยให้กินสด ๆ ไม่ควรต้มให้สุ
- ใบแค สับให้ละเอียดแล้วโปรยให้กินสด ๆ
- รำ ใช้คลุกปนกับน้ำข้าวที่เย็นแล้ว หรือจะปนกับผักและปลาป่นได้ก็ยิ่งดี คลุกเคล้าให้เข้ากันดีและปั้นเป็นก้อนแล้วโยนให้กิน
- ปลายข้าว ใช้ต้มแล้วปนกับผักหรือปลาป่นก็ได้ แต่ผักและปลาป่นนั้นไม่ต้องต้ม ปั้นเป็นก้อนโยนให้กิน
- กากถั่วเหลือง ทำให้ละเอียดผสมกับรำโปรยให้กินดิบ ๆ
- กากมะพร้าวโปรยให้กินดิบ ๆ หรือจะคั่วเก็บไว้ใช้มื้ออื่นที่ขาดแคลนอาหาร
- เศษเนื้อสัตว์ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วโยนให้กินดิบ ๆ
- พวกหอยต่าง ๆ ทุบเปลือกแล้วแกะเอาแต่เนื้อให้กินสด ๆ
- ปลาต่าง ๆ ถ้าเป็นปลาใหญ่ แกะเนื้อปลาสับเป็นชิ้น ๆ แต่ถ้าเป็นปลาเล็ก เช่น ปลาสร้อย ปลาแปบ ปลาซิว ก็ให้ทั้งตัว (ระยะที่ปลาสวายมีขนาดตัวโตขึ้นมากแล้ว) ถ้ายังเป็นระยะที่ปลาสวายยังตัวเล็ก ๆ หรือช่วงที่เริ่มปล่อยลงเลี้ยงแรก ๆ นั้น อาหารพวกเนื้อปลาเหล่านี้ต้องสับหรือบดให้ละเอียดพวกอาหารสมทบดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ไม่ควรนำไปต้ม หรือทำให้สุกเพราะการต้มหรือทำให้สุกนั้น เป็นการทำลายคุณค่าทางอาหารให้ลดน้อยลงไปโดยใช่เหตุวิธีการให้อาหาร การให้อาหารปลาสวายควรให้เป็นเวลา เพื่อปลาจะได้เคยชินและเชื่องเร็วขึ้น ควรให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในเวลาเช้าและเวลาเย็น อาหารที่ให้แต่ละมื้อ ต้องสังเกตว่าเพียงพอหรือไม่ ควรสังเกตอาการฮุบอาหารของปลา ถ้าโยนอาหารลงไปตอนหลัง ๆ พบว่าปลาไม่โผล่ขึ้นมาฮุบอีก ก็แสดงว่าปลาสวายเริ่มอิ่ม ไม่ต้องให้อาหารอีกต่อไปการให้อาหารปลาสวาย ต้องให้ปริมาณมากขึ้นตามลำดับ เพราะปลาต่างก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และต้องการปริมาณอาหารมากขึ้น ยิ่งในระยะเวลาที่ใกล้จะจำหน่ายอาหารที่ให้ควรจะปนกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ข้าวสุก จะช่วยทำให้ปลาสวายอ้วนและมีน้ำหนักดีกว่าให้อาหารจำพวกผักแต่อย่างเดียว

ปลาสวายที่เลี้ยงในบ่อและในกระชัง ประมาณ 1 ปี จะได้ปลาที่มีน้ำหนักตัวละประมาณ 1.3 กิโลกรัม ถ้าเลี้ยงนาน 3 ปี อาจจะได้ปลาสวายขนาดความยาว 3 ฟุต น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม
การจับปลาสวายที่เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หรือจับขึ้นเพื่อจำหน่ายสู่ท้องตลาดก็ดี การใช้เครื่องมือจับปลาจะต้องระวังให้มาก เพราะปลาสวายเป็นปลาที่ตื่นกลัวตกใจง่าย ถ้าตกใจก็จะไม่ยอมกินอาหารไปหลายวัน ฉะนั้นในการจับปลาด้วยสวิงหรือแห ปลาที่ติดเครื่องมือแล้วไม่ควรปล่อยลงไปปนกับปลาที่เลี้ยงไว้อีก เพราะปลาที่ถูกจับขึ้นมาแล้วจะตื่นตกใจหากปล่อยลงเลี้ยงใหม่มันจะไม่กินอาหาร และพลอยทำให้ตัวอื่นตกใจไปด้วยและในการจับปลาจำหน่ายก็ควรจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ๆ ไม่ควรจำหน่ายครั้งละเล็กน้อย เพราะปลาที่ถูกจับทีหลังมักไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวลดลง
การจับปลาจำนวนมาก ๆ ควรใช้อวนหรือเฝือกล้อมสกัด ควรแบ่งตอนของบ่อที่เลี้ยงให้พอเหมาะ เพื่อป้องกันมิให้ปลาในบริเวณซึ่งเหลืออยู่มีอาการตื่นตกใจตามไปด้วยส่วนการลำเลียงขนส่งปลาสวายนั้น หากสามารถลำเลียงทางน้ำจะได้ผลดีกว่าทางบกมาก เพราะการขนส่งทางบกจะทำให้การถ่ายเทน้ำจากภาชนะไม่สะดวก ปลาสวาย เป็นปลาที่มีเมือกมาก ทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงเกิดเมือกมีกลิ่นคาวจัด ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปลาตายเร็ว ดังนั้นจะต้องทำการถ่ายเทน้ำออกบ่อย ๆ แต่การลำเลียงขนส่งทางน้ำโดยใช้เรือ จะทำการถ่ายเทน้ำได้สะดวกกว่า อัตราการรอดตายจึงมีมากกว่า

สำหรับผู้เลี้ยงปลาสวายในกระชัง ในกรณีที่ผู้เลี้ยงสามารถลำเลียงปลาสวายด้วยกระชังออกสู่ตลาดได้เลย โดยปล่อยกระชังล่องลอยมาตามกระแสน้ำ ปลาจะไม่มีอาการบอบช้ำ แต่ไม่ควรใช้เรือยนต์ลากจูง เพราะจะทำให้น้ำในกระชังปั่นป่วน ปลาจะว่ายเลาะข้างกระชัง ทำให้ปากเป็นแผลและนัยน์ตามักจะบอด ทำให้ปลาอ่อนแอมีโอกาสตายได้ง่าย ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปลาลักษณะเช่นนี้จะขายได้ในราคาซึ่งไม่คุ้มทุน

No comments: