Thursday, 31 March 2011

ปลากะรังหรือปลาเก๋า

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Epiephelus malabaricus
ชื่อสามัญ Brown Spotted Grouper หรือ Esstaury Grouper

"ปลากะรังหรือบางคนเรียกว่า "ปลาเก๋า" ปลาตุ๊กแก,อ้ายเก๋า,ราปู หรือชาวจีนเรียกว่า เก๋าฮื้อ ในมาเลเซียเรียก kerapu ในภาษาอังกฤษมีชื่อเรียกทั่วไปว่า grouper ถูกจัดอยู่ในครอบครัว serranidae เป็นปลาทะเลจำพวกหนึ่งซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิดตั้งแต่ ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่อาศัยอยู่ตามแถบชายฝั่งหน้าดิน ที่ก้นทะเลและบริเวณที่มีเกาะแก่งหินกองใต้น้ำและหินปะการัง โดยทั่วไปบางครั้งเข้ามาอาศัยปากแม่น้ำเพื่อหาอาหาร อาศัยในแถบโซนร้อนและอบอุ่น มีนิสัยไม่ชอบอยู่ร่วมกับฝูง กินปลาเล็กๆตลอดจนสัตว์น้ำอื่นๆเป็นอาหารเลี้ยงง่าย อดทน แข็งแรง และเจริญเติบโตเร็ว สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและในกระชังเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื้อมีรสดี มีผู้นิยมบริโภคมากโดยเฉพาะในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในตลาดการค้าของสิงคโปร์ นิยมปลาที่มีขนาดน้ำหนัก 600-900 กรัม ราคาของปลาเป็นอยู่ระหว่าง 300-500 บาท ปลากะรังหรือปลาเก๋าที่นิยมเลี้ยงกันส่วนมากคือ ปลากะรังจุดสีน้ำตาล หรือปลาเก๋าดอกแดงหรือปลากะรังปากแม่น้ำ

ปลาเก๋า
การเพาะพันธุ์ปลาเก๋า
การเพาะพันธุ์ปลากะรังได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จครั้งแรกที่สถานีประมงน้ำกร่อย จ.สตูล ในวันที่ 7 ธันวาคม 2534 ในครั้งนั้นได้ใช้แม่พันธุ์ที่เลี้ยงในกระชัง แล้วนำมาเลี้ยงต่อในบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ตัน ประมาณ 3 เดือน ส่วนพ่อพันธุ์ได้นำปลาขนาด 3-5 กิโลกรัม มาเลี้ยงโดยใช้เนื้อปลาผสมกับ Methyl testostorone ในอัตรา 1 mg./น้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม เป็นเวลา 2 เดือน เสร็จแล้วก็ดำเนินการคัดพ่อแม่พันธุ์ ปลากะรังมาฉีดฮอร์โมนผสมเทียมแล้วรีดไข่ออกมาผสมกับน้ำเชื้อได้เป็นผลสำเร็จในช่วงปี 2526-2527 และได้ทำการผสมพันธุ์แบบธรรมชาติในบ่อซีเมนต์กลางแจ้งขนาด 80 ตัน ซึ่งปรากฏว่า ได้รับผลสำเร็จเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 ตุลาคม 2527 และปลาสามารถวางไข่ติดต่อกันเป็นเวลา 8 วัน และครั้งหลังก็วางไข่ติดต่อกันอีก 6 วัน สามารถรวบรวมไข่ได้ครั้งละประมาณ 500,000 - 1,000,000 ฟอง โดยใช้พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์จำนวน 30 ตัว (เพศผู้-เพศเมีย) อย่างละ 15 ตัว แล้วนำไข่ที่ได้ไปฟักในบ่อฟัก

Wednesday, 30 March 2011

ปลาม้าลาย

ปลาม้าลาย
ปลาม้าลายมีแหล่งกำเนิดในอินเดียตะวันออก เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันแพร่หลายที่สุด การที่เรียกปลาชนิดนี้ว่าม้าลาย ก็นับว่าเหมาะสมกับลักษณะของปลาย่างยิ่ง ปลาม้าลายมีแถบดำสามแถบพาดยาวไปตามลำตัว ตั้งแต่หัวจรดหาง ซึ่งแถบดำนี้ตรงกันข้ามกับแถบบนตัวม้าลาย

ปลาม้าลายเป็นปลาที่ว่องไวทั้งในการว่ายน้ำและการแพร่พันธุ์ปลาม้าลายผสมพันธุ์กันด้วยความรวดเร็วมาก ขณะที่มันว่ายไปตามความยาวของตู้เลี้ยงก็จะปล่อยไข่ออกมา ไข่ก็จะร่วงพรูลงสู่ก้นตู้เลี้ยง ในตู้ปลาขนาดกลางที่ใส่น้ำสูง 20 ซม. ปลาม้าลายจะว่ายรอบตู้ปลาได้สองรอบอย่างสบาย ๆก่อนไข่ที่มันปล่อยออกจากท้องจะตกถึงพื้นก้นตู้เลี้ยง นี่เป็นปัญหาของนักเลี้ยงปลาเพราะเมื่อแม่ปลาว่ายมาพบไข่มันก็จะกินไข่ทันที แล้วก็ปล่อยไข่ชุดต่อไปออกมาอีกเมื่อว่ายกลับมาพบไข่ก็จะกินอีก นักเลี้ยงปลาได้ค้นหาวิธีป้องกันไข่ปลาม้าลายเพื่อไม่ให้ตกเป็นอาหารของตัวแม่ และมีอีกหลายวิธีทั้งนี้แล้วแต่ความคิดของผู้เลี้ยงวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลมากแล้วก็คือเป็นวิธีสังเกตเพศปลาม้าลายได้อีกวิธีหนึ่ง หลังจากปล่อยปลาตัวเมียลงในตู้แล้วหนึ่งหรือสองวัน จึงจับปลาตัวผู้ที่ว่องไวและแข็งแรงใส่ลงไปสามหรือสี่ตัว อย่าเลือกปลาตัวผู้ที่ไม่ยอมเข้ากับฝูงใส่ลงไปในตู้เพาะพันธุ์เพราะมันจะไม่ช่วยในการผสมพันธุ์แล้วมันยังจะคอยกินไข่ที่ตัวเมียไข่ออกมาด้วย
ปลาม้าลาย
การที่ใส่ปลาตัวผู้ สามหรือสี่ตัวลงไปในตู้เพาะพันธุ์นั้น มีเหตุผลอยู่ 2 ประการคือ
ประการแรก เพื่อสังเกตว่า ตัวไหนบ้างที่ไม่ยอมว่ายเข้าฝูง จะได้จับออกได้ทันท่วงที

ประการที่สอง สมมุติว่าเราดูเพศปลาได้อย่างถูกต้องการที่ใส่ปลาตัวผู้ลงไปสามหรือสี่ตัวก็เพื่อให้ไข่ที่ปลาตัวเมียปล่อยออกมาได้ผสมทั่วถึงหมดทุกฟอง ถ้าใส่ปลาตัวผู้เพียงตัวเดียว ตัวเมียอาจวางไข่มากเกินไปจนน้ำเชื้อปลาตัวผู้ผสมไม่ทั่วถึงหมดทุกฟองภายหลังที่วางไข่แล้ว ท้องของปลาตัวเมียจะแห้ง ตักปลาทุกตัวออกจากตู้ไปใส่ไว้ในตู้เลี้ยงตามเดิม ในตู้ที่มีไข่ปลาอยู่

Tuesday, 29 March 2011

ปลาเทวดา

ชื่อไทย ปลาเทวดา
ชื่ออังกฤษ Angel fish

ปลาเทวดา (Angel fish) ชื่อสามัญเรียกชื่อปลาน้ำจืดในสกุล Pterophyllum ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) มีรูปร่างโดยรวมเป็นรูปสี่เหลี่ยมรูปว่าว ลำตัวแบนข้างมาก มีปากขนาดเล็ก ครีบหลังเป็นกระโดงสูงอยู่ค่อนไปทางด้านหาง ครีบหลังบานยาวออกมาจากลำตัว ครีบท้องมีอยู่หนึ่งคู่เรียวเล็กและปลายชี้แหลม

ทั้งนี้ ปลาเทวดา มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่อเมริกาใต้ แถบลุ่มน้ำโอริโนโก ลุ่มน้ำอเมซอน และลุ่มแม่น้ำใกล้เคียง โดย ปลาเทวดา นิยมอยู่เป็นฝูงในถิ่นที่มีพืชพรรณไม้น้ำขึ้นหนาแน่น และสภาพน้ำมีความเป็นกรดประมาณ 5-5.5

ปลาเทวดา
รูปร่างลักษณะปลาเทวดา
ปลาเทวดา เป็นปลาแบนข้าง ลำตัวกว้างลึก ครีบหลังเป็นกระโดงสูงอยู่ค่อนไปทางด้านหาง ครีบด้านท้องก็ทำนองเดียวกัน ครีบหางแบนเป็นแพนใหญ่ รูปทรงเป็นสามเหลี่ยมมุมฉากริมฝีปากค่อนข้างเล็กดวงตากลมโต ปลาเทวดามีหลายสี ตามสายพันธุ์แตกต่างกันออกไป เช่น เทวดาดำ เทวดาหินอ่อน เทวดาขาว เป็นต้น

อุปนิสัยปลาเทวดา
ปลาเทวดา เป็นปลาที่แปลก บางครั้งก็เป็นปลารักสงบ ชอบอยู่นิ่ง ๆ ไม่ตื่นตกใจง่าย แต่ในทางตรงกันข้าม บางครั้ง ปลาเทวดา ก็มีนิสัยก้าวร้าว หวาดระแวงขี้ตื่นตกใจ ปลาเทวดา บางตัวเลี้ยงให้คุ้นเคยได้ง่าย แต่บางตัวคุ้นเคยยาก ไม่ยอมกินอาหารและเป็นปลาที่ค่อนข้างใจเสาะ เสียชีวิตง่าย ถ้าการดูแลเอาใจใส่ไม่ดี ถ้าน้ำในตู้เสียและผิดปกติไป ปลาเทวดา ก็จะแสดงอาการไม่ปกติทันที

การเลี้ยงดูปลาเทวดา
โดยทั่วไป ปลาเทวดา เป็นปลารักสงบ พอจะปล่อยเลี้ยงรวมกันหลาย ๆ ตัวได้ในตู้กระจกที่กว้างขวางพอ และมีพันธุ์ไม้เป็นที่หลบอาศัยบ้าง ปลาเทวดา เมื่อจับคู่กัน แม่จะวางไข่ติดกับวัสดุในน้ำ เช่น ใบไม้ รากไม้ หรือแผ่นหิน สำหรับอาหารที่ให้ได้แก่ ไรน้ำ ลูกน้ำ เนื้อกุ้งสับ และอาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นต้น

Thursday, 24 March 2011

การเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลากัด

ปลากัด เป็นปลาประเภทสวยงาม นิยมเลี้ยงไว้ในขวดหรือเลี้ยงไว้กัดเป็นเกมส์กีฬา เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ธรรมชาติของปลากัดจะมีความอดทน เลี้ยงง่าย และสามารถขายได้ราคาดี มีการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายทั้งใน และต่างประเทศ

พันธุ์ปลากัดที่นิยมเลี้ยงในบ้านเรา มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
1. ปลากัดไทยหรือปลากัดลูกหม้อ

2. ปลากัดจีน

การเลี้ยงปลากัดต้องเลี้ยงเดี่ยวในภาชนะใส โดยใช้ขวดโหลรูปทรงกลมหรือเหลี่ยม และยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น อ่างน้ำ โอ่ง กระชอน สวิงตักลูกปลา กรวด ทราย หิน สาหร่าย เป็นต้น น้ำที่นำมาใช้เลี้ยงปลากัดต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำฝนเป็นน้ำที่ดีที่สุด น้ำเหล่านี้ควรพักทิ้งไว้ 2-3 วัน จึงถ่ายลงขวดที่เลี้ยง

ปลากัด
วิธีการเพาะพันธุ์ปลากัด
นำปลากัดตัวผู้และตัวเมียใส่แยกขวด แล้วนำมาเทียบกันไว้ประมาณ 15 - 20 วัน เพื่อให้ตัวเมียพร้อมที่จะไข่เตรียมบ่อเพาะใช้รองปูน หรือถังซีเมนต์ขนาด 0.80 เมตร ใส่น้ำให้สูงลึก 1 ฝ่ามือ แล้วใส่ต้นผักบุ้งลงไปพอประมาณปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไว้รวมกัน ทิ้งไว้จนกว่าแม่พันธุ์จะไข่ โดยสังเกตที่หวอดที่เป็นฟองอากาศ เมื่อปลาไข่แล้วจะเห็นคล้ายเม็ดสาคูที่หวอด ให้เอาแม่พันธุ์ออก แล้วปล่อยให้พ่อพันธุ์ฟักไข่ต่อไป จนกว่าปลากัดจะโตจนสามารถกินลูกน้ำได้

เมื่ออายุได้ 4-5 เดือน คัดตัวผู้ใส่ขวดเพื่อจำหน่ายหรือประดับบ้าน ส่วนตัวเมียแยกไว้เป็นแม่พันธุ์ เพราะมีลักษณะสีไม่สวยงาม ไม่สดใสซีด ตัวเล็กกว่าตัวผู้

Tuesday, 22 March 2011

ปลากัด

ปลากัด Betta splendens Regan
เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อไว้ดูเล่นและเพื่อกีฬากัดปลาและเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศมานานเช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย ปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยได้ส่งปลากัดไปขายต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท

ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว ครีบและหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าปลาเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะพันธุ์และการคัดพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ได้ปลากัดที่มีสีสวยงามหลายสี อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก และจากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยอาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลอง ฯลฯ

ปลากัด



ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเรียกกันว่า ปลากัดป่าหรือปลากัดทุ่ง ที่มีลำตัวค่อนข้างเล็กบอบบางสีน้ำตาลขุ่นหรือเทาแกมเขียว นำมาเพาะเลี้ยงและคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่รูปร่างแข็งแรง ลำตัวหนาและใหญ่ขึ้น สีสันสวยสด เช่น สีแดงเข้ม สีน้ำเงินเข้ม น้ำตาลเข้ม หรือสีผสมระหว่างสีดังกล่าว และเรียกปลากัดที่ได้จากการคัดพันธุ์เพื่อการต่อสู้นี้ว่า ปลากัดหม้อ ปลากัดลูกหม้อ หรือปลากัดไทย ต่อมาได้มีผู้พยายามคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย ซึ่งนิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่าปลากัดจีนหรือปลากัดเขมร ต่างประเทศรู้จักปลากัดในนาม Siamese fighting fish

Sunday, 20 March 2011

การเลือกซื้อปลาหมอสี

การเลือกซื้อปลาหมอสีควรพิจารณาดังนี้
1. ลูกตา ควรพิจารณาเลือกปลาที่มีลูกตาใส ไม่เป็นสีขาวขุ่น มองหน้าตรงแล้วระดับตาสองข้างเท่ากัน ปลาบางชนิดจะมีลูกตาจมลงไปในเบ้าตา ซึ้งถ้าจมเท่ากันสองข้างไม่ถือว่าเป็นตำหนิ นอกจากจมเพียงข้างเดียว ถ้าปลาตานูนแบบปกติทั่วไป ก็ควรจะนูนเท่ากันทั้งสองด้าน ไม่ควรเลือกปลาตาเหลือก ตาคว่ำ เพราะการแก้ไขไม่มีครับ

2. ครีบว่าย คือครีบที่ติดกับเหงือกทั้งสองข้างของตัวปลา จุดนี้ผู้ซื้อมักมองข้ามกันเสมอ ครีบว่ายที่ดีนั้นควรจะมีความยาวสั้นเท่ากันทั้งสองด้านไม่แหว่งวิ่น ครีบว่ายต้องไม่บิด ไม่มีเม็ดสาคู ปูด งอ

ปลาหมอสี
3. ครีบบน คือ กระโดงบน ควรจะเลือกพิจารณาอย่างละเอียด เพราะดูไม่ง่ายโดยเฉพาะปลาที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆกระโดงบนที่ดีนั้น ควรมีระดับความสูงไล่ระดับจากต่ำไปหาสูง เมื่อดูจากทางด้านส่วนหัวของปลานั้นกระโดงจะเริ่มที่บริเวณใกล้ ๆ กับลูกตาของปลา และเป็นเส้นกระดูกไล่กันไปตามระดับจนถึงส่วนท้ายของตัวปลา เส็นกระดูกหรือเส้นกระโดงแต่ละเส้นควรไล่ระดับสวยงามไม่หัก หรือขาดหายไป และควรกาง แผ่ ได้เต็มที่ ไม่ห่อ ไม่ควรเลือกปลาที่กระโดงบน ปูด งอ หรือปลายกระโดงชี้ฟ้า ชี้ดิน คด งอ

4. หางปลา หางปลาที่ดี ควรจะกางแผ่ได้เต็มที่ ข้อหางไม่คด หรือไม่งอไปด้านใดด้านหนึ่งหางปลาควรกว้างไม่ยาวเกินไปมีขนาดเหมาะสมกับตัวปลา หางปลาที่มีขนาดใหญ่ มักมีคนนิยมมาก เนื่องจากเมื่อปลากางแผ่เต็มที่ สามารถที่จะกางจนชิดครีบบน ครีบล่าง ทำให้ไม่มีช่องว่างระหว่างครีบ ทำให้ดูตัวปลามีลักษณะกว้าง กลม สั้นขึ้น

5. ครีบล่าง คือกระโดงล่าง ควรจะเลือกปลาตัวที่มีกระโดงสมบูรณ์ ในลักษณะเช่นเดียวกับการดูครีบบน คือเส้นกระดูกแต่ละเส้นต้องไล่ระดับอย่างเป็นระเบียบ ไม่ฉีกขาด หัก งอ แม้แต่เส้นเดียว

6. ครีบคู่ หรือ ตะเกียบ หรือ ครีบที่อยู่ตรงใต้อกของปลามีลักษณะเป็นคู่อยู่ใกล้กันควรจะเลือกโดยดูให้ครีบคู่ทั้งสองข้างมีความยาวเท่ากัน ไม่ขาดหายไปด้านใดด้านหนึ่ง ในปลาไซซ์ไม่เกิน 3" ตะเกียบไม่ควรเกินรูทวาร ซึ่งอาจถูกสารกระตุ้น (ฮอร์โมน) เร่งเครื่องครีบปลาได้ ซึ่งมีผลทำให้ปลาเป็นหมันได้ ไม่ควรเลือกตะเกียบที่บิดงอ คต ปูด บวม แสดงถึงการผสมพันธุ์ในสายเลือด หรือ IN BREED ซึ่งก่อให้เกิดความพิการในรุ่นลูกได้

Friday, 18 March 2011

การเลี้ยงปลาหางนกยูง

เลี้ยงปลาหางนกยูงให้สีสวย
ปลาหางนกยูงจัดเป็นปลาสวยงามประเภทหนึ่งที่มีผู้นิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น พันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มีประมาณ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ Cobra (คอบร้า) Tuxedo (ทักซิโด้) Mosaic (โมเสค) Grass (กร๊าซ) และ Sword tall ( นกยูงหางดาบ) พันธุ์เหล่านี้ได้รับการปรับปรุงให้มีลักษณะสวยงาม แข็งแรงลำตัวใหญ่สมส่วน ไม่คดงอ มีการทรงตัวปกติ ครีบหางใหญ่ไม่หักพับขณะว่าย และที่สำคัญมีสีสันลวดลายตรงตามสายพันธุ์ สำหรับวิธีเลี้ยงปลาหางนกยูงให้มีสีสันสวยงาม เพื่อให้ได้ราคาดี มีขั้นตอนดังต่อไปนี้


ปลาหางนกยูง
เลี้ยงปลาหางนกยูงแบบมืออาชีพ
ปลาหางนกยูงเป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง กินสัตว์น้ำตัวเล็กเป็นอาหาร รวมทั้งลูกปลาตัวเล็กๆ ที่เกิดใหม่ด้วย เมื่อปลามีอายุประมาณ 3 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์ได้แล้ว ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องแยกปลาเพศผู้กับเพศเมียไว้คนละบ่อ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กันเอง การแยกเพศทำได้เมื่อลูกปลามีอายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไป วิธีเลี้ยงปลาหางนกยูง มีขั้นตอน ดังนี้

- เตรียมบ่อที่ใช้เลี้ยงตามต้องการ ทำความสะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง หลังจากนั้นเปิดน้ำใส่แช่ทิ้งไว้ 1 วัน ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง

- น้ำที่ใช้ใส่บ่อเลี้ยงปลา ต้องเป็นน้ำสะอาด

- น้ำประปาต้องไม่มีคลอรีนเจือปนอยู่ โดยพักน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์

- น้ำบาดาลทำเช่นเดียวกับน้ำประปา คือพักน้ำทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ และเติมออกซิเจนตลอดเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ

- ดูค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) โดยใช้กระดาษทดสอบค่า pH จุ่มในน้ำ แล้วนำสีที่ได้มาเทียบค่า ให้มีค่าประมาณ 6.5 – 7.5 (กระดาษทดสอบหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป)


Thursday, 17 March 2011

ปลาออสการ์

ถิ่นกำเนิดปลาออสการ์
ปลาออสการ์ Oscar,Velvet, Cichlid จัดเป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ พบมากในบริเวณลุ่มน้ำอเมซอนและประเทศปารากวัย เป็นปลาที่อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาเทวดา, ปลาหมอสี และปลาปอมปาดัวร์ และเป็นปลาที่รู้จักกันทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ เพราะปลาชนิดนี้มีทั้งความสวยงามบวกกับความมีเสน่ห์ในตัวขนาดพอเหมาะและสง่างาม ตลอดจนสีสันที่ไม่มีการตกแต่งเพิ่มเติม เหตุผลนี้จึงทำให้ปลาออสก้าร์ได้รับความนิยมจากหมู่นักเพาะพันธุ์ปลามาโดย ตลอดจนถึงปัจจุบันนี้

ปลาออสการ์ที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อจับได้ พบว่าสีสันแปลกตาไม่สวยงามเหมือนกับเพาะพันธุ์ขึ้นเอง เนื่องจากคุณค่าของอาหารที่ปลากินเข้าไปมีน้อย จึงทำให้ระบบสีสันดำ ลำตัวใหญ่ หรืออาจมีสีอื่นๆ ปะปน นิสัยโดยธรรมชาติแล้ว ปลาชนิดนี้จัดได้ว่าเป็นปลาที่ดุร้าย กินเนื้อและกินสัตว์ที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร สำหรับปัจจุบันนี้มีการเพาะพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์เกิดขึ้นอย่างมากมาย
ปลาออสการ์

ลักษณะพันธุ์
ปลาออสการ์เมื่อเจริญเติบโตออกจากไข่ ลำตัวจะมีสีเขียว ตามเกล็ดและผิวหนังมีลวดลายประกอบกับแถบสีที่แตกต่างกัน จนถึงระยะเติบโตเต็มที่ ลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีดำ มีลายสีส้มหรือสีส้มแดง ดูสวยงามและสะดุดตากว่าปลาสวยงามชนิดอื่นๆ ลำตัวค่อนข้างกว้างหนา ปากยื่นออกมาเล็กน้อย แนวลำตัวด้านบนโค้งมน ลักษณะพันธุ์ปลาออสก้าร์ที่สวยงาม ซึ่งทำให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักเมืองไทยเรื่อยมาในนามของ "ราชาปลาออสก้าร์" โดยแบ่งออกได้ 2 พันธุ์

1. ปลาออสก้าร์ลายเสือ เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม บนลำตัวมีสีส้มหรือส้มสลับสีดำเป็นลวดลาย จึงทำให้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการสูงมาก ซึ่งปลาชนิดนี้เกิดจากการผสมผสานภายในประเทศไทย และเป็นปลาที่สร้างชื่ออันลือลั่นมาแล้ว และได้สมญานามว่า "ราชาออสก้าร์ลายเสือ"

2. ปลาออสก้าร์ลายทอง ลักษณะลำตัวมีสีส้ม หรือสีส้มแดงตลอดทั้งลำตัว เป็นอีกพันธุ์หนึ่งที่ได้รับการผสมพันธุ์ภายในประเทศไทย และมีราคาค่อนข้างแพง ปลาออสก้าร์ลายเสือจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและนอกประเทศมากขึ้นตามลำดับ

เทคนิคการเลี้ยงปลานีออน

เทคนิคการเลี้ยงปลานีออน
ปลานีออน (Neon Tetra) ปลานีออนเป็นปลาขนาดเล็ก ที่มีสีสันสะดุดตา สีลำตัวคล้ายกับมีแสงเรือง ทำให้ดูเด่น เป็นปลาที่นิยม ของผู้เลี้ยงปลาโดยทั่วไป มาจากประเทศแถบอเมริกาใต้ ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย ด้านข้างลักษณะแบน มีแถบสีน้ำเงินแกมเขียวสดใส เรืองแสง คล้ายแสงนีออนคาดยาว ถึงโคนหาง ด้วยเหตุนี้จึงมีชื่อว่า ปลานีออน ปลายหางมีสีแดง ชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม นิสัยรักสงบ เลี้ยงรวมกับปลาเล็กด้วยกันได้ หากินได้ทุกระดับน้ำ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง กินอาหารจำพวกไรแดงและลูกน้ำ เป็นปลาที่กินอาหาร ได้ว่องไวมาก เลี้ยงง่ายแต่ก็ใจเสาะตกใจง่าย ถ้าผู้เลี้ยงจับหรือเคลื่อนย้ายปลา โดยไม่ระมัดระวังก็อาจทำ ให้ปลาช็อกตายได้ง่าย การเลี้ยงปลาชนิดนี้จึงควรมีสาหร่ายหรือพืชน้ำอื่นๆ ไว้ในตู้ปลาด้วย เพื่อใช้เป็นที่กำบังของปลาเมื่อเวลาตกใจ
ปลานีออน

อุปกรณ์การเลี้ยง
1. ตู้ปลาขนาด 14 นิ้วขึ้นไป การเลี้ยงปลานีออนให้สวยนั้นจะต้องเลี้ยงรวมกับต้นไม้น้ำและมีโขดหินให้ปลาซ่อนตัวและวางไข่

2. แสงไฟ ถ้าหากเราจะเลี้ยงเพื่อความสวยงามแล้วเราจะเล่นแสงเพื่อให้แสงตัดสีกับตัวปลา แต่ถ้าหากว่าเราจะเพาะนั้น แสงไฟที่แนะนำจะเป็นหลอดไฟกลมเล็ก 15 วัตต์ เนื่องจากไข่ของปลานั้นจะมีผลต่อแสงไฟค่อนข้างมาก เพราะจะทำให้ไข่ปลาเสียและฝ่อในที่สุด

3. ระบบกรอง จะใช้ระบบกรองข้าง ซึ่งจะช่วยให้การเลี้ยงง่ายขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเลี้ยงปลานีออนหรือปลาทุกชนิดก็คือระบบน้ำที่เป็นสภาพแวดล้อม ซึ้งจะเลี้ยงปลานีออนในช่วง pH 5.0-6.0 และอุณหภูมิที่ต้องการคือ 24 องศาเซลเซียส และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 1 สัปดาห์

4. Heater มีความจำเป็นต่อปลามากในฤดูหนาว ซึ่งอุณหภูมิที่ปลานีออนต้องการคือ 23-30 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ Heater นี้ยังช่วยให้ปลาปลอดจากโรคจุดขาว เนื่องจากในฤดูหนาวปลาจะไม่ค่อยเคลื่อนไหว จะทำให้ปลาอ่อนแอ และเชื้อโรคจะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงนี้ ดังนั้นการใช้ Heater ก็จะช่วยให้ดีขึ้น

5. ยาปรับสภาพน้ำ จะปรับสภาพน้ำให้เหมือนน้ำที่มาจากแหล่งที่เลี้ยง อาจใช้น้ำหมักจากใบหูกวางก็ได้

6. อาหาร ใช้อาหารสดพวกอาทีเมีย หรือ ไรแดง

Wednesday, 16 March 2011

ปลาเสือตอ

ปลาเสือตอ
เป็นปลาสวยงามที่นักเลี้ยงปลารู้จักกันเป็นอย่างดีในนาม "Siamese Tigerfish" โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "Coius Microlepis" โดยสามารถพบปลาชนิดนี้ในประเทศทางแถบร้อนเช่น อินโดนีเซีย ไทย พม่า เขมร แต่ในปัจจุบันพบได้น้อยตัวเต็มที

ถิ่นที่อยู่อาศัย
มีชุกชุมบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ในแม่น้ำเจ้าพระยา บึงบอระเพ็ดจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีพบที่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำโขง ส่วนในต่างประเทศพบที่ กัมพูชา สุมาตรา พม่า บอร์เนียว มเลเซีย และอินโดนีเซีย

ปลาเสือตอ

รูปร่างลักษณะ
เป็นปลาที่มีรูปร่างค่อนข้างแปลก หัวแหลมท้ายกว้าง ลำตัวค่อนข้างลึกแบนข้าง ลำตัวสีครีมหรือสีน้ำตาลอ่อน จุดเด่นคือมีลายดำพลาดขวางลำตัว 6 ลาย จงอยปากยื่นยาว ปากกว้าง ดวงตากลมมีขนาดใหญ่ ครีบหลังมีหนามแหลมแข็งแรง ครีบหางกลมแบบพัด ในแหล่งน้ำธรรมชาติอาจพบ มีความยาวประมาณ 40 ซม. สำหรับปลาเพศผู้หรือเมียค่อนข้างดูยาก

อุปนิสัย
ตามธรรมชาติปลาเสือตอชอบหากินอยู่ในระดับน้ำลึกประมาณ 2 – 3 เมตร ไม่ชอบที่ซึ่งมีพันธุ์ไม้น้ำขึ้นหนาแน่น แต่ชอบอยู่ในที่ซึ่งมีเสาหลักต่อไม้ใต้น้ำ คอยจ้องจับเหยื่อโดยแฝงตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ ซึ่งการชอบอาศัยอยู่ที่ตอไม้นี่เองจึงถูกเรียกว่าปลาเสือตอ ปลาเสือตอตัวใหญ่ ๆ อาจมีน้ำหนักถึง 5 กิโลกรัม และมีไข่เป็นจำนวนมากหลายแสนฟอง ถ้าเลี้ยงให้สมบูรณ์ดีอาจจับคู่วางไข่ในบ่อหรือในตู้กระจกได้ แต่ปัจจุบันนี้นิยมใช้วิธีผสมเทียมมากกว่า ปลาเสือตอเดิมเป็นปลาแม่น้ำที่จับขึ้นมาเพื่อบริโภคเพราะเป็นปลาเนื้อดีรสอร่อยและมีราคาแพง เช่นที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งปลาเสือต่อขึ้นชื่อมาก ปัจจุบันมีผู้นิยมเลี้ยงเป็นสวยงาม และค่อนข้างหายากขึ้น

การเลี้ยงดู ปลาเสือตอถ้านำมาเลี้ยงในบ่อหรือในตู้กระจกควรใช้ท่อนไม้ รากไม้น้ำแทนพืชน้ำ เพราะมันชอบอย่างนั้น แต่ก็สามารถใช้พืชน้ำได้ถ้าจำเป็น ปลาเสือตอจะพยายามสร้างที่หลบมุมด้วยเศษไม้บริเวณมุมตู้ ไม่ค่อยชอบออกมาโชว์ตัวให้เห็นบ่อยนัก นอกจากเวลาต้องการอาหาร อาหารที่ใช้เลี้ยงได้แก่ลูกกุ้ง ลูกปลา ตัวแมลง และถ้าฝึกให้ดีในตู้กระจกอาจให้เนื้อปลา เนื้อกุ้งก็ได้ไม่ควรปล่อยปลาเสือตอรวมกับปลาอื่น นอกจากปลาเสือตอด้วยกัน

Monday, 14 March 2011

ปลาลักเล่ห์

ปลาทองพันธุ์นี้สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ชนิด ใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ
1.ปลาทองตาโปนสีแดง หรือเป็นปลาทองตาโปนที่มีสีแดงตลอดทั้งลำตัว ชาวญี่ปุ่นเรียกพันธุ์นี้ว่า Aka Demekin

2.ปลาทองพันธุ์เล่ห์ หรือที่คนไทยมักนิยมเรียกกันจนติดปากกันว่า “ปลาลักเล่ห์” เป็นปลาทองตาโปนที่มีสีดำตลอดทั้งลำตัว นอกจากนี้ยังแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ย่อยต่าง ๆ ออกไป เช่น
- พันธุ์หางตุ๊กตา ปลายหางของปลาจะเรียบเสมอกันจนดูคล้ายกระโปรง
- พันธุ์หางยาวธรรมดา ซึ่งเป็นปลาที่มีราคาแพงกว่าชนิดหางตุ๊กตา
- พันธุ์เล่ห์นาก หรือ ลักเล่ห์นาก
- พันธุ์แพนด้า ที่มีสี Marking คล้ายหมีแพนด้า โดยเฉพาะตรงส่วนหน้า (พันธุ์ใหม่สุด)

3.ปลาทองตาโปน 3 สีคนไทยมักนิยมเรียกกันว่า “ลักเล่ห์ 5 สี” นั่นเอง

ปลาลักเล่ห์
ลักษณะเด่นของปลาทองพันธุ์นี้ก็คือ ตาของปลาจะยื่นโปนออกไปข้างหน้าจนดูคล้ายกับกล้องส่องทางไกล จึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Telescope Eyes” ลักษณะของตาปลาทองชนิดนี้ที่ดีควรจะต้องโต และตาสองข้างต้องมีขนาดเท่า ๆ กัน แก้วตาควรจะกลมไม่แบน ปลาชนิดนี้เมื่ออายุยังน้อยลูกตาจะไม่โปนออกมา โดยทั่วไปเมื่อลูกปลามีอายุได้ 3-6 เดือน ลูกตาจึงจะค่อย ๆ ยื่นโปนออกมาชัด หากตาโปนขึ้นเพียงข้างเดียวจะทำให้ปลาด้วยราคาถูกลงทันที โดยมากปลาทองตาโปนหากผู้เลี้ยง ๆ ไม่ดี ปลามักจะตาบอด เนื่องจากตาของปลามักชนถูกขอบตู้หรือขอบอ่างอยู่เสมอ ดังนั้นภาชนะที่ใช้เลี้ยงจึงควรเป็นบ่อหรืออ่างที่มีลักษณะกลมและปากบ่อหรืออ่างควรป้านออก เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาว่ายไปชนถูกขอบบ่อ

ขนาดของปลาทองพันธุ์นี้จะมีขนาดเล็ก โดยเฉลี่ยยาวไม่เกิน 6 นิ้ว จัดว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างเปราะบางเลี้ยงยาก ดังนั้นจึงเป็นปลาที่ไม่เหมาะสำหรับนำเลี้ยงปลามือใหม่ที่จะนำไปเลี้ยง และเนื่องจากปลาทองชนิดนี้เป็นปลาที่มีสายตาใช้การได้ไม่ดีเท่าใดนัก จึงทำให้ปลามีประสาทในการดมกลิ่นดีกว่าพันธุ์อื่น ๆ สำหรับปัญหาที่มักเกิดกับปลาทองเล่ห์ คือ ปลาทองชนิดนี้เมื่อมีอายุขัยมากขึ้นสีมักจะกลาย ทำให้ขาดความสวยงาม

จากการศึกษาค้นคว้าพอทราบว่าเหตุที่ปลาทองพันธุ์นี้มีชื่อว่า “พันธุ์เล่ห์” เพราะเจ้าของร้านเล่ห์ประดิษฐ์ซึ่งเป็นผู้ผลิตแรกเก็ตไม้แบดมินตันเป็นผู้นำปลาทองชนิดนี้เข้ามาเลี้ยงและเผยแพร่ในเมืองไทย จึงเรียกปลาทองตาโปนที่สีดำนี้ว่า “พันธุ์เล่ห์” ตั้งแต่นั่นเป็นต้นมา ซึ่งภายหลังแผลงกันจนเป็น “ปลาลักเล่ห์”

สำหรับปลาทองตาโปน 3 สี นั้น เป็นปลาทองที่มีเกล็ดโปร่งใส โดยมีลวดลายและสีสันอยู่ภายในซึ่งเราสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากดูอย่างผิวเผินแล้วอาจเข้าใจว่า ลวดลายและสีสันบนตัวปลาเป็นสีบนเกล็ดปลา แต่ที่แท้จริงแล้วสีที่เห็นเป็นสีที่ซ่อนอยู่ใต้เกล็ด สำหรับสีของปลาทองชนิดนี้ได้แก่ แดง ขาว ดำ ฟ้า น้ำตาลออกเหลือง แดงออกม่วง ปลาที่มีครบทั้ง 5 สี อยู่ในตัวเดียวจะเป็นปลาที่มีราคา ซึ่งปลาที่มีลักษณะเช่นนี้เป็นปลาที่หาได้ยาก

นอกจากนี้ปลาทองพันธุ์ตาโปน หรือ พันธุ์เล่ห์ ยังสามารถแยกประเภทออกไปตามลักษณะของหางออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ
1.ปลาทองชนิดหางแฉก ซึ่งในบ้านเรานิยมเรียกกันว่า “หางผีเสื้อ” จัดว่าเป็นปลาที่ได้รับความนิยมมากกว่าปลาทองประเภทที่จะกล่าวต่อไป

2.ปลาทองหางซิว มีลักษณะคล้ายหางปลาทองสามัญ แต่จะเรียวยาวมากกว่าคล้ายหางปลาซิว

Sunday, 13 March 2011

ปลาสอด

ปลาสอดแดง (Xiphophorus helleri)
ชื่อไทย ปลาสอดแดง หรือปลาหางดาบ
ชื่ออังกฤษ Red swordtail
ถิ่นที่อยู่อาศัย เม็กซิโกตอนใต้ กัวเตมาลา

รูปร่างลักษณะ
ปลาสอดมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Swordtail แปลว่า ปลาหางดาบที่แท้จริงปลาในสกุลปลาสอดนี้มีหลายชนิด เช่น ปลามอลลี่ ปลามิดไนท์ ปลามูนฟิช ปลาเพลตี้ เป็นต้น ปลาสอดแดงลำตัวยาวเรียว แบนด้านข้างเล็กน้อย มีสีสวยงามสะดุดตา และลักษณะเด่นคือ ปลายหางที่ยื่นยาวออกไป ปลาสอดตัวผู้จะมีลักษณะสีเข้มกว่าตัวเมีย มีปลายหางยืดยาวออกไปและมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่าโกโนโปเดี้ยมอยู่ด้วย ปลาสอดเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัวเช่นเดียวกับปลาหางนกยุง ปลามิดไนท์และปลาเซลฟิน

ปลาสอด
ลักษณะนิสัย
ปลาสอดเป็นปลาสวยงามที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่ง เหมาะที่จะนำมาฝึกเลี้ยง สำหรับผู้ที่เริ่มเลี้ยงปลาและไม่ค่อยมีเวลามากนัก เพราะปลาสอดเป็นปลาเลี้ยงง่ายราคาซื้อขายไม่แพงนัก มีความทนทานดี ปลาสอดปล่อยลงเลี้ยงใส่พืชน้ำลงไปด้วย นอกจากเพื่อความสวยงามแล้วยังเป็นที่หลบซ่อนของลูกปลาตัวเล็ก ๆ ไม่ให้ถูกปลาใหญ่กินอีกด้วย

การเลี้ยงดู
ปลาสอดสามารถกินอาหารได้หลายชนิด เช่น รำละเอียด ไรน้ำ ลูกน้ำ หนอนแดง ตะไคร่น้ำในตู้กระจก หรืออ่างเลี้ยงปลา ปลาสอดก็สามารถเลี้ยงได้ สำหรับปัจจุบันนี้อาหารเม็ดลอยน้ำก็สามารถเลี้ยงปลาสอดได้เป็นอย่างดี

Wednesday, 9 March 2011

ลักษณะของเห็ดทะเล

ถิ่นที่อยู่อาศัยของเห็ดทะเล
เห็ดทะเลดำรงชีวิตอยู่ตามแนวปะการังทั่วไป มักพบอาศัยอยู่ในแนวปะการังน้ำตื้น (Fringing reef) ของเขตร้อนทั่วโลก เห็ดทะเลอาศัยและเจริญเติบโตบนก้อนหินหรือซากปะการังที่ตายแล้ว เป็นการดำรงชีวิตอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนย้าย หรืออาจมีการเคลื่อนที่เล็กน้อยเพื่อความ อยู่รอดและการขยายพันธุ์

การกินอาหารของเห็ดทะเล
ในเนื้อเยื่อตามร่างกายของเห็ดทะเลจะมีสาหร่ายเซลล์เดียวที่ชื่อว่า ซูแซนทาลี่ (Zooxanthallae) อาศัยอยู่และเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพา (Symbiosis) เห็ดทะเลจะได้รับสารอาหารจากการสังเคราะห์แสงของซูแซนทาลี่เป็นหลัก บางครั้งพบว่าซูแซนทาลี่ที่เจริญเติบโตมีจำนวนมากเกินไปเห็ดทะเลก็สามารถกรองกิน ซูแซนทาลี่นั้นได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น นอกจากนี้เห็ดทะเลบางชนิดยังสามารถจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกินเป็นอาหารเช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นต้น ซึ่งเป็นการกินอาหารอาหารของเห็ดทะเลอีกวิธีหนึ่ง

เห็ดทะเล


Monday, 7 March 2011

เห็ดทะเล

เห็ดทะเล
เห็ดทะเลเป็นสัตว์ทะเลสวยงามชนิดหนึ่งที่ผู้นิยมเลี้ยงปลาทะเลทั้งหลายนิยมเลี้ยงกันอย่างมาก เห็ดทะเลจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ของผู้เลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงาม แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว เห็ดทะเลนับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกตาและไม่คุ้นเคย และในบางครั้งหลายคนอาจเกิดความสับสนว่าเห็ดทะเลเป็นดอกไม้ทะเลชนิดหนึ่ง

นักชีววิทยาทางทะเล ได้จัดเห็ดทะเลไว้ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) ซึ่งเป็นพวกเดียวกับ ปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน ในครั้งแรกนักชีววิทยาทางทะเลเชื่อว่าเห็ดทะเลเป็นดอกไม้ทะเลชนิดหนึ่งจึงตั้งชื่อสามัญว่า Mushroom anemone เห็ดทะเลมีความสัมพันธ์ทางสรีระวิทยาของร่างกายคล้ายกับปะการังมากกว่าดอกไม้ทะเล แต่เห็ดทะเลไม่สามารถสร้างโครงสร้างหินปูนได้เหมือนปะการังจึงถูกจำแนกออกมาไว้คนละอันดับกับปะการังและดอกไม้ทะเล เห็ดทะเลมีการจัดลำดับทางอนุกรมวิธานดังนี้

เห็ดทะเล
- Phylum : Cnidaria
- Class : Anthozoa
- Suborder : Zoantharia
- Order : Corallimorpharia

แต่อย่างไรก็ตามเห็ดทะเลยังมีโครงสร้างร่างกายภายนอกคล้ายกับดอกไม้ทะเลมาก คือมีแผ่นปาก (Oral dish) ที่เปิดออกทางด้านบน และด้านล่างเป็นฐาน (Pedal dish) ทำหน้าที่ยึดเกาะกับวัสดุใต้น้ำ แผ่นปากจะมีช่องปากอยู่ตรงกลาง มีหนวดสั้นรอบปากหรือบางชนิดหนวดเล็กมากจนไม่สามารถสังเกตเห็นหนวดได้

Tuesday, 1 March 2011

ปลาตระกูลแทงค์

ปลาทะเลที่เลี้ยงได้ไม่ยากจนเกินไปนัก เหมาะสำหรับมือใหม่หัดเลี้ยง ซึ่งจะกล่าวถึงข้อดี - ข้อเสีย สำหรับปลาแต่ละตัวไว้สำหรับพิจารณาศึกษาข้อดีข้อเสียของปลาแต่ละพันธุ์แต่ละชนิดนะครับ

ปลาตระกูลแทงค์ ( ระดับความง่ายในการเลี้ยง : 7 )
เป็นปลาที่มีหลายพันธุ์ เช่น Blue tank ,Yellow tank ,Purple tank เป็นต้น สำหรับปลาที่แนะนำสำหรับมือใหม่ได้แก่ Brown tank , Baby tank เป็นปลาที่กินเยอะและถ่ายของเสียเยอะ ชอบว่ายน้ำ


ปลาตระกูลแทงค์ (Yellow Tank)
ข้อดี
1. เป็นปลาที่กินอาหารง่าย ทั้งอาหารสำเร็จรูป และ อาหารสด นอกจากนี้ยังเป็นปลาที่ชอบกินสาหร่ายหรือสามารถให้ผักกาดกินเป็นอาหารได้
2. เป็นปลาที่นิสัยไม่ดุร้าย สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆได้
3. เป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม สะดุดตา มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
4. มีหลายราคา ตั้งแต่ ปานกลางไปจนถึงแพง

ข้อเสีย
1. เนื่องจากเป็นปลาที่กินมากและขับถ่ายของเสียมาก จึงจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงในตู้ที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น ประกอบกับนิสัยที่ชอบว่ายน้ำไปมาของมันด้วย
2.ตู้ที่เลี้ยงควรเป็นตู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3 - 6 เดือน เพื่อจะได้มีระบบที่เสถียรและสามารถรองรับของเสียที่เกิดขึ้นจากตัวปลาได้
3.เป็นปลาที่เป็นจุดขาวง่ายมาก ดังนั้นอุณหภูมิจะต้องเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด