Sunday, 24 July 2011

โรคที่พบในปลาหางนกยูง

โรคที่พบจากการเลี้ยงปลาหางนกยูง อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ปรสิต แบคทีเรีย สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ออกซิเจนในน้ำน้อย อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุเหล่านี้ไม่รุนแรงพอที่จะทำให้ปลาตาย แต่ทำให้ปลาเกิดความเครียด มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานลดลง โรคที่พบได้แก่
1. โรคจุดขาว (white sp. Disease) เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชื่อ lchthyophthirus multifilis หรือชื่อย่อ lch (อิ๊ค) อิ๊คเข้าเกาะตัวปลาและตัวที่ผนังชั้นนอกของปลาสร้างความระคายเคือง ปลาจะสร้างเซลล์ผิวหนังหุ้มอิ๊ค ทำให้เห็นเป็นจุดสีขาว ยังไม่มีวิธีการกำจัดอิ๊คที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง แต่วิธีการที่ได้ผลคือการทำลายตัวอ่อนในน้ำสารเคมีที่ใช้ได้ผลดี คือ ฟอร์มาลีน 30-40 ppm. ผสมกับมาลาไค้ทกรีน 0.1 ppm. แช่ติดต่อกัน 3-4 วัน จะให้ผลดีมาก โดยเฉพาะเมื่อน้ำมีอุณหภูมิประมาณ 25-30 C

ปลาหางนกยูง
2. โรคสนิม เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว เกาะตามเหงือกและผิวหนัง ถ้าเกาะจำนวนมากจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาลกระจายเป็นหย่อมๆ การป้องกันและกำจัดควรใช้เกลือแกงเข้มข้น 1% แช่ปลานาน 24 ชั่วโมง ควรทำซ้ำทุก 2 วัน จนกว่าจะหาย

3. โรคที่เกิดจากปลิงใส เกิดจากปรสิตตัวแบน 2 ชนิดคือ Gyrodactylus และ Dactylgyrus มักพบตามบริเวณเหงือกและผิวหนัง การรักษาใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 30-40 ppm. หรือ ดิพเทอร์เร็กเข้มข้น 0.25 - 0.5 ppm. แช่ทิ้งไว้ตลอดไป

4. โรคที่เกิดจากหนอนสมอ หนอนสมอมีลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนหัวคล้ายสมอซึ่งทำหน้าที่ยึดเกาะกับตัวปลา การรักษาใช้ดิพเทอร์เร็กซ์เข้มข้น 0.25-075 ppm. แช่นาน 24 ชั่วโมง แช่น้ำ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5-6 วัน

5. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เกิดจากแบคทีเรียสกุล Aeromonas และ Pseudomonas อาการที่พบก็คือ ท้องบวมน้ำ เกล็ดพอง รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซิเตตราไซคลิน ผสมลงในน้ำในภาชนะที่เลี้ยงในอัตรา 10-20 ppm. หรือจะใช้เกลือแกง 0.5-1% ก็ได้

การเลี้ยงปลาสวยงาม ปัญหาเรื่องโรคนับเป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ตามปกติในช่วงชีวิตหนึ่งๆ ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาบนโลกย่อมหลีกลี้หนีจากโรคภัยไข้เจ็บไม่พ้น การเจ็บป่วยของคนเราเมื่อรู้สึกเจ็บป่วย เราสามารถที่จะปรึกษาแพทย์ให้ช่วยเยียวยารักษาได้ แต่อาการเจ็บป่วยของปลาที่เลี้ยงไว้ในที่กักขังจะทราบได้อย่างไร นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในการตัดสินใจว่าปลาเป็นโรคหรือยัง หรือถ้าเป็นปลาจะเป็นโรคอะไร แต่ถ้าหากปลาป่วยเป็นโรคที่เกิดขึ้นทางภายนอกแล้ว การสังเกตและเอาใจใส่ของผู้เลี้ยงก็พอที่จะเป็นหลักได้ว่าปลาเป็นโรคแล้วหรือยังไม่เป็น ถ้าผู้เลี้ยงปลาเอาใจใส่สักนิดชีวิตปลาก็จะรอดตาย ตอนต่อไปเราจะได้รู้จักกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ของปลาหางนกยูง

No comments: