Monday 10 November 2008

ปลาตะเพียน

ปลาตะเพียนขาว หรือที่เรียกติดปากกันสั้น ๆ ว่า ปลาตะเพียน ชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Puntius gonionotus เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ทั่วไปในแถบประเทศอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และศรีลังกา สำหรับในประเทศไทยนั้น หากจะค้นไปถึงว่าปลานี้ประชาชนเริ่มรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยไหน เชื่อกันว่าปลาชนิดนี้มีอยู่คู่กับแม่น้ำ ลำคลอง ในแถบภูมิภาคส่วนนี้นานหนักหนาแล้ว นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรืออาจจะก่อนกว่านั้น เพราะมีลายของถ้วยชามเครื่องเคลือบปรากฎเป็นรูปปลาตะเพียนให้เห็นอยู่กลาดเกลื่อนแต่ชื่อ "ตะเพียน" ที่ใช้เรียกขานกัน เพิ่งจะมาพบเป็นหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากพงสาวดารฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ปลาตะเพียน
ปลาตะเพียนขาว มีลักษณะลำตัวแบนข้าง ขอบหลังโค้งยกสูงขึ้น หัวเล็ก ปากเล็ก ริมฝีปากบาง จะงอยปากแหลม มีหนวดเส้นเล็ก ๆ 2 คู่ มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว 29-31 เกล็ดลำตัวมีสีเงิน บริเวณส่วนหลังมีสีคล้ำส่วนท้องเป็นสีขาวนวล ปลาตะเพียนขาวซึ่งมีขนาดโตเต็มที่แล้วจะมีลำตัวยาวที่สุดเกือบ 50 ซม.ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาน้ำจืด อาศัยอยู่ทั่วไปทั้งในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง แต่เจริญเติบโตขยายsพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำซึ่งมีความกร่อยเล็กน้อย ฉะนั้นจึงสามารถเลี้ยงให้เจริญเติบโตได้ทั้งในบ่อน้ำจืดและน้ำกร่อย อ่างเก็บน้ำ ตลอดจนในนาข้าว

ลักษณะเพศและการแพร่ขยายพันธุ์
ลักษณะเพศ ลักษณะภายนอกของปลาตะเพียนขาวตัวผู้ และตัวเมีย คล้ายคลึงกันมาก แต่เมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์ จะสังเกตได้ง่ายขึ้น คือตัวเมียจะมีท้องอูมเป่ง พื้นท้องนิ่มและช่องเพศกว้างกว่าปกติ ส่วนตัวผู้ท้องจะแบน พื้นท้องแข็ง ถ้าเอามือลองรีดเบา ๆ ตรงบริเวณท้อง จะมีสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมาฤดูวางไข่ ปลาตะเพียนขาว จะวางไข่ราว ๆ ปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ฝนเริ่มตก หลังจากที่ฝนตกหนักเพียง 2-3 ครั้ง ปลาก็จะวางไข่จนหมด ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายใน 8-12 ชั่วโมง ในอุณหภูมิของน้ำประมาณ 29-30 องศาเซลเซียส แม่ปลาตะเพียนขาวตัวหนึ่ง ๆ สามารถมีไข่ได้ตั้งแต่ 50,000-100,000 ฟอง และชอบวางไข่ตามบริเวณชายฝั่งของลำธารเล็ก ๆ ที่ไหลลงมารวมกับลำธารใหญ่ซึ่งมีสภาพเป็นโคลน ปลาตะเพียนขาวสามารถวางไข่ในบ่อเลี้ยงได้ภายในปีแรก เมื่อแม่ปลามีขนาดตัวยาว 25 ซม.



การเลี้ยงปลาตะเพียนในบ่อ
1. บ่อ บ่อเลี้ยงปลาตะเพียนขาว ควรมี 3 ชนิดคือ

ก. บ่อผสมพันธุ์ ควรเป็นบ่อดินขนาด 100 ตารางเมตร หรือบ่อซีเมนต์ขนาด 10 ตารางเมตร มีน้ำถ่ายเทเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลา



ข. บ่ออนุบาล ควรเป็นบ่อดินที่เตรียมไว้สะอาดแล้ว ขนาด 200-400 ตารางเมตร ความลึกของบ่อประมาณ 1.5 เมตร มีการถ่ายเทน้ำได้พอสมควร ใช้เลี้ยงลูกปลาตะเพียนขาว ซึ่งมีอายุได้ประมาณ 15 วัน จนลูกปลามีขนาดความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ระยะอนุบาลลูกปลาดังกล่าวนี้ควรปล่อยลูกปลาในอัตรา 15 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร หรือประมาณ 25,000 ตัวต่อไร่

ค. บ่อเลี้ยง ควรเป็นบ่อดินซึ่งมีขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไปจนถึงขนาด 1 ไร่ หรือมากกว่านั้น ความลึกของน้ำในบ่อควรให้เกินกว่า 1 เมตรขึ้นไป ใช้เลี้ยงลูกปลาที่มีขนาดความยาว 5-7 เซนติเมตร หากปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงมีขนาดโตกว่านั้นควรปล่อยในอัตรา 2-3 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร

2. การเตรียมบ่อ
ก. บ่อใหม่ หากเป็นบ่อที่ขุดใหม่ ดินมักจะเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโรยให้ทั่วบ่อ ในอัตรา 1 กิโลเมตร ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร

ข. บ่อเก่า จำเป็นต้องปรับปรุงบ่อ โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด เช่น ผักตบชวา จอก บัว และหญ้าต่าง ๆ เพราะวัชพืชเหล่านี้จะปกคลุมผิวน้ำเป็นอุปสรรคต่อการหมุนเวียนของอากาศ และเป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูได้ คันบ่อควรลอกเลนขึ้นมาตกแต่ง และทำท่อระบายน้ำให้เรียบร้อย ตากบ่อนั้นทิ้งไว้จนแห้ง แสงแดดจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้คุณภาพของดินในบริเวณบ่อมีคุณสมบัติดีขึ้นก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง ต้องกำจัดศัตรูของปลาตะเพียน ได้แก่ พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโดปลาดุก กบ เขียด และงู ฯลฯ โดยการระบายน้ำออกจากบ่อให้แห้งขอดแล้วจับขึ้นให้หมด ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ ควรใช้โล่ติ๊นสด 1 กิโลกรัม ต่อปริมาณน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร วิธีใช้คือทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียด นำลงแช่น้ำสัก 1 หรือ 2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้สีขาวออกมาหลาย ๆ ครั้งจนหมด แล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาดังกล่าวก็จะตายลอยขึ้นมา ต้องเก็บออกทิ้งอย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อเพราะจะทำให้น้ำเสียได้ ก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยง ควรทิ้งระยะไว้ประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัว

ค. การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งได้แก่ปุ๋ยคอกที่ตากแห้งแล้ว หรือปุ๋ยหมัก อัตราการใส่ปุ๋ยประมาณ 50-200 กิโลกรัมต่อไร่ ระยะแรกนั้นควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้า ระยะหลัง ๆ ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก จนกระทั่งน้ำมีสีเขียว ลักษณะเช่นนี้แสดงว่ามีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้วปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ อาจหาซื้อได้ในรูปที่ผสมเสร็จแล้ว โดยมีอัตราส่วนของฟอสฟอรัสสูงกว่าส่วนผสมอื่น และใช้ในอัตรา 4 กิโลกรัมต่อไร่ต่อเดือน

No comments: