Wednesday, 28 September 2011

ปลากัดยักษ์

เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาเลี้ยงปลากัดเป็นปลาสวยงามกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายไม่ต้องให้ออกซิเจน ใช้เนื้อที่น้อยและที่สำคัญเป็นปลาที่มีศักยภาพในการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันที่หลากหลายไปได้เรื่อย ๆ “ปลากัด” จัดเป็นปลาพื้นเมืองของบ้านเรา พบการแพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศจะอาศัยบริเวณผิวน้ำ ไม่ว่าจะเป็นหนอง, บึง, แอ่งน้ำ,ลำคลอง ฯลฯ สำหรับต่างประเทศจะพบในประเทศมาเลเซีย, พม่า, ลาว, กัมพูชา และจีน เป็นต้น

สำหรับคนไทยแล้วปลากัดถือเป็นกีฬาตามวิถีชาวบ้านที่ได้รับความนิยมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมของทุกปี คนในพื้นที่ภาคใต้เรื่อยไปจนถึงประเทศมาเลเซียจะนิยมเล่นปลากัดมากกว่าพื้นที่อื่น

วันนี้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดยักษ์จนมีขนาดใหญ่อย่างเห็นได้ชัด จนได้สายพันธุ์ปลากัดยักษ์ที่นิ่งจริง ๆ อีก ทั้งยังมีสีสันสวยงามมากกว่าเดิม ปลากัดยักษ์ในยุคแรก ๆ เฉดสีออกมาในลักษณะของปลากัดหม้อธรรมดาปนกันระหว่างสีเขียว น้ำเงินและแดง ซึ่งเป็นสีพื้นฐานของปลากัดหม้อธรรมดาทั่วไป เดี๋ยวนี้เริ่มมีปลากัดยักษ์สีเดียวสวยสด แม้ว่าสีอาจจะยังไม่สวยเท่ากับปลากัดหม้อสีเดียวก็ตาม ภูมิประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้มีแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ สภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของปลากัด ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์ปลากัดยักษ์ให้มีลักษณะที่ดีขึ้นไปอีก ปลากัดไทยสร้างความคึกคักในตลาดปลากัดทั้งในและต่างประเทศ ประเทศไทยเป็นตลาดที่ส่งออกปลากัดสวยงามที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาแล้ว จุดนี้ทำให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าปลากัดได้ ยังเป็นการนำรายได้เข้าสู่ประเทศไม่น้อยเลยทีเดียว

ปลากัดยักษ์
การพัฒนาสายพันธุ์ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีสายพันธุ์และสีใหม่ ๆ มากมาย ร่วมมือกันพัฒนาสายพันธุ์ มีการแลกสายพันธุ์การพัฒนา เพื่อช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์ปลาให้มีความสวยงามและแปลกใหม่ยิ่งขึ้น มีปลาใหม่ออกสู่ตลาดเสมอ ผู้ซื้อมีปลาให้เลือกหลากหลายตามความชอบ และการเลือกซื้อปลากัดยักษ์ นั้น ต้องมีความรู้พื้นฐาน มีวิธีการดูลักษณะปลาเบื้องต้น มิเช่นนั้นจะได้ปลากัดยักษ์เทียมมาเลี้ยงก็เป็นได้

เริ่มต้นกันที่ ลักษณะตัวปลา ปลากัดธรรมดาขนาดใหญ่ที่ขุนด้วยอาหารเม็ด จะมีลักษณะลำตัวออกหนาทางด้านกว้างไม่ได้สัดส่วนเมื่อมองด้านข้าง มองจากด้านบน ความกว้างของลำตัวจะแบนไม่สวย เปรียบเทียบกับปลากัดยักษ์แท้ จะมีลักษณะที่ใหญ่และได้รูปสมสัดส่วน คอจะมีลักษณะหนา ลำตัวโค้งมนตามลักษณะสัดส่วนและลาดต่ำไปถึงหางตามลักษณะของปลากัดทั่วไป ข้อหาง ครีบ กระโดง ชายน้ำ จะมีขนาดใหญ่สมดุลกับตัวปลา

ปลากัดยักษ์
พฤติกรรมและสุขภาพปลา ปลากัดยักษ์ที่อายุน้อยประมาณ 4 เดือน ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเปิดให้ปลาพองใส่กัน ปลาจะมีความปราดเปรียวและคึกคัก บ่งบอกถึงสุขภาพปลาที่ดีและไม่เป็นโรค ผิดกับปลากัดขนาดปกติแต่มีขนาดใหญ่ที่มีอายุมากขึ้น ความคล่องแคล่ว ความปราดเปรียวจะไม่เท่าปลากัดอายุน้อย ซึ่งตรงนี้เป็นข้อสังเกตที่ชัดเจน

ร้านขายปลา นับเป็นข้อที่สำคัญมากเลยทีเดียว นอกเหนือจากการสังเกตลักษณะภายนอกด้วยตัวเอง ความเชื่อใจและความซื่อสัตย์ของร้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้ปลาที่มีลักษณะ ที่ดีตรงตามความต้องการ


Monday, 26 September 2011

ปลาหมอนกแก้ว

ปลาหมอนกแก้ว (ชื่อวิทยาศาสตร์ Amphilophus citrinellum x Vieja synspila) เป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างปลาหมอฟลามิงโก้ และปลาหมอซินสไปลุ่ม มีปากคล้ายกับนกแก้ว กำเนิดในประเทศไต้หวัน ขนาดโตเต็มที่ 10 - 15 เซนติเมตร มีดวงตาโต ม่านตาใหญ่จนบางคราวดูไม่เหมือนทรงกลม เป็นวงรีหรือไม่ก็เป็นขีด ดำๆ หนาๆ พาด ผ่านตามแนวนอนของ ลูกตา ตู้ที่เหมาะสม ไม่ควรต่ำกว่า 30 นิ้ว เป็น ปลาที่ค่อนข้าง ก้าวร้าว อันที่จริง เป็นปลาที่ไม่ค่อยดุนัก และสามารถเลี้ยงรวมกับปลาอื่นที่ ขนาดเท่ากันได้ สามารถให้อาหารสำเร็จรูปและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหารได้
เทคนิคการเลี้ยง

การจัดตู้ปลานั้น เราควรใส่กรวดเล็กๆไว้ เพราะปลาหมอนกแก้วมีปากที่ใหญ่เหมาะกับการดูดก้อนกรวด มันจะขุดกรวดเล็กๆที่เราจัดไว้เป็นหลุม เป็นหลุมเพื่อคลายเครียด ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องจัดตู้ให้สวยมากนัก จัดเพียงแค่ สิ่งต่างๆที่มันขุดไม่ได้เท่านั้น เวลาว่างๆ เราควรจะเข้าไปดูใกล้ๆบ้าง เพราะช่วงแรกๆ มันจะขี้อายและกลัวคนมาก จนไปหลบอยู่หลังตู้บ่อยๆ แต่พอเราดูไปนานๆบ่อยๆมันจะเชื่องและชอบเข้าหาคน เวลาเดินผ่านมันจะตามมาทันที

ปลาหมอนกแก้ว
การเพาะพันธุ์ ปลานกแก้ว
การสังเกตเพศของปลาหมอนกแก้ว ตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่า ชายครีบยาวกว่า การเพาะพันธุ์ส่วนมากปลาหมอนกแก้วจะเป็นหมัน โดยเฉพาะตัวผู้อันเป็นผลมาจากการย้อมสีปลา ปลาจะจับคู่และวางไข่ติดกับก้อนหินแต่จะไม่ฟักเป็นตัวสำหรับปลาที่ไม่ย้อมสีจะสามารถให้ลูกได้ การจับคู่ผสมพันธุ์จะทำกันเองในตู้ เป็นปลาที่วางไข่ได้ง่ายและครั้งละปริมาณมากๆ ค่า pH ประมาณ 6.6-6.8 จะเหมาะแก่การฟักไข่ ถ้า pH สูงเกินไปจะทำให้ผิวของไข่เหนียวจนลูกปลาไม่สามารถเจาะทะลุออกมาได้และถ้าน้ำมี pH ต่ำเกินไปความเป็นกรดจะทำลายสเปิร์มของปลาตัวผู้ จนทำให้การปฏิสนธิ ลูกปลาฟักเป็นตัวใหม่ๆ ยังไม่กลมเหมือนพ่อแม่ ช่วงแรกปล่อยให้ครอบครัวดูแลตัวเองพ่อแม่ลูก จนลูกปลาว่ายน้ำและออกหากินเองได้ จึงค่อยแยกออกมาเลี้ยงต่างหาก ช่วงปลายังเล็กควรให้อาหารสด เช่น ไรแดง ใส้เดือนฝอยบ่อยๆแต่ไม่ควรให้ครั้งละมากเกินไป

ปลาหมอนกแก้ว
อาหาร ปลานกแก้ว
อาหารของปลาหมอนกแก้วที่นิยมให้กันทั่วไปเป็นจำพวกอาหารเม็ด เพราะสะดวกการซื้อหาก็มีวางขายกันทั่วไป สิ่งที่ต้องระวังในการให้อาหารประเภทนี้คือ ต้องไม่มีส่วนผสมของสารกันบูด หรือยาฆ่าแมลงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจะเป็นอันตรายกับปลาที่คุณเลี้ยงได้ ปริมาณให้อาหารไม่ควรให้เกินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละไม่มากจนเกินไป


Wednesday, 21 September 2011

ปลาหางดาบ

ในการเลือกซื้อปลามาเลี้ยงในตู้ ชนิดปลาที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด มีอยู่หลากหลาย มากมายกว่า 100 ชนิด ปลาแต่ละชนิดจะมีลักษณะนิสัยและการกินอาหารที่แตกต่างกัน ปลาบางชนิดมีนิสัยสุภาพ บางชนิดดุร้าย จึงควรศึกษาลักษณะของปลาก่อน ไม่ควรเลี้ยงปลาที่มีขนาดเล็กใหญ่ ต่างกันมากในตู้เดียวกัน เมื่อซื้อปลาควรเลือกปลาที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ครีบต่างๆ จะต้องอยู่ครบไม่ขาด สีสันสดใส ว่ายน้ำปราดเปรียว ไม่หลบมุม และหัวไม่เชิดลอยน้ำ เช่น ปลาสอดแดงหางดาบ ซึ่งเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว
ปลาสอดแดงหางดาบ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xiphophorus Hellrri เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย อดทนต่อทุกสภาวะแวดล้อม กินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารเม็ด หนอนแดง ลูกไรแดง ไรทะเล ลูกน้ำ ถิ่นที่อยู่อาศัย เม็กซิโกตอนใต้ กัวเตมาลา ปลาในสกุลปลาสอดมีหลายชนิด เช่น ปลามอลลี่ ปลามิดไนท์ ปลามูนพิช ปลาเพลตี้ เป็นต้น

ลักษณะรูปร่าง ลำตัวยาวเรียว แบนด้านข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็ก มีความปราดเปรียวมาก สีสวยงามสะดุดตา ลักษณะเด่นคือ ปลายหางที่ยื่นยาวออกไป ปลาสอดตัวผู้จะมีลักษณะสีเข้มกว่าตัวเมียเล็กน้อย มีปลายหางยื่นยาวออกมาคล้ายดาบ ลำตัวเพรียวเล็กกว่า และมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า โกโนโปเดี้ยมอยู่ด้วย นิสัย ค่อนข้างก้าวร้าว ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ มักจะทะเลาะกันอยู่เสมอ ว่ายน้ำตลอดเวลา ปลาสอดเป็นปลาสวยงามที่น่าสนใจอีกชนิดหนึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มเลี้ยงปลาไม่ค่อยมีเวลามากนัก เพราะปลาสอดแดง เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ราคาไม่แพง มีความทนทานดี สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ ปลาสอดแดงสามารถปล่อยลงเลี้ยงเป็นฝูงในตู้กระจก ให้มีตัวเมียมากกว่าตัวผู้ โดยทั่วไปมีความยาวเฉลี่ย 14 cm

ปลาหางดาบ
การเลือกชื่อสายพันธุ์ปลาสอด พิจารณาจาก ลักษณะสีและลวดลายบนลำตัว ตลอดจนสีและครีบ ชื่อสายพันธุ์จะเรียกตามลักษณะสีพื้นลำตัวก่อน ตามด้วยลวดลายบนลำตัว และลักษณะของครีบ เช่น Gold tuxedo swordtail สีของลำตัวเป็นสีทองครึ่งตัวด้านท้าย มีสีดำเหมือนเสื้อทักษิโด้ หรือ Red hifin swordtail สีพื้นลำตัวสีแดง ครีบกระโดงหลังสูง หรือ Brick red wagtail ปลาสอดชนิดนี้มีลำตัวสีแดงอิฐ หางมีลักษณะเป็นหางไหม้ (wagtail)

การเลี้ยงปลาสวยงาม มีการพัฒนา ปรับปรุง อุปกรณ์ต่างๆให้ทันสมัยมากขึ้น ทำให้มีผู้สนใจเลี้ยงปลาสวยงามกันมากขึ้น ซึ่งมีทั้งที่เลี้ยงเป็นงานอดิเรกเพื่อความเพลิดเพลิน เลี้ยงเป็น อาชีพเสริมและเลี้ยงเป็นอาชีพหลัก ถึงแม้การเลี้ยงปลาสวยงามจะดูเป็นเรื่องง่าย แต่ผู้เลี้ยงหลายรายที่ประสบปัญหาปลาเกิดโรค และปลาตาย ทำให้เลิกเลี้ยง ผู้เลี้ยงควรจะต้องทราบหรือเข้าใจเพื่อป้องกันความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น


Monday, 19 September 2011

ปลาลูโซโซ่ (lusosso)

ปลาลูโซโซ่ (lusosso) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะในลุ่มน้ำของประเทศคองโก (ปัจจุบันลุ่มน้ำแห่งนี้จัดเป็นระบบนิเวศป่าฝนขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก) หลายคนเข้าใจผิดว่าปลาลูโซโซ่มีถิ่นกำเนิดในลุ่มน้ำอเมซอน

ปัจจุบัน ปลาลูโซโซ่ จำแนกได้ประมาณ 22 ชนิดในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยไม่เคยพบปลาลูโซโซ่เลยแม้แต่ชนิดเดียว ปลาลูโซโซ่จัดเป็นปลาน้ำจืดในธรรมชาติจะอาศัยอยู่กลางน้ำจนถึงพื้นท้องน้ำ มักพบเป็นฝูง ชอบสภาพน้ำไหลเอื่อย ๆ จัดเป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็ว มีความแข็งแรงและกระโดดเก่งมาก ในธรรมชาติอุณหภูมิของน้ำที่อยู่อาศัยจะเฉลี่ยอยู่ที่ 22-26 องศาเซลเซียส มีค่า pH ของน้ำเฉลี่ย 6.5-7 สามารถนำมาเลี้ยงในตู้ปลาเป็นปลาสวยงามในบ้านเรา

ปลาลูโซโซ่ (lusosso) 
คุณชวิน ตันพิทยคุปต์ ชาวกรุงเทพมหานคร มีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลา ลูโซโซ่เป็นปลาสวยงามมานาน ได้บอกถึงลักษณะของ ปลาชนิดนี้เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีขนาดความยาวของลำตัว 45-50 เซนติเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลทองเป็นสีพื้น มีแถบบนลำตัว 7 แถบ มีสีดำลากบาง ๆ จากบนสู่ด้านล่างของข้างลำตัว ครีบต่าง ๆ จะมีสีแดงโดยเฉพาะที่หางจะมีสีแดงจัด ส่วนของหัวและจะงอยปากมีลักษณะเรียวยาว แหลมยื่นออกมาด้าน หน้าชัดเจน ช่องเปิดของปากมีขนาดเล็ก โดยปกติแล้วปลาลูโซโซ่จัดเป็นปลาที่รักความสงบ แต่จะมีความดุร้ายซ่อนอยู่ลึกภายใน อาหารส่วนใหญ่จะกินพืชน้ำต่าง ๆ เป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นพืชน้ำใบอ่อน จัดเป็นปลากินพืช นอกจากนั้น ยังกินพวกตัวอ่อนแมลง น้ำ หนอนไส้เดือนน้ำ และสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ ได้

ปลาลูโซโซ่ (lusosso) 
คุณชวินแนะนำการเลี้ยงปลาลูโซโซ่ในตู้ปลา การจัดตู้อาจจะใช้ขอนไม้ใหญ่ ๆ หรือก้อนหินใหญ่ที่ไม่มีเหลี่ยมคม จัดให้มีพื้นที่สำหรับว่ายน้ำได้บริเวณกว้าง มีระบบกรองน้ำที่ดี น้ำไหลเอื่อย ๆ หรือค่อนข้างแรงได้ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องปิดฝาตู้ให้มิดชิดกันกระโดดเมื่อนำมาปลาชนิดนี้มาเลี้ยงในตู้ อาหารที่ใช้เลี้ยงจะเป็นสาหร่ายหางกระรอก พุงชะโด ฯลฯ หรือจะเป็นผักชนิดต่าง ๆ ก็ได้ อาทิ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผัก บุ้ง ฯลฯ ใส่แต่พอประมาณเพื่อให้ตอดกิน ปัจจุบันใช้อาหารเม็ดเลี้ยงได้ เมื่อเริ่มต้นเลี้ยงปลาลูโซโซ่ตั้งแต่เล็กจะสังเกตได้ว่าจะมีลักษณะขี้อายและขี้กลัว แต่เมื่อเลี้ยงจนโตแล้วจัดเป็นปลา ที่มีความเชื่องและฉลาดมาก ที่สำคัญจำเจ้าของได้ สามารถทำความคุ้นเคยกับมันป้อนอาหารให้กินกับมือได้อย่างสบาย

ปลาลูโซโซ่ (lusosso) 
จากที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าปลาลู โซโซ่มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงในธรรมชาติ เมื่อนำมาเลี้ยงในตู้ควรจะเลี้ยงเป็นฝูงและไม่ควรเลี้ยงเพียงแค่ 2 ตัวเพราะอาจจะกัดทำร้ายกันได้ ปลาชนิดนี้สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ ได้ ปัจจุบันราคาซื้อ-ขายปลา ลูโซโซ่ขนาดลำตัวยาวประมาณ 3 นิ้ว ตัวละ 1,000 บาท และจัดเป็นปลาสวยงามที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากอีกชนิดหนึ่ง


Saturday, 17 September 2011

ปลาไหลทะเล

ปลาไหลทะเลเป็นสัตว์ที่พบได้ในแนวปะการังอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมักอาศัยอยู่ตามโพรงหิน สามารถขุดโพรงเป็นที่หลบซ่อนตัว และออกมาหากินในเวลากลางคืน ในธรรมชาติอาจพบอยู่ตัวเดียวหรืออยู่เป็นกลุ่มก็ได้ ปลาชนิดนี้จะผสมพันธุ์และวางไข่ในที่มีสาหร่ายหรือหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์

ปลาไหลมอเรย์ เป็นปลาไหลทะเลซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมปริมาณสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง ถ้าบริเวณใดไม่พบปลาไหลมอเรย์ หรือพบน้อยมากแสดงว่า จุดนั้นมีปริมาณและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่ำโดยเฉพาะพวกกุ้งและปู

ปลาไหลมอเรย์เป็นหนึ่งในปลาล่าเหยื่อที่สำคัญที่สุด รูปร่างเหมือนปลาไหล ผิวหนังเรียบ หนา ลื่น ไม่มีเกล็ดช่องเหงือกมองเห็นไม่ชัดเจน จุดเด่นคืออวัยวะใช้รับกลิ่นหนึ่งคู่ที่ปลายปาก หน้าตาน่ากลัว มีเขี้ยวแหลม แถมอ้าปากเป็นระยะ แต่ความจริงแล้วนั่นคือส่วนหนึ่งของวิธีการหายใจ มักซ่อนตัวตามซอกโพรงในเวลากลางวัน เมื่ออาทิตย์ตกดินจึงเลื้อยออกมาหาอาหาร ของโปรดคือกุ้งและปู จัดเป็นผู้ล่าสัตว์เล็กมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของแนวปะการังถึงแม้ว่าปลาไหลมอเรย์จะมีรูปร่างที่ดูน่ากลัว แต่ปลากลุ่มนี้จะไม่ดุร้าย โอกาสที่จะโดนกัดมักจะเป็นช่วงผสมพันธุ์หรืออยู่ในโพรงแล้วเรามองไม่เห็นไปจับข้างโพรงจึงจะโดนกัด

ปลาไหลเมอเรย์
ปลาไหลมอเรย์จัดอยู่ในครอบครัว MURAENIDAE ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด

1. ปลาไหลมอเรย์ตาขาว (Greyface moray - Siderea thyrsoidea ) มีขนาดเล็กบางครั้งสองสามตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีลักษณะเด่นคือตาสีขาวเห็นชัด พบทั่วทะเลไทยส่วนใหญ่อาศัยตามกองหิน เช่น หินชุมพร หินใบ รีเชลิว เป็นต้น

2. ปลาไหลมอเรย์ยักษ์ (Giant moray - Gymnothorax javanicus) จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในปลา กลุ่มนี้ พบในอันดามันบ่อยกว่าอ่าวไทย บางครั้งจะว่ายออกมาหากินข้างนอกโดยเฉพาะตอนกลางคืน เป็นปลาที่ไม่อันตรายหากไม่อยู่ในช่วงผสมพันธุ์

3. ปลาไหลมอเรย์จุดขาว (White-spotted moray - Gymnothorax rueppelliae) พบเฉพาะในทะเลอันดามัน ส่วนใหญ่เจอแต่กลางคืน บางครั้งออกมาเลื้อยตามปะการังเขากวาง

4. ปลาไหลมอเรย์หน้าปาน (Darkspotted moray - Gymnothorax fimbriatus) มีลักษณะพฤติกรรมคล้ายกับมอเรย์หัวเหลืองแต่พบบ่อยกว่าในอันดามัน

5. ปลาไหลมอเรย์ปานดำ (Black-spotted moray - Gymnothorax tessellata) พบตามเรือจมหรือกองหินกลางอันดามันเจอบ่อยที่หมู่เกาะจังหวัดระนอง ไม่ค่อยพบในทะเลแห่งอื่น

6. ปลาไหลริบบิ้น (Ribbon moray - Rhinomuraena quesita) เป็นหนึ่งเดียวในตระกูลมอเรย์ที่เปลี่ยนเพศได้ เมื่อตอนเด็กจะสีดำยังแยกเพศไม่ออกพอโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าและเป็นเพศผู้ พอโตเต็มวัยจะเปลี่ยนเป็นเพศเมียสีเหลือง ปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในรูตามพื้นทะเลชายแนวปะการัง ในเมืองไทยพบเฉพาะที่หมู่เกาะสิมิลัน หากินโดยการยืดหัวเข้าออกเพื่อจับปลาขนาดเล็กที่ว่ายผ่านไปมา ที่ปลายหัวจะมีลักษณะเป็นกรวยยื่นออกมาใช้เพื่อจับทิศทางของเหยื่อ

7. ปลาไหลลายน้ำตาล (Brown-banded moray Eel - Gymnothorax reticularis Bloch) มีลำตัวค่อนข้างกลมเรียวยาวคล้ายงูไม่มีเกล็ด และแบนทางด้านข้างเล็กน้อย ส่วนหัวมนปากกว้าง ครีบหลังและครีบทวารเชื่อมรวมกับครีบหางซึ่งเรียวเล็กตรงปลายแต่ไม่มีครีบหู ขนาดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร พื้นผิวลำตัวสีน้ำตาลอ่อน และมีลายคาดสีน้ำตาลเข้ม ตามขวางตามลำตัวเป็นแถบๆ แต้มด้วยจุดสีน้ำตาลขนาดใหญ่เล็กต่างกัน กระจัดกระจายทางด้านบนลำตัวมากกว่าทางด้านล่าง ตากลมสีดำและมีขอบเหลือง พบอาศัยอยู่ตามซอกหินบริเวณแนวปะการัง ขณะว่ายน้ำเอี้ยวตัวไปมามีลักษณะคล้ายงู

Thursday, 15 September 2011

ปลายี่สก

ปลายี่สกมีเผ่าพันธุ์เชื้อสายเดียวกับปลาตะเพียน เช่นเดียวกับปลาตะโกก ปลากะโห้ ปลานวลจันทร์น้ำจืด และปลาสร้อย ในภาคกลางพบปลายี่สกอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก แควน้อย แควใหญ่ ภาคเหนือพบมากที่แม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุบลราชธานี มีมากในจังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม

ลักษณะรูปร่าง
ปลายี่สกมีลักษณะเด่นคือ สีของลำตัวเป็นสีเหลืองนวล ลำตัวค่อนข้างกลมและยาว บริเวรด้านข้างมีแถบสีดำข้างละ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว ลายตามตัวเหล่านี้จะปรากฏในลูกปลาที่มีขนาด 3-50 นิ้ว บริเวณหัวมีสีเหลืองแกมเขียว ริมปากบนมีหนวดสั้น ๆ 1 คู่ มีฟันที่คอหอยเพียงแถวเดียว จำนวน 4 ซี่ เวลากินอาหารทำปากยืดหดได้ เยื่อม่านตามเป็นสีแดงเรื่อ ๆ ครีบหลัง ครีบหู ครีบท้อง ครีบก้น มีสีชมพูแทรกอยู่กับพื้นครีบ ซึ่งเป็นสีเทาอ่อน หางค่อนข้างใหญ่และเว้าลึก ปลายี่สกเป็นปลาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในจำนวนปลาน้ำจืดด้วยกัน เคยพบในจังหวัดกาญจบุรี ขนาดใหญ่ที่สุดยาว 1.35 เมตร น้ำหนัก 40 กิโลกรัม

ปลายี่สก
อุปนิสัย
ปลายี่สกชอบอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ที่พื้นท้องน้ำมีลักษณะเป็นกรวดทราย ระดับน้ำลึก 5-10 เมตร น้ำเย็นในสะอาด จืดสนิทและเป็นบริเวณที่มีน้ำไหล วังน้ำกว้างและมีกระแสน้ำไหลวน ลูกปลาจะไปรวมกันอยู่เป็นฝูงตามบริเวณที่เป็นอ่าว และพื้นเป็นโคลนหนาประมาณ 10-20 เซนติเมตร พอถึงเดือนตุลาคม ปลาจะเริ่มว่ายทวนขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อวางไข่และจะกลับถิ่นเดิมในเดือนพฤษภาคมหรือพอน้ำเริ่มมีระดับสูงขึ้น ปลายี่สกจะพากันไปอาศัยตามห้วยวังที่มีน้ำลึก กระแสน้ำไหลคดเคี้ยว พื้นดินเป็นดินทรายและกรวดหิน เป็นท้องทุ่ง (คุ้ง) หรือวังนัที่กว้างใหญ่ใกล้เขาสงบ น้ำใสสะอาด ลึกตั้งแต่ 5-10 เมตร หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดมา

ปลายี่สก
ลักษณะของปลายี่สกตัวผู้
1. ลำตัวเรียวยาว
2. ขนาดเล็กกว่าปลาตัวเมีย
3. ลักษณะเพศเป็นวงรีเล็ก มีสีชมพูเรื่อ ๆ ในฤดูผสมพันธุ์จะมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมาเป็นจำนวนมาก
4. มีตุ่มสิว (Pearl spot) ที่บริเวณแก้มและข้างตัวมากกว่าตัวเมีย เมื่อเอามือลูบจะสากมือ

ลักษณะของปลายี่สกตัวเมีย
1. ลำตัวอ้วนป้อม ช่องท่องขยายกว้าง
2. ขนาดใหญ่กว่าปลาตัวผู้
3. ช่องเพศกลมใหญ่ มีสีชมพูปนแดง และแผ่นไขมัน (papillae plate) ขยายเป็นวงล้อมรอบช่องเพศ
4. มีตุ่มสิวเช่นกัน แต่น้อยกว่าปลาตัวผู้


Monday, 12 September 2011

การเลี้ยง ปลาเสือตอ

ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปลาเสือตอ จะอาศัยอยู่บริเวณน้ำลึกในฤดูร้อนเพื่อวางไข่และย้ายตำแหน่งในฤดูน้ำหลาก ปลาเสือตอขนาดเล็กในแหล่งน้ำธรรมชาติกินอาหารประเภทสัตว์น้ำขนาดเล็กแทบทุกชนิด ส่วนปลาเสือตอขนาดใหญ่ชอบกินกุ้งฝอยและลูกปลา ส่วนปลาเสือตอที่นำมาเลี้ยงในตู้กระจกสามารถฝึกให้กินเหยื่อชนิดอื่น ๆ เช่น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา กุ้ง และหนอนมีลเวิร์มแต่ต้องใช้ความพยายามในการฝึกค่อนข้างนานกว่าปลาชนิดอื่น

วิธีฝึกให้กินเหยื่อ ต้องนำปลาชนิดอื่นที่กินเหยื่อนั้นดีอยู่แล้ว และมีขนาดไล่เลี่ยกับปลาเสือตอฝูงที่จะฝึกมาใส่รวมกันและเลี้ยงด้วยอาหารชนิดนั้น ปลาที่เคยกินเหยื่อจะชักนำให้ปลาเสือตอที่ไม่เคยกินเหยื่อชนิดนั้นแย่งกินเป็นบางครั้ง หากปลาเสือตอคายเหยื่อจะต้องคอยตักออกเมื่อฝึกไปสัก 3-4 สัปดาห์ ปลาเสือตอจะเริ่มคุ้นเหยื่อที่ให้ในระยะแรกหากปลาเสือตอที่ต้องการฝึกยังไม่ยอมกินต้องใช้เหยื่อเป็นคือ ลูกกุ้งฝอย ปลาเล็ก เป็นๆใส่ให้กินแต่น้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาท้องกิ่วตาย

ปลาเสือตอ
การเพาะขยายพันธุ์ ปลาเสือตอ
ปลาเสือตอ สามารถวางไข่โดยวิธีธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้การฉีดฮอร์โมนเข้าช่วย ช่วงการวางไข่ประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปลาเสือตอเพศผู้จะมีขนาดโตเต็มวัยเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 300-400 กรัม ส่วนปลาเสือตอเพศเมียขนาด 800 กรัมจะได้วัยเจริญพันธุ์

ไข่ปลาเสือตอเป็นไข่ประเภทลอยน้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ใช้เวลาฟักออกเป็นตัวประมาณ 14-17 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ 29 องศาเซลเซียส และถุงอาหารจะยุบภายในเวลา 2-3 วัน อาหารที่เหมาะสมของลูกปลาเสือตอวัยอ่อนควรเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก เช่นโรติเฟอร์ในระยะ 3-10 วันแรก และใช้ไรแดงเลี้ยงอนุบาลจนได้ขนาด 3 เซนติเมตรขึ้นไป จึงใช้หนอนแดงอาร์ทีเมียขนาดใหญ่หรือลูกปลาขนาดเล็กให้กินเป็นอาหาร

ปลาเสือตอลายใหญ่
ตลาด ปลาเสือตอ
ปลาเสือตอที่พบในแหล่งน้ำทางภาคอีสานเป็นปลาเสือตอลายเล็กมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius Undecimraciatus หรือในชื่อเรียกที่รู้จักในตลาดปลาสวยงามว่า "เสือตอลายเล็ก" พบมากในแม่น้ำโขงแถบจังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร ในแม่น้ำมูล มีจำนวนค่อนข้างมาก ราคาซื้อขายขนาดเล็ก 2 นิ้วฟุต ตัวละ 20-50 บาท ปลาเสือตออีกชนิดหนึ่งคือ ปลาเสือตอน้ำกร่อยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coius Quadrifasciatus หรือเรียกว่า "ปลากะพงลาย" เป็นปลาเสือตอที่ลายเล็กที่สุดมีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าว พบในแหล่งธรรมชาติตามปากแม่น้ำแทบทุกแห่งทั่วประเทศ จัดเป็นปลาเสือตอที่ราคาถูกที่สุด

ปลาเสือตอชนิดที่นิยมและมีราคาสูงที่สุดในปัจจุบันคือ ปลาเสือตอลายใหญ่และเสือตอลายคู่(ลาย 7 ขีด) ปลาเสือตอทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา เป็นปลาที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ คือ ทะเลสาบในประเทศเขมรโดยมีพ่อค้าคนกลางเก็บรวบรวม ปลาเสือตอทุกขนาดลำเลียงเข้ามาในประเทศไทยเพื่อขายส่งต่อไปยังต่างประเทศทั่วโลกเป็นสินค้าปลาสวยงามนิ้วละ 60-100 บาท ส่วนปลาเสือตอลายคู่ราคาจะสูงกว่าปลาเสือตอลายใหญ่เกือบ 3 เท่าตัว

Friday, 9 September 2011

เทคนิคการเลี้ยงปลาอโรวาน่าให้สวย

การเลี้ยงปลาอะโรวาน่าไม่ให้ตายไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปนัก แต่การที่จะเลี้ยงให้โตเร็วและแข็งแรงผู้เลี้ยงจำเป็นจะต้องศึกษาเทคนิคการเลี้ยงปลาที่ถูกวิธี การเลี้ยงปลาให้โตเร็วมีปัจจัยสำคัญดังนี้

1.อาหาร ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะคุณค่าทางโปรตีนและแคลเซียมซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลาโดยตรง ดังนั้นการให้อาหารโดยลูกกุ้งเป็น ๆ ดูจะให้ผลดีที่สุด เนื่องจากน่าจะให้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน แมลงสาบไม่ควรนำมาเป็นอาหารปลา เนื่องจากเป็นภาหะนำเชื้อโรคมาสู่ปลาได้และยังอาจนำสารพิษมาสู่ปลาได้ด้วย โดยเฉพาะแมลงสาบที่มีอาการเซื่องซึมไม่ควรนำมาให้ปลากิน เนื่องจากอาจได้รับสารพิษจากยาฆ่าแมลงซึ่งเจ้าหน้าที่ กทม. นำมาฉีดตามท่ระบายน้ำ การให้อาหารด้วยลูกปลาเป็น ๆ ก็มิใช่ว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยเสมอไป เพราะถ้าลูกปลาที่นำมาเป็นอาหารเกิดเป็นโรคระบาดหรือติดเชื้อ ก็อาจทำให้เชื้อโรคมาระบาดในตู้ปลาได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคเห็บ หนอนสมอรวมทั้งโรคครีบเน่าเปื่อย ดังนั้นจึงควรตรวจสอบดูสภาพของลูกปลาก่อนที่จะนำมาเป็นอาหารสำหรับปลาอะโรวาน่าเพื่อความปลอดภัย

เทคนิคการเลี้ยงปลาอโรวาน่า
2. อากาศ ดังที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าอากาศช่วยให้ปลามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เมื่อปลามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ปลาก็จะกินเก่งและโตเร็ว ดังนั้นภายในตู้ปลาจึงควรเปิดเครื่องปั๊มอ๊อกซิเจนตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าภายในตู้มีอากาศเพียงพอสำหรับปลาเพื่อหายใจ

3. น้ำ ความสัมพันธ์ของน้ำที่มีต่อปลาได้อธิบายแล้วในหัวข้อข้างต้นดังนั้นวิธีปฏิบัติที่จะให้ผลดีก็คือท่านควรเปลี่ยนถ่ายน้ำในตู้ทุกเดือน เดือนละ 1-2 ครั้ง โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำในแต่ละครั้งไม่เกิน 20-30เปอร์เซ็นต์ จะสังเกตได้ว่าภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำปลาจะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที

เทคนิคการเลี้ยงปลาอโรวาน่า
4. อุณหภูมิ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของปลา เพราะถ้าอุณหภูมิของน้ำต่ำเกินไปปลาจะไม่ค่อยยอมกินอาหารและไม่ค่อยว่า ดังนั้นจึงควรรักษาอุณหภูมิของน้ำภายในตู้ปลาให้คงที่สม่ำเสมอ โดยการเปิดไฟตู้ปลา(ควรใช้หลอดเทียมแสงอาทิตย์)ไว้ตลอดเวลาเพื่อรักษา อุณหภูมิของน้ำเพื่อปลาจะได้รู้สึกเป็นปกต

5. สภาพแวดล้อม ถ้าหากปลาถูกเลี้ยงไว้ในสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากเท่าไหร่ ปลาย่อมจะกินเก่งและโตวัยเท่านั้น เนื่องจากปลาไม่ตื่นที่ ปลาที่ตื่นตกใจบ่อยจะไม่ค่อยยอมกินอาหาร ดังนั้นในการเลี้ยงปลาจึงควรหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะทำให้ปลาตกใจ6

ปลาอโรวาน่า
6. โรคภัย โรคภัยที่มาเบียดเบียนปลานับเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ปลาหยุดชะงักการเจริญเติบโต มีอยู่บ่อยครั้งที่ปลาดี ๆ สวย ๆ ต้องหยุดการเจริญเติบโตเนื่องจากถูกโรคภัยเบียดเบียน ดังนั้นจึงควรป้องกันไม่ให้ปลาป่วยเป็นโรคเป็นดีที่สุด


Wednesday, 7 September 2011

ปลาวัวมงกุฎ หรือ ปลาวัวจุด

ชื่ออังกฤษ : Clown Triggerfish
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balistoides conspicillum (Bloch)

ชื่อไทย : ปลาวัวมงกุฎ หรือ ปลาวัวจุด ปลาวัวตัวตลก


วงศ์ : BALISTIDAE

ไฟลั่ม : CHORDATA

ลักษณะนิสัย มีความดุร้าย

ลักษณะทั่วไป
รูปร่างค่อนข้างแตกต่าง จากปลาชนิดอื่น ลำตัวป้อม ด้านข้างแบน เป็นรูปไข่เรียวแหลมทางหัวและท้าย นัยน์ตาค่อนข้างเล็ก ปลายแหลม ปากเล็ก ครีบหลังแยกจากกันเป็นสองตอน ตอนหน้าเป็นก้านครีบ เป็นหนามแข็งตั้งขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหูบางใส ครีบหลังตอนท้ายและครีบทวารบางพริ้ว ครีบท้องขนาดเล็ก ครีบหางปลายโค้งเล็กน้อย ขนาดความยาวประมาณ 35 เซนติเมตร พื้นผิวลำตัวและครีบหลังอันหน้าสีน้ำตาลไหม้ กลางหลังมีลายสีเหลืองจุดน้ำตาลแต้ม ปากสีเหลืองส้ม ตามลำตัวส่วนล่างมีจุดสีขาวรูปไข่ขนาดใหญ่แต้มเป็นระยะทั่วไป

ปลาวัวมงกุฎ หรือ ปลาวัวจุด 
การแพร่กระจายในประเทศไทย พบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยเฉพาะหมู่เกาะสิมิลัน บริเวณที่อยู่อาศัยใกล้พื้นในแนวปะการังที่มีน้ำใส ความลึกประมาณ 15-30 เมตร กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร รวมถึงกัดแทะสัตว์เล็กตามพื้น

ปลาวัวมงกุฎ หรือ ปลาวัวจุด 
ปลาวัวชนิดนี้อาศัยอยู่ตามเกาะแก่งและแนวปะการังฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ที่นักเลี้ยงปลาตู้นิยมและจัดว่าเป็นปลาที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่ง

ปลาวัวมงกุฎ หรือ ปลาวัวจุด ปลาวัวตลก 


Monday, 5 September 2011

ปลาปิรันยา

ปิรันยา หรือ ปิรันฮา (อังกฤษ: Piranha) เป็นชื่อสามัญเรียกปลาน้ำจืดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในวงศ์ย่อย Serrasalmidae ในวงศ์ปลาคาราซิน (Caracidae) โดยทั่วไป ปลาที่ได้ชื่อว่า "ปิรันยา" นั้นจะหมายถึงปลาในสกุล Pristobrycon, Pygocentrus, Pygopristis และ Serrasalmus แต่ก็อาจรวมถึงปลาในสกุล Catoprion ด้วย ส่วนปลาในสกุลอื่นมักไม่นิยมเรียกว่าปิรันยา ถึงแม้จะอยู่ในวงศ์ย่อยนี้ก็ตาม

ปลาปิรันยากินเนื้อเป็นอาหาร มักอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ พบในแม่น้ำอเมซอน ทวีปอเมริกาใต้ มีฟันที่แหลมคมกินเนื้อของสัตว์ที่ตกลงไปอยู่ใกล้ที่อยู่ของมันเป็นอาหาร แต่ถ้าไม่มีสัตว์อะไรเลยตกลงไปในที่อยู่ของมันมันก็จะกินปลาในแม่น้ำเป็นอาหาร เป็นปลาที่อันตรายชนิดหนึ่ง ที่ทั่วโลกรู้จักดี ชนิดที่ดุร้ายมาก ได้แก่ ปิรันยาแดง (Pygocentrus nattereri) ฯลฯ บางประเทศ เช่น ประเทศไทยห้ามนำเข้า เพราะเกรงจะแพร่ลงสู่แหล่งน้ำและขยายพันธุ์ แต่บางประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้ แต่ในพื้นถิ่นแล้ว คนพื้นเมืองนิยมกินปลาปิรันยาเป็นอาหาร และปลาปิรันยาเองก็มักตกเป็นอาหารของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาอะราไพม่า (Arapaima gigas) , นากยักษ์ (Pteronura brasiliensis) , โลมาแม่น้ำอเมซอน (Inia geoffrensis) และนกกินปลาอีกหลายชนิด

ปลาปิรันยา (Piranha)
ปลาชนิดอื่นซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาปิรันยา แต่ไม่มีความดุร้ายเท่าและสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ คือ ปลาเปคู (Pacu) หรือ ปลาคู้ ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นปลาเศรษฐกิจและปลาสวยงามด้วย เช่น ปลาคู้ดำ (Colossoma macropomum) และ ปลาคู้แดง (Piaractus brachypomus) เป็นต้น

การแพร่กระจายพันธุ์ ปลาปิรันยา
ปลา ปิรันย่า นั้นพบในลุ่มแม่น้ำอเมซอน: ใน โอริโนโค (Orinoco), ในแม่น้ำของกีอาน่า (Guyana), ในปารากวัย-ปารานา (Paraguay-Parana), และในระบบแม่น้ำเซาฟรังซีสกู (Sao Fransico) มีบางชนิดที่มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง แต่ในทางตรงข้ามก็มีบางชนิดที่มีการแพร่ะกระจายอยู่ในวงจำกัด. อย่างไรก็ตาม ปิรันย่า ได้เคยถูกนำเข้าไปยังสหรัฐอเมริกา, มีบางครั้งบางคราวที่ถูกพบใน แม่น้ำโปโตแม็ค (Potomac RIver) แต่ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพหนาวจัดของบริเวณนั้น. จนเมื่อไม่นานมานี้ ปิรันย่า ได้ถูกจับได้โดยชาวประมงใน แม่น้ำคาทาวบา (Catawba RIver) ใน North Carolina นี่เป็นกรณีแรกใน North Carolina. ปลาปิรันย่าได้ถูกพบอีกครั้งที่ทะเลสาปแคปไต (Kaptai Lake) ในตะวันออกเฉียงใต้ของบังคลาเทศ



ปลาปิรันยา (Piranha)
ลักษณะของปลาปิรันย่า
ลักษณะทั่วไปของปลาปิรันยา มีลำตัวแบนข้าง ส่วนท้องกว้าง บางชนิดมีจุดสีน้ำตาลและสีดำ บางชนิดข้างลำตัวส่วนล่างสีขาว, สีเหลืองและสีชมพู แล้วแต่ละชนิดแตกต่างออกไป

ปลาปิรันย่า โดยปกติมีขนาดตั้งแต่ 15-25 ซม. (6-10 นิ้ว) ในบางชนิดพบว่ามีขนาดถึง 41 ซม. (24 นิ้ว) เลยทีเดียว

ปลา ปิรันย่าในสกุล Serrasalmus, Pristobrycon, Pygocentrus, และ Pygopristis สามารถจำแนกได้ง่ายมาก โดยดูจากลักษณะเฉพาะของฟัน. ปลาปิรันย่าทั้งหมด มีฟันที่มีความคมเรียงกันเป็นแถวเดียวบนขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง; ฟันเหล่านั้นจะเรียงตัวกันแน่นเป็นระเบียบและเชื่อมต่อกัน เพื่อใช้ในการกัดและฉีกอย่างรวดเร็ว. ฟันที่มีลักษณะเฉพาะของมันจะมีรูปแบบเป็นทรงสามเหลี่ยม คล้ายใบมีด.ฝีปากล่างยื่นออกมายาวมากกว่าริมฝีปากบน แต่เมื่อหุบปากจะปิดสนิทระหว่างกันพอดี ปลาปิรันย่าส่วนใหญ่จะมีฟันเขี้ยวแบบสามเหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่ ยกเว้นในสกุล Pygopristis จะมีฟันเขี้ยวแบบห้าเหลี่ยม และ ฟัน premaxillary มีอยู่ด้วยกัน 2 แถว ซึ่งจะพบได้ในปลาส่วนใหญ่ใน วงศ์ย่อย (Subfamily) Serrasalminae

Thursday, 1 September 2011

ปลากะรังหน้างอน หรือ ปลากะรังหงส์

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cromileptes altivelis

วงศ์ปลากะรัง (Serranidae)

ปลากะรังหน้างอน หรือ ปลากะรังหงส์

ลักษณะทั่วไป ปลากะรังหน้างอน
มีรูปร่างหัวเรียวแหลม ปากเล็ก ตาเล็ก ครีบหลังต่อเป็นแผ่นเดียว ลำตัวสีเทาอ่อน แต้มด้วยจุดสีดำกระจายทั่วทั้งตัวและครีบ ขนาด: มีความยาวเต็มที่ 70 เซนติเมตร ใช้เวลาโตเต็มที่ประมาณ 2 ปี น้ำหนักกว่า 2.5 กิโลกรัม

ปลากะรังหน้างอน หรือ ปลากะรังหงส์ 
สี ปลากะรังหน้างอน : ลำตัวสีเทาอ่อน พื้นผิวแต้มด้วยจุดสีดำกระจายทั่วทั้งตัวและครีบ ลักษณะลำตัวยาว แบนข้าง หัวด้านหน้าตั้งแต่จุดเริ่มครีบหลังจนถึงปลายจะงอยปากลักษณะโค้งงอนขึ้น ครีบหลังและครีบก้นขนาดใหญ่ หางขนาดใหญ่ปลายกลม ปลาวัยเด็กลำตัวสีขาวสดใส จุดสีดำขนาดใหญ่กระจายตามลำตัว เมื่อมีอายุมากขึ้น พื้นลำตัวเปลี่ยนเป็นสีเทาปนน้ำตาล จุดสีดำขนาดเล้กลงเมื่อเทียบกับขนาดของลำตัว

ปลากะรังหน้างอน หรือ ปลากะรังหงส์ 
แหล่งที่พบ ปลากะรังหน้างอน : การแพร่กระจาย: พบกระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลบริเวณแนวปะการังหรือกองหินที่มีน้ำขุ่น ความลึกตั้งแต่ 2-40 เมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในทะเลจีน, ญี่ปุ่น, ปาปัวนิวกินี, มหาสมุทรอินเดีย, หมู่เกาะนิโคบาร์, ออสเตรเลียตอนเหนือ, ไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย

ถิ่นการกระจายในประเทศไทย: เกาะที่อยู่ไกลชายฝั่ง เช่นเกาะเต่า โลซิน

ปลากะรังหน้างอน หรือ ปลากะรังหงส์ 

อาหาร : สัตว์หน้าดิน เช่น กุ้ง และปู