Sunday 20 March 2011

การเลือกซื้อปลาหมอสี

การเลือกซื้อปลาหมอสีควรพิจารณาดังนี้
1. ลูกตา ควรพิจารณาเลือกปลาที่มีลูกตาใส ไม่เป็นสีขาวขุ่น มองหน้าตรงแล้วระดับตาสองข้างเท่ากัน ปลาบางชนิดจะมีลูกตาจมลงไปในเบ้าตา ซึ้งถ้าจมเท่ากันสองข้างไม่ถือว่าเป็นตำหนิ นอกจากจมเพียงข้างเดียว ถ้าปลาตานูนแบบปกติทั่วไป ก็ควรจะนูนเท่ากันทั้งสองด้าน ไม่ควรเลือกปลาตาเหลือก ตาคว่ำ เพราะการแก้ไขไม่มีครับ

2. ครีบว่าย คือครีบที่ติดกับเหงือกทั้งสองข้างของตัวปลา จุดนี้ผู้ซื้อมักมองข้ามกันเสมอ ครีบว่ายที่ดีนั้นควรจะมีความยาวสั้นเท่ากันทั้งสองด้านไม่แหว่งวิ่น ครีบว่ายต้องไม่บิด ไม่มีเม็ดสาคู ปูด งอ

ปลาหมอสี
3. ครีบบน คือ กระโดงบน ควรจะเลือกพิจารณาอย่างละเอียด เพราะดูไม่ง่ายโดยเฉพาะปลาที่เคลื่อนไหวเร็ว ๆกระโดงบนที่ดีนั้น ควรมีระดับความสูงไล่ระดับจากต่ำไปหาสูง เมื่อดูจากทางด้านส่วนหัวของปลานั้นกระโดงจะเริ่มที่บริเวณใกล้ ๆ กับลูกตาของปลา และเป็นเส้นกระดูกไล่กันไปตามระดับจนถึงส่วนท้ายของตัวปลา เส็นกระดูกหรือเส้นกระโดงแต่ละเส้นควรไล่ระดับสวยงามไม่หัก หรือขาดหายไป และควรกาง แผ่ ได้เต็มที่ ไม่ห่อ ไม่ควรเลือกปลาที่กระโดงบน ปูด งอ หรือปลายกระโดงชี้ฟ้า ชี้ดิน คด งอ

4. หางปลา หางปลาที่ดี ควรจะกางแผ่ได้เต็มที่ ข้อหางไม่คด หรือไม่งอไปด้านใดด้านหนึ่งหางปลาควรกว้างไม่ยาวเกินไปมีขนาดเหมาะสมกับตัวปลา หางปลาที่มีขนาดใหญ่ มักมีคนนิยมมาก เนื่องจากเมื่อปลากางแผ่เต็มที่ สามารถที่จะกางจนชิดครีบบน ครีบล่าง ทำให้ไม่มีช่องว่างระหว่างครีบ ทำให้ดูตัวปลามีลักษณะกว้าง กลม สั้นขึ้น

5. ครีบล่าง คือกระโดงล่าง ควรจะเลือกปลาตัวที่มีกระโดงสมบูรณ์ ในลักษณะเช่นเดียวกับการดูครีบบน คือเส้นกระดูกแต่ละเส้นต้องไล่ระดับอย่างเป็นระเบียบ ไม่ฉีกขาด หัก งอ แม้แต่เส้นเดียว

6. ครีบคู่ หรือ ตะเกียบ หรือ ครีบที่อยู่ตรงใต้อกของปลามีลักษณะเป็นคู่อยู่ใกล้กันควรจะเลือกโดยดูให้ครีบคู่ทั้งสองข้างมีความยาวเท่ากัน ไม่ขาดหายไปด้านใดด้านหนึ่ง ในปลาไซซ์ไม่เกิน 3" ตะเกียบไม่ควรเกินรูทวาร ซึ่งอาจถูกสารกระตุ้น (ฮอร์โมน) เร่งเครื่องครีบปลาได้ ซึ่งมีผลทำให้ปลาเป็นหมันได้ ไม่ควรเลือกตะเกียบที่บิดงอ คต ปูด บวม แสดงถึงการผสมพันธุ์ในสายเลือด หรือ IN BREED ซึ่งก่อให้เกิดความพิการในรุ่นลูกได้



7. ลำตัว โดยทั่วไปแล้ว ผู้เลี้ยงปลามักนิยมเลี้ยงปลาลักษณะสั้น กว้าง มากกว่าปลาที่มีลักษณะยาวตัวแคบลักษณะลำตัวที่ดีต้องไม่คต งอ ไม่ควรสั้นไป หรือ SHORT BODY เพราะปลา SHORT BODY ถือเป็นปลาพิการที่สมส่วนก็จริงแต่จะโตช้ามาก ๆ ควรเลือกปลากว้าง และไม่สั้นมากนัก

8. โหนก หรือหัวที่โหนกนูนของปลา ในการเลือกซื้อผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะเลือกปลาที่มีลักษณะโหนกอยู่แล้วยิ่งโหนกมากยิ่งดี หลักการซื้อควรดู ควรสังเกตุเลือกซื้อถ้าไปซื้อปลาที่มีโหนกอยู่แล้วก็ควรเลือกควรดูว่าโหนกของปลานั้นได้สมดุลซ้าย ขวา หรือไม่ เบี้ยวไปทางใดทางหนึ่งหรือไม่ หรือมียุบ ๆ บุ๋ม ๆ บ้างหรือไม่ โหนกที่ดีควรสูงกว่าไหล่บน หรือยื่นมาเสมอปากของปลาจะดีมีราคา

9. ปากของปลา ควรพิจารณาทั้งด้านข้าง และด้านหน้า (ด้านตรง) ถ้าเราไปพิจารณาด้านใดด้านเดียวจะทำให้ไม่เห็นตำหนิของปลา การมองปลาด้านหน้าปลา หรือด้านตรงจะทำให้เห็นว่าปากของปลาเบี้ยว หรือบิดไปด้านหนึ่งด้านใดหรือไม่ และการมองปากด้านข้างก็จะทำให้เห็นว่าปากของปลาหุบสนิทหรือไม่ ในปลาที่มีอายุมาก ๆ
ปากปลาอาจจะห้อยปิดไม่สนิทไม่ควรทำเป็นพ่อพันธุ์ เพราะน้ำเชื้ออาจจะไม่สมบูรณ์แล้ว ในปากของปลาจะมีผนังอยู่ใกล้ฟันปลาควรมองไม่เห็น ถ้าเห็นถือว่าไม่ดี

10. ลวดลายของปลา ปลาหมอสี CROSS BREED บางชนิดจะมีลักษณะเด่นที่ลวดลายบนลำตัว ในการพิจารณาเลือกซื้อนั้น จะขึ้นอยู่กับประเภทของปลาเป็นสำคัญ ถ้าเป็นปลาที่เน้นทางด้านมุก ก็ควรจะมีมุกทั้งตัว สม่ำเสมอ ถ้าเป็นปลาที่เน้นมาร์ค มาร์คก็ควรยาวตลอดตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์เป็นสำคัญ

11. นิสัยของปลา ในการเลือกซื้อแต่ละครั้ง ควรพิจารณาอุปนิสัย และการตื่นตัวของปลาเป็นสำคัญ ในปลาหมอสี CROSS BREED โดยสายพันธุ์แล้วเป็นปลาที่มีนิสัยกร้าวร้าว หวงถิ่นที่อยู่ จนดูมีความตื่นตัวขี้เล่นถ้าไปเจอปลาหลบ ซึม นิ่ง ไม่ตื่นตัว เบื้องต้นอาจจะไม่สมบูรณ์พึ่งนำมาฟอร์ม หรือหนักข้อขึ้นก็เป็นโรค หรือ พึ่งหายจากโรคก็เป็นได้ ไม่ควรซื้อนะครับ

12. ที่อยู่อาศัยของปลา ในการดูตำหนิของปลาต้องอาศัยการดูสภาพแวดล้อมที่เลี้ยงปลาด้วย ถ้าที่เลี้ยงไม่สะอาดอาจส่งผลต่อปลาได้ในอนาคต สวยแต่ขี้โรค ไม่ดีแน่ ๆ

No comments: