Wednesday, 29 June 2011

ปลาปักเป้าทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chonerhinus modestus.

ชื่อสามัญ : GOLD PUFFER , GREEN PUFFER
ชื่อไทย : ปักเป้าทอง ปักเป้าเขียว

ถิ่นอาศัย : แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง

ปักเป้าทอง หรือปลาปักเป้าเขียว เป็นปลาน้ำจืดและน้ำกร่อย จัดอยู่ในวงศ์ (Familty Tetraocloncidac) มีลักษณะเด่น คือ มีฟัน 4 ซี่ รูปร่างแบนข้างมากกว่าปลาปักเป้าทั่วไป มีดวงตาที่โต สีลำตัวเป็นสีเขียวทองสดใสด้านท้องสีขาว มีครีบหลังและครีบทวารค่อนข้างใหญ่ ครีบหางปลายตัดตรง มีลำตัวสีทองเหลือบเขียวแวววาว โดยที่ไม่มีลวดลายหรือจุดใด ๆ ทั้งสิ้น หลังมีสีเทาเงิน ใต้ท้องสีขาว มีหนามสั้น ๆ ฝังอยู่ใต้ผิว และสามารถสะบัดครีบว่ายน้ำได้เร็วกว่าปลาปักเป้าในสกุลอื่น ทำให้ว่ายน้ำเร็วกว่าปลาปักเป้าชนิดอื่นๆ นิสัยปลาชนิดนี้จะดุร้ายมากหากอยู่ในที่แคบจำกัดและถ้าหากอาหารไม่เพียงพอมักจะกัดทำร้ายกันเสมอ

ปลาปักเป้าทอง
ในธรรมชาติมักจะกัดกินปลาชนิดอื่น หรือแม้แต่ กุ้ง ปูและหอย โดยใช้ฟันที่คมแข็งแรง ทำให้ลูกปลาปักเป้าทองขนาดเล็กเป็นที่นิยมเลี้ยงเพื่อควบคุมและกำจัดหอยในตู้พรรณไม้น้ำ เนื่องจากเป็นปลาน้ำจืดแท้และไม่กินพรรณไม้น้ำ ข้อเสียของปลาชนิดนี้คือ ไม่สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ ปลาปักเป้าทองจะอาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นลงของแม่น้ำสายใหญ่ ปลาชนิดนี้จะอยู่รวมกันเป็นฝูงและจะกัดทำร้ายคนที่ลงไปในน้ำ เป็นปลาที่เด็กๆและชาวริมน้ำกลัวและเกลียดมากที่สุดชนิดหนึ่ง



การเลี้ยงปลาปักเป้าในตู้เลี้ยงเฉพาะ
สภาพน้ำ - เป็นน้ำจืดอาจใส่เกลือลงไปเล็กน้อย อุณหภูมิประมาณ 22-25 องศาเซลเซียส น้ำสะอาดมีระบบกรองที่ดี อ๊อกซิเจนค่อนข้างสูง pH 7-7.5

ขนาดตู้ - ความจุไม่ต่ำกว่า 100 ลิตร

สภาพแวดล้อม - ตกแต่งด้วยหินและตอไม้ มีมุมหลบซ่อนกระจายกัน อาจปลูกไม้น้ำที่มีลำต้นใหญ่แข็งแรง รวมในตู้ด้วยก็ได้

อุปนิสัย - ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง อาจจะกัดกันเองได้ถ้าเลี้ยงในพื้นที่แคบเกินไป ควรเลี้ยงอย่างน้อย 5-10 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดตู้ที่ใช้เลี้ยง

อาหาร - เนื้อสดทุกชนิด เช่น กุ้งฝอย ปลา ปลาหมึกและเนื้อสัตว์ต่างๆ

ปลาปักเป้าทองเป็นปลาของไทยที่สวยงามมากชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อรวมกลุ่มว่ายน้ำกันเป็นฝูง จัดเป็นปลาไทยที่น่าสนใจเลี้ยงอีกชนิดหนึ่ง

Monday, 27 June 2011

ปลาพาราไดซ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macropodus opercularis (Linnaeus, 1758)

ชื่อสามัญ : Paradise fish
ชื่อไทย : พาราไดซ์

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนทางตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เกาหลี ลำตัวมีขนาดเล็ก และมีอวัยวะช่วยหายใจ ที่เรียกว่า Labyrinth organ เหมือนกับในปลากัด ทำให้สามารถขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง และสามารถอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ ดังนั้นเราจึงสามรถเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กเหมือนปลากัดได้ ไม่จำเป็นต้องให้อากาศเพิ่มเติมได้ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง หนองบึง และในนาข้าว เป็นปลาที่รักความสงบ ว่ายน้ำเชื่องช้า และชอบพรรณไม้น้ำ กินอาหารประเภทตัวอ่อนของแมลงและอาหารมีชีวิตขนาดเล็ก

ปลาพาราไดซ์
ลักษณะทั่วไปของปลาพาราไดร์
ปลาพาราไดซ์มีขนาดลำตัวค่อนข้างแบน ครีบทุกครีบยาวแหลมเด่นเป็นพิเศษ ส่วนปลายครีบหางเว้าชี้แหลมยื่นยาวออกไปทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ลำตัวสีน้ำตาลอมแดงสลับด้วยสีเงินยวง ตรงบริเวณเหงือกมีสีส้มแดงแต้มด้วยสีดำเป็นจุดเห็นชัดเจนข้างละหนึ่งจุด ปลาบางตัวมีครีบหางสีแดง และยังมีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจายไปทั่ว ครีบหลัง และครีบก้น สีดำอมน้ำเงินยวง แต่ตัวผู้ส่วนนี้มีสีแดง ก้านครีบแข็ง และคม ตามธรรมชาติปลาพาราไดซ์มักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ ในแหล่งน้ำที่มีพื้นดินเป็นโคลนเลนระดับน้ำตื้นๆในสภาพที่เป็นกลาง และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในบ่อกลางแจ้ง แต่ปลาชนิดนี้มีนิสัยดุร้าย เกเร ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์จึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า



การเพาะพันธุ์
การเพาะพันธุ์นั้นทำได้ไม่ยาก ถ้าหากว่าใครเคยเพาะพันธุ์ปลากัดมาแล้วล่ะก็…หายห่วงเพราะวิธีการเป็นแบบเดียวกัน ก่อนที่จะทำการเพาะพันธุ์ ต้องทำการขุนปลาด้วยอาหารสด เช่น ไรแดง หนอนแดง ให้ปลามีความสมบูรณ์ก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถทำได้ช่วงไหนก็ได้ เพราะว่า ปลาพาราไดซ์นั้นสามารถเพาะพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นทำการอดอาหารปลา 1 วันก่อนทำการคัดปลา การคัดปลาต้องเลือกเพศผู้และเพศเมียที่มีความพร้อมโดยเพศผู้คัดตัวที่มีความสมบูรณ์ โดยดูจากครีบที่ไม่พิการ และเป็นเส้นยาว สีลำตัวเป็นสีสดเห็นชัดเจน และเลือกให้มีขนาดใหญ่กว่าแม่ปลาเล็กน้อย ส่วนปลาเพศเมียต้องเลือกที่ท้องเต่งๆ ดูลักษณะโดยรวมแล้วต้องสมส่วนและสมบูรณ์ ในการเพาะพันธุ์นั้นจะใช้อัตราส่วนปลาเพศผู้และเพศเมีย 1:1 เมื่อคัดได้แล้ว นำมาใส่ตู้เพาะพันธุ์ที่เตรียมไว้ ภาชนะอาจมีขนาดให้พอดีกับตัวปลา ขนาดปานกลาง มีพื้นที่สำหรับปลาว่ายน้ำบ้าง อาจใช้ตู้กระจกหรือกะละมัง ภาชนะจะต้องโล่ง ไม่ต้องให้อากาศ หาอะไรมาปิดไว้กันปลากระโดด จัดที่เพาะพันธุ์ให้อยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทและไม่มีสิ่งรบกวน ปลาจะก่อหวอดเหมือนกับปลากัด ขณะเพาะพันธุ์ต้องไม่เข้าไปรบกวนปลาบ่อยเกินไปเพราะจะทำให้ปลาตกใจและกินไข่ตัวเอง ไข่จะมีสีส้มขนาดเล็ก จากนั้นเมื่อปลาไข่แล้วให้ตักตัวเมียออก เนื่องจากปลาในกลุ่มปลากระดี่นี้ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่ปลา ประมาณ 2-3 วัน ลูกปลาจะฟักออกจากไข่ โดยลูกปลาที่ได้นี้ให้ทำการแยกออกมาอนุบาลในตู้ต่างหาก ให้กินอาหารจำพวกโรติเฟอร์ในช่วง 1-7 วันแรก เนื่องจากลูกปลามีขนาดเล็กมาก แล้วจึงเปลี่ยนอาหารเมื่อปลามีขนาดโตขึ้น

Saturday, 25 June 2011

ปลาน้ำดอกไม้

ชื่อไทยอื่นๆ : นวลจันทร์ทะเล ดอกไม้ ทูน้ำจืด ชะลิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chanos chanos
ชื่ออังกฤษ : MILK FISH

ถิ่นอาศัย บริเวณชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ยังพบตามแถบชายฝั่งอินโด-แปซิฟิค
ขนาด 1.5 เมตร

ลักษณะ ปลาน้ำดอกไม้
ลำตัวเรียวยาวและแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียดมาก เป็นเงาแวววาวระยิบระยับ พื้นลำตัวสีเงิน แผ่นหลังสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนหัวและปากมีขนาดเล็ก ตาขนาดค่อนข้างใหญ่ มีครีบ 7 ครีบ บริเวณโคนครีบมีจุดสีดำขนาดเล็กประกระจายอยู่ทั่ว หางมีลักษณะเป็นแฉกเว้าลึก จัดเป็นปลาที่มีความว่องไวปราดเปรียวมาก

อุปนิสัย ปลาน้ำดอกไม้
เป็นปลารักสงบ ว่ายน้ำเกือบตลอดเวลา ปกติอยู่รวมกันเป็นฝูงและว่ายโฉบเฉี่ยวไปมาอย่างแคล่วคล่องว่องไว

ปลาน้ำดอกไม้
การแพร่พันธุ์
แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ในเขตน้ำตื้นบริเวณชายฝั่ง โดยพ่อแม่ปลาจะอพยพจากทะเลเข้ามาวางไข่บริเวณที่น้ำจืดและน้ำทะเลบรรจบกัน หลังจากลูกปลาเติบโตในแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย พอแข็งแรงดีแล้วก็จะอพยพไปอยู่ในทะเล

การเลี้ยง ปลาน้ำดอกไม้
เป็นปลาน้ำกร่อยซึ่งสามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้งในน้ำทะเลและน้ำจืด ดังนั้นควรสอบถามผู้ขายให้แน่ใจก่อนว่าเขาเลี้ยงในน้ำจืดหรือน้ำทะเล ควรเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงจะช่วยให้ปลาไม่เครียด สามารถเลี้ยงรวมกับปลาอื่นที่มีขนาดเล็กกว่าไม่มาก ควรเลี้ยงในตู้ขนาดใหญ่เพราะเป็นปลาโตเร็วต้องการพื้นที่ในการว่ายมาก

อาหาร กินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่นกุ้งฝอย ลูกปลา อาร์ทีเมี่ยหรือเนื้อหั่นเป็นชิ้นๆ


Thursday, 23 June 2011

ปลาเซอร์เป้เตตร้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hyphessobrycon eques (Steindachner, 1882)

ชื่อสามัญ : Serapae tetra, Jewel tetra
ชื่อไทย : ปลาเซอร์เป้เตตร้า

ปลาเซอร์เป้เตตร้า หรือที่ตลาดเมืองไทยมักนิยมเรียกกันว่าปลาเซเป้เตตร้านั้น มีถิ่นกำเนิดแถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศปารากวัย ทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาขนาดเล็กอีกชนิดหนึ่งที่มีความน่ารัก และเลี้ยงง่าย

ลักษณะทั่วไปของปลาเซอร์เป้เตตร้า
ลำตัวของปลาชนิดนี้มีสีน้ำตาล ออกแดงหรือส้ม ครีบหลัง และครีบท้องมีสีดำ ปลายครีบมีสีขาว บริเวณลำตัวด้านหลังของเหงือกมีจุดสีดำประแต้มอยู่ข้างละจุด และเห็นเด่นชัด แต่เมื่อปลาอายุมากขึ้นจุดสีดำนี้ค่อย ๆ จางหายไป จัดว่าเป็นปลาที่มีความอดทนค่อนข้างเลี้ยงง่าย

ปลาเซอร์เป้เตตร้า
ในธรรมชาติปลาชนิดนี้อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ตามพุ่มไม้น้ำในแม่น้ำ ลำธาร ที่มีกระแสน้ำไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา กินได้ทั้งพืชและสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แต่ในตู้เลี้ยงสามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้ ดังนั้น จึงทำให้ปลาชนิดนี้ค่อนข้างเป็นปลาที่มีความอดทน และแข็งแรงมากเป็นพิเศษ การเลี้ยงดูไม่ยุ่งยาก เป็นปลาที่ทนทานเหมาะสำหรับมือใหม่ เพียงแต่ควรเลี้ยงในตู้ที่มีความจุน้ำไม่ต่ำกว่าร้อยลิตร และเลี้ยงเป็นกลุ่มสักสิบตัวขึ้นไป ควรปลูกพันธุ์ไม้น้ำให้หนาแน่น และควรให้กระแสน้ำหมุนเวียนมาก ๆ เพื่อให้ปลารู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติมากที่สุด ปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มวัยอาจก้าวร้าวบ้าง หากต้องการเลี้ยงรวมกับปลาอื่นในตู้เล็กควรเลือกปลาที่ว่ายน้ำปราดเปรียวว่องไว เซอเป้ เตตร้า กินอาหารค่อนข้างจุและเร็ว จึงไม่ควรให้มากเพราะจะทำให้น้ำเสีย

การคัดแยกพ่อแม่พันธุ์
ปลาเซอร์เป้เตตร้าเพศผู้ส่วนมากมีสีสันออกแดงเข้มสดกว่าปลาเพศเมีย รูปร่างค่อนข้างบาง และเพรียวกว่า ส่วนปลาเพศเมียโดยมากมีท้องอูมเป่งกว่า ครีบหลังสั้นกว่าเล็กน้อย ซึ่งค่อนข้างสังเกตยาก

การเพาะพันธุ์
ปลาเซอร์เป้เตตร้าแพร่พันธุ์โดยการวางไข่ผสมพันธุ์ ไข่เกาะติดอยู่ตามใบไม้ และสาหร่ายใต้น้ำ ไข่ฟักเป็นตัวภายในเวลา 24 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 24 องศาเซลเซียส ดังนั้นในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้จึงควรหาสาหร่ายมาปลูกในตู้ด้วยเพื่อให้ ไข่ปลาเกาะติด หรืออาจใช้สาหร่ายเทียม แสงไม่ควรสว่างมากเกินไป เพราะปลาชนิดนี้ไม่ชอบแสงสว่างมากนัก โดยเฉพาะแสงสว่างในยามบ่าย ปกติปลามักวางไข่ในตอนเช้ามืด

Tuesday, 21 June 2011

ปลาบาร์บทอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Puntius sachsii (Ahl, 1923)

ชื่อสามัญ : Golden barb

ชื่อไทย : ปลาบาร์บทอง

ถิ่นกำเนิด ปลาบาร์บทองมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย ประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

ลักษณะทั่วไปของปลาบาร์บทอง
ปลาบาร์บทองเป็นปลาในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน มีขนาดประมาณ 5 - 7 ซม. รูปร่างค่อนข้างกลมป้อม ส่วนหางคอดเรียว มีครีบ 7 ครีบ สีสันของลำตัวเป็นสีเหลืองทอง มีแถบจุดประสีเขียวเข้มตามความยาวของลำตัว ซึ่งในบางตัวเห็นได้ไม่ชัดเจน และที่ใกล้โคนหางมีจุดสีเข้ม ครีบ และหางมีสีแดง ตัวเมียสีสันของลำตัวจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย และลำตัวกลมป้อม หนากว่า ส่วนตัวผู้มีสีสันที่เข้มสดกว่า และลำตัวเรียวยาวกว่าตัวเมียเล็กน้อย ปลาบาร์บทองเป็นปลาที่มีอุปนิสัย รักสงบ ไม่ก้าวร้าว ชอบว่ายน้ำไปมา ในธรรมชาติเป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกประเภท

ปลาบาร์บทอง (Golden Barbs)
การเพาะพันธุ์ปลาบาร์บทอง
ปลาบาร์บทองเป็นปลาที่สืบพันธุ์โดยการวางไข่ สามารถเพาะพันธุ์ได้ง่าย ก่อนเพาะพันธุ์ควรบำรุง พ่อแม่ด้วยอาหารที่มีชีวิต เช่น ลูกน้ำ หรือหนอนแดง สักระยะหนึ่งจนพ่อแม่ปลามีความสมบูรณ์เต็มที่พ่อแม่พันธุ์ควรเลี้ยงแบบแยก เพศ ไข่ปลาบาร์บทองเป็นไข่ประเภทเกาะติด จึงควรมีวัสดุให้ไข่ติดในบ่อเพาะ หรือตู้ที่ใช้เพาะ เช่น พรรณไม้น้ำ สาหร่ายเทียม
Golden Barbs (ปลาบาร์บทอง)


Monday, 20 June 2011

ปลาแขยง

ปลาแขยง ปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด หนวดยาว มีครีบหลังอันแหลมคม ครีบหูทั้งสองมีเงี่ยงแหลม พบตามแหล่งน้ำไหล แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง คลอง บึงทั่วไปทุกภาค ปลาแขยง มีให้เลือกกินกัน 3 ชนิด คือ ปลาแขยงธง ปลาแขยงข้างลาย ปลายแขยงใบข้าว แต่ปัจจุบันนี้ปลาแขยงหากินได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปลาแขยงธงนั้นหากินกันแทบไม่ได้แล้ว ยังคงมีแต่ปลาแขยงใบข้าว และปลาแขยงลายให้กินกันเท่านั้น

ปลาแขยงแต่ละชนิดมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน ปลาแขยงข้างลาย มีขนาดค่อนข้างเล็ก ลำตัวป้อมสั้น ด้านข้างแบน หัวแหลม ปากเล็ก มีหนวด ครีบหลังมีก้านเดี่ยวแข็งและแหลมคมหนึ่งอัน ครีบหูสองข้างมีเงี่ยงแหลม มีแถบสีขาวเงิน 2 แถบพาดไปตามยาวของลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาลปนดำเข้ม ปลาแขยงธง เป็นปลาแขยงขนาดเล็ก มีรูปร่างเรียวยาว ลำตัวด้านข้างแบน หัวเล็ก ตาค่อนข้างโต ปากค่อนข้างเล็ก มีหนวด ครีบหลังมีขนาดใหญ่ และยาวสูงเด่นคล้ายชายธง ครีบหูมีเงี่ยงแหลมคมสองข้าง ครีบไขมันมีขนาดใหญ่และยาว ครีบหางเว้าลึก แพนหางส่วนบนมีปลายยาวเป็นเส้นรยางค์ ปลาแขยงใบข้าว เป็นปลาแขยงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ลำตัวค่อนข้างกลมและยาว หัวค่อนข้างเล็ก ปากทู่ มีหนวด ครีบหลังปลายยาวเป็นกระโดงสูง ครีบหูมีก้านเดี่ยวแข็งและแหลมคมข้างละอัน ครีบไขมันใหญ่และยาว แพนครีบหางอันบนมีปลายยาวเรียวเป็นรยางค์ ลำตัวส่วนบนมีสีเทาอมฟ้า ด้านหลังเข้ม และสีจะค่อยจางลงถึงบริเวณท้องแล้วเปลี่ยนเป็นสีครีบหรือสีขาว

ปลาแขยง
เมื่อได้ปลาแขยงสด ตาใส เนื้อนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ทำอาหารจานปลาอร่อยๆ ได้ เพราะเนื้อปลาแขยงมีสีขาวนุ่มน่ากิน มีรสหวานตามธรรมชาติ ก่อนทำอาหารจากปลาแขยงต้องตัดปลายหัวที่มีหนวดยาวออก ตัดเงี่ยงตรงครีบหูทั้ง 2 ข้าง ผ่าท้องควักไส้และดีออก เคล้าเกลือ ล้างน้ำ ถ้าตัวใหญ่ให้ตัดเป็น 2 ชิ้น ปลาแขยงก็พร้อมสำหรับสร้างรสอร่อยกันแล้ว



ในแต่ละท้องถิ่นมีอาหารจานเด่นจากปลาแขยงแตกต่างกันไป ภาคกลางนิยมนำมาทำเป็นฉู่ฉี่ น้ำแกงขลุกขลิก และทำแกงคั่ว แกงสามรส มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน ยิ่งถ้าเป็นช่วงฤดูของกระท้อน ก็ทำแกงคั่วกระท้อนปลาแขยงได้อร่อยเป็นยิ่งนัก หรือเคล้าเกลือ แช่น้ำปลาสักครู่ นำมาทอดกรอบก็อร่อย ทางภาคอีสาน นิยมทำต้มยำ ห่อหมก ลาบ และปลาส้ม ไม่ใช่ปลาส้มแบบปลาตะเพียน แต่เป็นการเอาปลาที่ทำแล้วมาทุบพอเนื้อนุ่ม แช่ตัวปลาลงในน้ำซาวข้าว 1-2 ชั่วโมงให้เนื้อปลาแข็ง นำมาสับให้ละเอียดทั้งเนื้อและก้างปลา ตำรวมกับข้าวเหนียว เกลือ กระเทียม จนเนื้อปลาเหนียว ห่อด้วยใบตองทิ้งไว้หนึ่งคืน เนื้อปลาจะขาวและแข็ง มีรสเปรี้ยว

Thursday, 16 June 2011

ปลาเซลฟินมอลลี่

ชื่อวิทยาศาสตร์ Poecilia latipinna (Lesueur, 1821)
ชื่อสามัญ : Sailfin molly

ชื่อไทย : ปลาเซลฟินมอลลี่

ชื่อชนิดของปลามาจากภาษาลาติน ซึ่งหมายถึงครีบหลังที่กว้างใหญ่ในปลาเพศผู้ ปลาเซลฟินมอลลี่จัดว่าเป็นปลาที่มีความสวยงามมากที่สุดเมื่อเทียบกับปลาในสกุลปลามอลลี่ทั้งหมด เป็นปลาที่มีความสง่างามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือที่ครีบกระโดงหลังจะมีลักษณะแผ่กว้างออกเป็นแผ่นคล้ายเรือใบ เป็นปลาในตระกูลปลาสอดที่มีครีบกระโดงหลังขนาดใหญ่ และยาวที่สุด เมื่อเวลาแผ่ครีบ และหางเต็มที่มีความสวยงามมาก

ปลาเซลฟินมอลลี่
ถิ่นกำเนิด
อยู่ในทวีปอเมริกา แม๊กซิโก เท็กซัส ฟอร์ริดา และเวอร์จิเนีย พบอาศัยอยู่แถวตะวันออกเฉียงใต้ของนอร์ธคาโรไรน่า จนถึงชายฝั่งแอตแลนติกของเม็กซิโก ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ได้ทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล ปลาชนิดนี้จัดว่าเป็นปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง



ลักษณะทั่วไปของปลาเซลฟินมอลลี่
ปลาชนิดนี้จะมีลำตัวยาวเพรียวออกสีเหลืองทอง ตามีสีแดงสดใส เกล็ดมีลักษณะเงาแวววาวสะท้อนแสง สีสันของครีบตลอดจนลำตัว และหางเป็นสีน้ำเงินอมเขียวเข้มแล้วค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นสีส้ม ตรงใต้ท้องมีลวดลายสีส้มขึ้นประปรายตลอดทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดปลายหาง และมีจุดสีดำแซมอยู่ทั่วไป หัวมีลักษณะแหลม โดยเพศผู้จะมีขนาดความยาวลำตัวประมาณ 8 เซนติเมตร เพศเมียยาวประมาณ 9-10 เซนติเมตร ปลาชนิดนี้เหมาะกับการเลี้ยงในตู้ปลาที่มีขนาดใหญ่

การเพาะพันธุ์
ปลาในตระกูลนี้จัดว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างแพร่พันธุ์ได้ง่าย ออกลูกเป็นตัว ปลาตัวเมียสามารถให้ลูกปลาได้คอกละประมาณ 20 - 80 ตัว ในการเพาะพันธุ์ไม่ควรปล่อยให้ตัวผู้อยู่ร่วมกันหลาย ๆ ตัว เพราะปลาจะทำร้ายกันเอง และเมื่อปลาให้ลูกแล้ว ควรแยกพ่อแม่ปลาออก เพราะมิฉะนั้นปลาอาจกินลูกของตัวเองได้ ในบ่อเพาะพันธุ์ควรปลูกสาหร่าย หรือหาหินมาวาง เพื่อสร้างเป็นโพรงเพื่อให้ลูกปลาใช้หลบภัยได้บ้าง

Tuesday, 14 June 2011

ปลาเพนกวิน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thayeria boehlkei Weitzman, 1957
ชื่อสามัญ : Boehlke’s penguin
ชื่อไทย : ปลาเพนกวิน

ลักษณะทั่วไปของปลาเพนกวิน
ปลาเพนกวินเป็นปลาสวยงามขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดราว 6-8 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบลุ่มน้ำอะเมซอน ประเทศบราซิลในทวีปอเมริกาใต้ ปลาชนิดนี้มีแถบสีดำหรือสีน้ำตาลไหม้ ขึ้นเป็นทางเริ่มจากส่วนหลังของเหงือก และพาดผ่านลำตัวเป็นแนวยาวจรดถึงปลายหางด้านล่าง


ปลาเพนกวิน




ลักษณะเด่นเฉพาะของปลาเพนกวิน
ปลาเพนกวินมีแถบสีดำและสีเหลืองทองพาดตามความยาวของลำตัว จรดปลายครีบหางด้านล่างทำให้ดูแปลกตา ซึ่งแถบสีดำทำให้ปลาเพนกวินเด่นสะดุดตามาก เนื่องจากส่วนหลังมีสีคล้ายสีทองเหลือง เกล็ดเป็นมันแวววาวระยิบระยับ เกล็ดมีขนาดเล็ก เป็นปลาขนาดเล็กชอบอยู่รวมเป็นฝูง โดยจะว่ายน้ำลอยตัวเชิดหัวขึ้นไปทางเดียวกันทำให้แลดูคล้ายคนที่มีความหยิ่งยโส และทรงตัวอยู่ในระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ เป็นปลาที่มีความแคล่ว คล่องว่องไวมากนอกจากนี้ยังเป็นปลาที่มีความทรหดอดทนอีกด้วย จัดได้ว่าปลาชนิดนี้เป็นปลาผู้ดีอีกชนิดหนึ่ง

สำหรับสภาพน้ำที่เหมาะสมที่ใช้เลี้ยงปลาชนิดนี้ควรเป็นน้ำที่ใสสะอาดมีความ เป็นกรดเล็กน้อย ภายในที่เลี้ยงควรจัดเหมือนอยู่ในธรรมชาติ การเลี้ยงไม่ควรเลี้ยงรวมกันต่ำกว่า 6 ตัว เนื่องจากปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง และชอบกระโดด ดังนั้นจึงควรมีฝาตู้ปิดให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ปลากระโดดออกมา สำหรับแสงสว่างไม่ควรให้สว่างมากจนเกินไป เพราะปลาชนิดนี้ชอบอยู่ในที่ค่อนข้างมืด

การเพาะพันธุ์ปลาเพนกวิน
ปลาเพนกวินจัดว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างเพาะพันธุ์ได้ง่าย และให้ลูกดก ปลาชนิดนี้แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ วิธีการเพาะพันธุ์ที่ค่อนข้างได้ผลคือ ปล่อยปลาตัวเมีย 4 - 5 ตัว อยู่รวมกับปลาตัวผู้ 1 ตัว สาเหตุที่ต้องปล่อยปลาตัวผู้เพียงตัวเดียวเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาต่อสู้ และทำร้ายกัน

Monday, 13 June 2011

ปลากาแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epalzeorhynchos frenatum (Fowler, 1934)
ชื่อสามัญ : Rainbow sharkminnow
ชื่ออังกฤษ : Redfin Shark
ชื่อไทย : ปลากาแดง ปลานวลจันทร์ ฉลามครีบแดง

ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบในแม่น้ำภาคกลาง เช่น ที่ กาญจนบุรี นครสวรรค์ ภาคเหนือที่สุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่แม่น้ำโขง

ลักษณะทั่วไปของปลากาแดง
คล้ายกับปลาทรงเครื่องมาก ปลากาแดง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กาแดงนคร อยู่ในสกุลเดียวกับปลาทรงเครื่องดูคล้ายปลาทรงเครื่องมาก แต่แตกต่างที่ลำตัวค่อนข้างยาว เรียวกว่า ตัวไม่ดำอย่างปลาทรงเครื่อง เป็นปลาที่มีลักษณะ มีรูปร่างยาวเพรียว คล้ายฉลาม หัวเล็กปากเล็ก มีหนวด 4 เส้น ครีบมีขนาดใหญ่ และสูง จัดเป็นปลาที่สวยงามชนิดเนื่องจากมีครีบต่าง ๆ เป็นสีแดงสด หรือ สีส้มอมแดง ตัดกับลำตัวสีดำ มีเส้นสีดำคาดตา และจุดสีดำรูปไข่ บริเวณโคนที่คอดหาง ในอดีตจับได้จำนวนมากจากแม่น้ำโขง ที่จังหวัดนครพนม จึงได้ชื่อว่า “กาแดงนครพนม” และ พบที่แม่น้ำสงคราม กินอาหารจำพวกสาหร่าย และตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามโขดหิน แพลงก์ตอนสัตว์ และเศษพืชเน่าเปื่อย ปลาชนิดนี้มีขนาดเล็กเพียง 12 เซนติเมตรเท่านั้น

ปลากาแดง
การแพร่กระจาย
ถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบในแม่น้ำภาคกลางตั้งแต่ แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง และแม่น้ำแม่กลองที่ราชบุรี กาญจนบุรี ภาคเหนือที่สุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบที่แม่น้ำโขง

อุปนิสัย ปลากาแดงค่อนข้างเลี้ยงง่ายกว่าปลาทรงเครื่อง ลูกปลากาแดงตัวเล็กๆก็เลี้ยงง่ายกว่าลูกปลาทรง เครื่อง และมีปริมาณรอดตายมากกว่า อุปนิสัยโดยทั่วๆไปเช่นเดียวกับปลาทรงเครื่อง

การเลี้ยงดู ความเป็นอยู่และอาหารการกินของปลากาแดงทำนองเดียวกับปลาทรงเครื่องและสามารถเลี้ยงรวมกับปลาทรงเครื่องได้ดี

Saturday, 11 June 2011

ปลาฟิงเกอร์ หรือ ปลาเฉี่ยวแอฟริกา

ปลาฟิงเกอร์ หรือ ปลาเฉี่ยวแอฟริกา (African moony, Mono sebae) เป็นปลาชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาเฉี่ยว (Monodactylidae)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monodactylus sebae

เป็นปลาน้ำเค็มที่ปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดสนิทได้ มีรูปร่างคล้ายกับปลาเฉี่ยวหินหรือปลาผีเสื้อเงิน (M. argenteus) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันคือ ปลาฟิงเกอร์จะไม่มีความแวววาวของเกล็ดเท่าและไม่มีเหลือบสีเหลืองสดที่ครีบหลัง และครีบท้องเหมือนปลาเฉี่ยวหิน และมีลายแถบสีดำอีกแถบบริเวณก่อนถึงโคนครีบหาง

นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม นิสัยก้าวร้าวและว่ายน้ำได้เร็วมาก จึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาขนาดเล็กหรือปลาที่ว่ายน้ำช้า ๆ อย่าง ปลาทอง เป็นต้น

ปลาฟิงเกอร์ หรือ ปลาเฉี่ยวแอฟริกา  




ลักษณะเด่นคือ
ครีบท้องในปลาที่โตเต็มที่แล้วจะยาวย้วยห้อยลงมาใต้ท้องดูเหมือนนิ้วมือของมนุษย์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียก "ฟิงเกอร์"

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งนับว่าใหญ่กว่าปลาเฉี่ยวหิน แพร่กระจายพันธุ์อยู่บริเวณปากแม่น้ำ และป่าโกงกางของชายฝั่งทวีปแอฟริกาแถบตะวันออก ตั้งแต่หมู่เกาะคะเนรีจนถึงอังโกลา

Thursday, 9 June 2011

ปลานกแก้วหัวตัด

ชื่อไทย : ปลานกแก้ว ปลานกแก้วหัวตัด

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : INDIAN OCEAN STEEPHEAD PARROTFISH

ลักษณะทั่วไปปลานกแก้วหัวตัด
ปลานกแก้วเป็นปลาคู่แฝดกับปลานกขุนทอง แต่โดยรวมแล้วปลานกแก้วมักมีขนาดใหญ่กว่า ตัวอ้วนกลม นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นอยู่ที่ฟันที่เชื่อมต่อกันเป็นแผ่นคล้ายจะงอยปากนกแก้วสำหรับใช้ขูดแทะปะการัง หัวตัดโค้ง ปลายแพนหางบนและล่างแหลมยาว ปลาเพศผู้มีสีเขียวเข้ม แก้มมีสีขาวอมเหลือง หลังตามีแถบสีเขียวเข้ม 3 แถบ ปลาเพศเมียลำตัวด้านบนมีสีเหลืองอมเขียวอกและท้องมีสีส้ม

ปลานกแก้วหัวตัด




ถื่นที่อาศัย
อาศัยอยู่ในแนวปะการะง ที่พบระดับความลึก 2- 25 เมตร หากินอยู่เพียงลำพัง หรืออยู่เป็นคู่ ไม่ค่อยพบอยู่รวมกันเป็นฝูงเหมือนปลานกแก้วชนิดอื่น เวลากลางคืนนอนตามพื้นหรือซากปะการัง มีการสร้างเมือกห่อหุ้มตัว

อาหาร กินสาหร่ายที่ขึ้นอยู่บนพื้นทราย หรือเศษปะการังเป็นอาหาร

เนื้อปลานกแก้ว ปัจจุบันนิยมนำมารับประทานกันมาก แต่ที่มีรสชาติอร่อยที่สุด เป็นปลานกแก้วที่มีสีเขียวค่อนข้างคล้ำดำ แต่แล่เนื้อแล้วจะมีสีขาว และรสชาติหวานอร่อย

Tuesday, 7 June 2011

ปลานกแก้ว (Parrotfishes)

ปลานกแก้ว (Parrotfishes) อยู่ในครอบครัว Scaridae โตเต็มที่มีขาดประมาณ 30-70 ซ.ม. อาศัยอยู่ตามแนวปะการังพบได้ในทะเลอ่าวไทยและฝั่งอันดามันที่พบในประเทศมีมากกว่า20สายพันธุ์ กินฟองน้ำปะการังหรือสาหร่ายเป็นอาหาร บ่อยครั้งจะพบรวมฝูงขณะหาอาหาร เวลาว่ายนำจะดูสง่างามเหมือนนกกำลังบินในอากาศ

ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออก มีฟันคล้ายๆจะงอยปากนกแก้วเพื่อนำมาใช้ขูดกินปะการัง เวลาถ่ายจะถ่ายออกมาเป็นผงตะกอนซึ่งมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง สามารถเปลี่ยนเพศได้ เวลานอนปลานกแก้วจะนอนตามซอกหินแล้วปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่างๆรวมทั้งพวกหนอนพยาธิปรสิตที่จะมาทำร้ายหรือมารบกวน

ปลานกแก้ว




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scarus sp.
วงศ์ : Cichlidae
ถิ่นกำเนิด : เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์
อุณหภูมิ : 22 - 28
pH : 6.5 - 7.0
การขยายพันธุ์ : ผสมข้ามสายพันธุ์ สืบพันธุ์โดยการวางไข่ ติดกับก้อนหิน
อาหาร : อาหารสำเร็จรูป อาหารสด พวก หนอนแดง ไรทะล ปะการัง สาหร่ายเคลือบ

ลักษณะนิสัย
ปลานกแก้วมีนิสัยชอบขุดคุ้ย เป็นปลาค่อนข้างขี้กลัว การเลี้ยงปลานกแก้วควรเลี้ยงรวมกันหลายๆ ตัว เพื่อที่ว่าปลาจะไม่ตื่นมากนัก แต่ถ้ารวมกับปลาชนิดอื่นๆ ปลานกแก้วจะสงบเสงี่ยม แต่ถ้านำมาเลี้ยงรวมกันกับพวกเดียวกันจะมีการไล่การบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาของปลาประเภทนี้

ปลาแรม 7 สี

ปลาแรม 7 สี (Butterfly cichlid, Papiliochromis ramirezi )
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Microgeophagus ramirezi

วงศ์ : Cichlidae
ถิ่นกำเนิด : ทวีปอเมริกาใต้
การขยายพันธุ์ : วางไข่เกาะพื้นเรียบ
อาหาร : ไรแดง ตัวหนอน ลูกน้ำ สัตว์เล็ก อาหารเม็ด

ปลาแรม 7 สี เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลาหมอสี สายพันธุ์ Microgeophagus ramirezi มันมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับปลาหมอสีชนิดอื่นๆ ปลาตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ส่วนตัวเมีย 4-5 เซนติเมตร ลักษณะรูปร่างแบนข้าง ลำตัวกว้าง ส่วนหัวค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบสัดส่วนกับลำตัว ครีบหางสั้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังเชื่อมยาวต่อกันตั้งสูงชันคล้ายกำแพง ก้านครีบแข็ง 3-4 ก้านแรกของครีบหลังมีสีดำตั้งสูงชันขึ้นมาคล้ายหงอนของนกกระตั้ว ดวงตามีสีแดง มีเส้นดำพาดตาจากบนหัวลงมาเกือบถึงใต้คอ มีจุดดำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่บริเวณปลายตัวเห็นเด่นชัด

ปลาแรม 7 สี




สีสันของปลาชนิดนี้สดสวยเหลือบพรายหลายสีตามชื่อที่ถูกเรียกขานกัน คือมีจุดเขียวอมฟ้าสะท้อนแสงเคลือบบนเกล็ดเต็มลำตัว ยกเว้นส่วนท้องที่จะมีสีออกเหลือง ในปลาที่โตขึ้นมาและอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ สีที่ท้องจะกลายเป็นสีชมพูและสีแดงโดยเฉพาะในปลาตัวเมีย ถ้านับดีๆ จะได้ 7 สีเลยทีเดียว

ลักษณะนิสัย
เป็นปลาหมอที่ค่อนข้างรักสงบ จะมีนิสัยก้าวร้าว เฉพาะตอนแย่งตัวเมีย หรือออกไข่ และเฝ้าไข่เท่านั้น นอกจากปลาแรม 7 สี แล้ว เดี๋ยวนี้แรมเยอรมัน ก็กำลังได้รับความนิยม ซึ่งเป็นปลาสายพันธุ์เดียวกัน แต่ได้รับการพัฒนาจากคนเยอรมัน

Sunday, 5 June 2011

ปลาหมูอินโด

ชื่อไทย : หมูอินโด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Botia macracantha innesi

ถิ่นอาศัย : เกาะสุมาตรา บอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย
ขนาด : โตเต็มที่ในแม่น้ำธรรมชาติมีขนาดถึง 12 นิ้ว แต่การ
อุณหภูมิ : 24 – 30 C
สภาพน้ำ : pH 6.5 – 7.2

ลักษณะทั่วไป
ลำตัวมีลักษณะกลมยาวรี ค่อนข้างแบนข้าง ปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กละเอียด ปากมีขนาดเล็กแหลม มีตาขนาดเล็ก ใต้ตาจะมีหนามแหลมสั้นทั้งสองข้าง สามารถกางออกมาป้องกันตัวได้ มีหนวด 2 คู่ หางเว้าเป็น 2 แฉก ลำตัวมีสีเหลืองอมแดงและมีแถบสีดำพาดอยู่แนวตั้ง 3 แถบ แถบแรกพาดจากหัวผ่านตาและอีกสองแถบพาดบริเวณกลางลำตัวและท่อนหางบริเวณปลายหางมีสีแดง อุปนิสัยของปลาชนิดนี้เป็นปลาที่รักสงบ ขี้อายมักจะหลบซ่อนในพุ่มไม้หรือซอกหิน สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ มักจะว่ายน้ำขึ้นลงอยู่เสมอ ชอบหากินอยู่ตามพื้น สามารถกินอาหารได้ทั้งอาหารสำเร็จรูปและอาหารสดประเภท ลูกน้ำ หนอนแดง ไส้เดือน ไรแดง ไรทะเล ฯลฯ

ปลาหมูอินโด
สีของลำตัวเป็นสีเหลืองทองเป็นมันวาว มีแถบดำพันลำตัวเป็นระยะ มีหนวดบริเวณฝีปากดูแปลกตา น่ารักน่าชังไปอีกแบบ เป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาสวยงามอีกชนิดหนึ่ง

ลักษณะนิสัย
ปลาหมูอินโดนั้นไม่ดุร้าย แต่ขี้ตกใจง่าย สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นที่มีขนาดเล็กว่าหรือใกล้เคียงกันได้ ว่ายน้ำระดับก้นตู้ถึงกลางตู้ ปลาหมูอินโดนี้แพร่พันธ์โดยการวางไข่และไข่จะถูกพ่อแม่พันธ์ปล่อยอยู่ตามลำพังตามธรรมชาติจนออกเป็นตัวอ่อน อาหารของปลาหมูอินโดคือ พืชน้ำและสัตว์น้ำตามธรรมชาติอาหารสำเร็จรูปไม่ค่อยชอบ

Wednesday, 1 June 2011

ปลาสายรุ้ง

ชื่อไทย : ปลาสายรุ้ง ปลาแป้น ปลากระจก ที่เรียกกันแล้วนำมาพ่นสีใส่ตัวปลา ปลาจะตัวแบนข้างลำตัวใสเห็นก้างและจะมีสีแถบอยู่ข้างบนลำตัวและล่างลำตัว


ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : BLUE-BANDED WHIPTAIL Pentapodus setosus

ลักษณะทั่วไปปลาสายรุ้ง
ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย หัวค่อนข้างแหลม ปากกว้างพอสมควร มีเกล็ดประปรายอยู่ตรงบริเวณปลายสุดของหัว มีฟันเล็กแหลมและฟันเขี้ยวซึ่งแสดงถึงนิสัยในการกินอาหาร พื้นลำตัวมีสีเทาอมเหลือง ส่วนด้านท้องมีแถบสีขาวเงิน พาดจากปลายจะงอยปากผ่านไปตามกลางลำตัวมีจนถึงโคนหางและมีแถบสีขาวพาดไปบน ครีบ จุดเด่นที่พบได้อย่างชัดเจนของปลาชนิดนี้คือครีบหางเว้าลึกปลายแพนหางด้านบน จะเป็นเส้นสีดำ มีจุดดำที่โคนครีบหาง

ปลาสายรุ้ง
ถิ่นอาศัยปลาสายรุ้ง
อยู่ตามหน้าดิน บริเวณที่พบได้แก่จังหวัด สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

อาหารปลาสายรุ้ง
กินพืชไม้น้ำ สัตว์น้ำขนาดเล็กและซากพืชซากสัตว์ ขนาด ความยาวประมาณ 14 – 22 ซม.