Thursday 13 November 2008

การผสมพันธุ์ปลาตะเพียน

การเตรียมการผสมพันธุ์ปลาตะเพียนขาว
1. การคัดเลือกพ่อแม่ปลา ปลาที่มีลักษณะพร้อมที่จะทำการขยายพันธุ์ได้ จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.1. ปลาตัวผู้ เป็นปลาที่มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่ช้ำ ไม่มีบาดแผลตามตัว เมื่อเอามือบีบตรงบริเวณท้องเบา ๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวข้นไหลออกมา
1.2. ปลาตัวเมีย เป็นปลาที่มีลักษณะท้องอูม บริเวณส่วนท้องจะมีขนาดกว้างกว่าปลาตัวผู้ เมื่อเอามือจับจะรู้สึกนิ่ม หากมองจากด้านหลังของตัวปลา จะเห็นท้องยื่นออกมาทางด้านข้างทั้งสองด้าน ช่องเพศมีสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีแดงเข้ม

ปลาตะเพียน
2. การเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆอุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะขยายพันธุ์ปลาตะเพียนขาว มีดังต่อไปนี้
2.1 กรงลวดตาข่ายขนาด 50x120x70 ซม. ใช้สำหรับขังพ่อแม่ปลา เพื่อให้ผสมพันธุ์ในกรงนี้
2.2 กระชังผ้าขาวไนลอนแก้ว กว้าง 100 ซม. ยาว 120 ซม. และลึก 90 ซม. ใช้สำหรับรองรับไข่ที่ผ่านจากกรงลวดตาข่าย
2.3 กระชังไม้เนื้อแข็งหรือไม่ไผ่ กว้าง 2 ม. ยาว 4 ม. ลึก 1.5 ม.
2.4 สวิงใช้สำหรับจับปลา

บ่อผสมพันธุ์ปลา
บ่อดินขนาดตั้งแต่ 100 ตารางเมตร หรือบ่อซีเมนต์ขนาด 10 ตารางเมตร ถ้ามีน้ำถ่ายเทเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลาก็จะดี นำกรงลวดไปลอยไว้ในน้ำ ให้กรงอยู่เหนือผิวน้ำ ประมาณ 20 ซม. กรงลวดนี้ลอยน้ำอยู่ในกระชังผ้าไนลอนแก้ว ก้นของกรงลวดอยู่เหนือก้นกระชังประมาณ 20 ซม. ทั้งกรงลวดและกระชังผ้าในลอนแก้วนี้จะอยู่ในกระชังไม้ ซึ่งมีขนาดตากระชังห่างประมาณ 1 ซม. เพื่อกันมิให้ปลาปักเป้าหรือปูมาทำลายกระชังผ้าไนลอนแก้ว ซึ่งหุ้มไข่ปลาอยู่



วิธีการเพาะขยายพันธุ์
หลังจากคัดเลือกพ่อ-แม่ปลาได้แล้ว นำพ่อ-แม่ปลาไปปล่อยไว้ในกรงลวด ในอัตราตัวเมีย 1 ตัว ต่อตัวผู้ 2 ตัว หรือตัวเมีย 3 ตัวต่อตัวผู้ 5 ตัว กรงลวดแต่ละกรงนั้นควรปล่อยแม่ปลาประมาณ 5-10 ตัว การเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ต้องทำในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงกลางเดือนมิถุนายนเพราะเป็นช่วงฤดูวางไข่ผสมพันธุ์ของปลาตะเพียนขาวเมื่อพ่อ-แม่ปลาเริ่มรัดหรือผสมพันธุ์กันแล้ว ประมาณ 2 ชั่วโมงแม่ปลาก็จะออกไข่หมด เมื่อยก กรงลวดออกจากกระชังผ้าไนลอนแก้ว (พ่อ-แม่ปลาติดออกมาด้วย) จะพบว่ามีไข่ปลาจมอยู่ที่ก้นกระชังผ้าเป็นจำนวนมาก ควรแยกไข่ปลาไปฟักในกระชังผ้าใบอื่น เพื่อไม่ให้ไข่ทับถมกันจนแน่นเกินไป ไข่ปลาจะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา8-12 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำและอากาศ ถ้าอุณหภูมิสูง จะทำให้ไข่ฟักออกเป็นตัวเร็วกว่าอุณหภูมิต่ำ



ถ้าหากไม่สามารถหากรงลวดและกระชังไนลอนได้ เราก็สามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาตะเพียนขาวในบ่อผสมพันธุ์ได้เลย (บ่อดินขนาด 100 ตารางเมตร บ่อซีเมนต์ 10 ตารางเมตร) ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ 10 ตารางเมตร ใช้พ่อ-แม่ปลาในอัตราส่วน ตัวเมีย 3 ตัว ต่อตัวผู้ 5 ตัว เตรียมบ่อเพาะขยายพันธุ์โดยการเปลี่ยนน้ำใหม่ประมาณครึ่งบ่อ การปล่อยพ่อแม่ปลาที่คัดไว้แล้วลงในบ่อ ควรปล่อยในตอนเย็น หลังจากนั้นก็ปล่อยน้ำให้ไหลลงบ่อตลอดเวลา พ่อ-แม่ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่ในเวลาประมาณ 04.00-05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ในขณะที่ปลาตะเพียนกำลังผสมพันธุ์และวางไข่นั้น ปลาจะส่งเสียงร้องอุด ๆ ตลอดเวลาและจะไล่เคล้าเคลียกันเป็นฝูงในวันรุ่งขึ้น ต้องจับพ่อ-แม่ปลาขึ้นจากบ่อ ทิ้งให้ไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วฟักเป็นตัวภายในบ่อ และเมื่อลูกปลามีอายุได้ประมาณ 15 วัน ต้องนำลูกปลาไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลต่อไป (วิธีนี้เราจะได้ลูกปลาจำนวนไม่แน่นอน คืออัตราการอดของลูกปลามีน้อย)

การอนุบาลลูกปลาตะเพียนในกระชังผ้าไนลอนแก้ว ในระยะแรกประมาณ 3-5 วันนั้น นับว่าเป็นวิธีที่ดี เพราะสามารถดูแลได้ใกล้ชิดกว่าปล่อยไว้ในบ่อดิน เพราะถ้าผู้เลี้ยงไม่สามารถดูแลปลาได้ใกล้ชิดแล้วจะไม่รู้ว่าลูกปลาที่กำลังอนุบาลอยู่นั้นเหลือน้อยเพียงใด อีกประการหนึ่งการอนุบาลลูกปลาในกระชังผ้าดังกล่าว สามารถมองเห็นลูกปลาได้ถนัดตั้งแต่ผิวน้ำจนถึงบริเวณก้นกระชัง ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าลูกปลาตายมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะหาวิธีแก้ไขได้สะดวก ทั้งยังสามารถคะเนปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละครั้งได้ด้วย ว่ามีประมาณมากน้อยเพียงพอหรือไม่เพียงใด

การอนุบาลลูกปลา
1. ลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวในระยะแรกจะมีถึงไข่ติดอยู่ ไม่ต้องให้อาหาร
2. ลูกปลาซึ่งมีอายุระหว่าง 3-5 วัน ควรให้อาหารพวกไข่ต้มเอาเฉพาะไข่แดงมาละลายน้ำให้ลูกปลากินเป็นอาหาร วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น
3. หลังจากนั้นแล้ว ควรนำไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล ขนาด 200-400 ตารางเมตร หรือบ่อที่มีน้ำที่มากกว่านี้ก็ได้หากต้องการทำเป็นการค้าน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร บ่ออนุบาล

ดังกล่าวนี้ใช้เลี้ยงลูกปลาวัยอ่อนจนโตขนาดลำตัวยาว 5-7 เซนติเมตรอาหารที่ใช้เลี้ยงลูกปลาระยะนี้ ประกอบด้วย ปลาป่น กากถั่ว รำ ในอัตราส่วน ปลาป่น 1 ส่วน กากถั่ว 1 ส่วน และรำ 2 ส่วน การให้อาหารควรใช้วิธีโรยให้ทั่วบ่อ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ในระยะแรก ๆ ของการปล่อยลูกปลาจะไม่เห็นลูกปลาขึ้นมากิน แต่หลังจากปล่อยไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ ลูกปลาจะโตขึ้นจนเห็นได้ชัด ขณะที่ลอยตัวขึ้นมากินอาหารที่โรยไว้เมื่อลูกปลามีขนาดความยาวประมาณ 5-7 ซม. ต้องย้ายลูกปลาเหล่านี้ลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยง (บ่อดินขนาด 400 ตารางเมตรขึ้นไปจนถึงขนาด 1 ไร่) ปล่อยในอัตรา 2-3 ตัวต่อหนึ่งตารางเมตร

การเลี้ยงปลาใหญ่
ปลาที่จะเลี้ยงจนโตได้ขนาดตามที่ต้องการ นอกจากใช้อาหารธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในบ่อ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารสมทบเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเร่งให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้น อาหารสมทบดังกล่าวได้แก่

- แหนเป็ดและไข่น้ำ (ไข่น้ำเป็นพืชที่เกิดขึ้นลอยอยู่บนผิวน้ำปะปนกับพวกจอกแหน มีลักษณะเป็นเม็ดกลม ๆ ขนาดเท่า ๆ กับสาคู เม็ดเล็กที่ยังไม่แช่น้ำ มีสีค่อนไปทางเขียวอ่อน ชาวอีสานเรียกว่า "ผัม") ใช้โปรยให้กินสด ๆ
- เศษผัก ผักบุ้ง ผักกาดขาว และเศษผักต่าง ๆ โดยวิธีต้มให้เปื่อยผสมกับรำหรือปลายข้าวที่ต้มสุก
- กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ใช้แขวนหรือใส่กระบะไม้ไว้ในบ่อ
- ส่วนอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ หรือสัตว์ที่มีชีวิต เช่น ตัวไหม ปลวก ไส้เดือน หนอน มด ฯลฯ ใช้โปรยให้กิน พวกเครื่องในและเลือดของสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู วัว ควาย ใช้บดผสมคลุกเคล้ารำและปลายข้าวซึ่งต้มสุกแล้ว นำไปใส่ไว้ในกระบะไม้ในบ่อการให้อาหาร ให้วันละครั้ง ในตอนเช้าหรือตอนเย็น ครั้งละประมาณ 5% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้มากเกินไป เศษอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย

การเจริญเติบโต
ลูกปลาจะเจริญเติบโตไม่เท่ากัน จำเป็นต้องคัดปลาที่มีขนาดไล่เลี่ยเลี้ยงในบ่อเดียวกัน เพราะถ้าเลี้ยงรวมกัน จะทำให้ลูกปลาที่เล็กกว่าเติบโตได้ไม่เท่าที่ควร และเมื่อปลามีขนาดโตขึ้น ต้องแบ่งไปเลี้ยงบ่ออื่นอย่าปล่อยให้อยู่แน่นเกินไป เพราะปลาจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร ปลาตะเพียนขาวซึ่งใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 เดือนนั้น จะมีน้ำหนักประมาณ 3-4 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม

ศัตรูและโรคพยาธิ
ศัตรูของปลาตะเพียนขาว ได้แก่ พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุก พวกกบ เขียด งู ฯลฯการเลี้ยงปลาตะเพียนขาว ต้องคอยระวังอย่าให้ปลาในบ่อมีปริมาณแน่นจนเกินไปหรือไม่ได้มีการถ่ายเทน้ำ เพราะจะทำให้เกิดเห็บปลาและหนอนสมอ อันเป็นพยาธิของปลา ซึ่งจะเกาะอยู่ตามกระพุ้งแก้มและตามลำตัวของปลา และอาจเป็นโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากเชื้อรา เชื้อบัคเตรี จะทำให้ปลาไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร หรืออาจถึงตายได้
ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การลักขโมยซึ่งมีวิธีการหลายอย่าง เช่น ใช้ข่าย แห เบ็ด ลอบ ทำให้นักเลี้ยงปลาประสบการขาดทุนมามากรายแล้วผู้เลี้ยงควรติดตามแก้ไขอย่างใกล้ชิดด้วย

No comments: