Wednesday 3 August 2011

หินเทียมเพื่อเพาะเลี้ยงแบคทีเรียอาหารปลา

เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกตามบ้านเรือนทั่วไป ด้วยเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นที่มาของความสุขและเพลิดเพลินเจริญสายตาของผู้เป็นเจ้าของ ขณะเดียวกันทุกวันนี้ตลาดปลาสวยงามก็นับได้ว่ากำลังมาแรงอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นมีการเพาะขายไปยังตลาดต่างประเทศนำเงินรายได้เข้าสู่กระเป๋าเกษตรกรและประชาชาติ ปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจก นั้น อดีตมีการนำเอาวัสดุจากสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติโดยเฉพาะจากท้องทะเลมาเป็นเครื่องประดับเติมเต็มความสวยงามให้กับตู้ปลา แต่ปัจจุบันมีการรณรงค์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมากขึ้น และหากมีการฝ่าฝืนก็ผิดกฎหมายอีกต่างหาก ขณะที่ความต้องการของนักเลี้ยงปลาในตู้ก็ ยังมีอยู่ไม่ขาดสาย ซึ่งนี่คือที่มาของการคิดค้นสร้างหินเป็นเทียมขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนประกอบ สำคัญของความสวยงามแบบธรรมชาติภายในตู้ปลา

หินเทียม
ฝ่ายวิจัยการเพาะเลี้ยง สถาบันวิทยาศาสตร์ ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรีได้มีการศึกษาเรื่องนี้และประสบผลสำเร็จจนสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรและผู้สนใจนำไปทำเองได้แล้วในตอนนี้

ข้อมูลจากส่วนงานที่กำลังกล่าวถึงนี้ระบุว่า วัสดุที่ใช้เพื่อการทำหินเทียมประกอบด้วย หินปูน หรือทรายหยาบ หรือเปลือกหอยนางรมบดหรือวัสดุที่ใกล้เคียงอย่างใดอย่างหนึ่งผสมรวมกัน 4-5 ส่วน รายการที่ 2 คือ กระบะทรายพร้อมทรายละเอียดที่ซื้อสำหรับทำเป็นแบบ สุดท้ายคือปูน ตัวยึดเหนี่ยวให้วัสดุเชื่อมติดกันตามรูปแบบที่ต้องการ

ขั้นตอนการทำเริ่มด้วยการนำเอาวัสดุที่กล่าวมามารวมกันคลุกเคล้าให้เข้ากันกับปูนซีเมนต์ โดยใช้ปูน 1 ส่วน จากนั้นผสมน้ำลงไปประมาณ 1/2-1 ส่วน ควรระวังอย่าให้น้ำมากเกินไป จากนั้นผสมกันให้เข้าที่ ขั้นต่อไปก็นำกระบะทรายที่เตรียมไว้สำหรับการทำแบบมาขุดหลุมเป็นขนาดและรูปร่าง ที่ต้องการ แล้วนำส่วนผสมมาหยอดลงในแบบที่ ขุดไว้ บริเวณใดที่ต้องการให้เป็นโพรง ถ้ำ หรือรอยแตกให้ใช้ทรายเป็นตัวกั้นไว้

ขั้นตอนสุดท้ายคือการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนหินเทียม ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญและใช้เวลาค่อนข้างนานซึ่งเปรียบได้กับการทำหินเทียมที่ทำขึ้นให้มีชีวิต คือสามารถใช้ประโยชน์ในด้านการควบคุมคุณภาพน้ำเช่นเดียวกับหินเป็น หลังจากที่นำหินเทียมออกจากแบบแล้วให้นำหินนั้นแช่น้ำจืดและเปลี่ยนน้ำทุกวัน เพื่อให้ปูนหมดความเป็นด่าง ซึ่งจะใช้ เวลาประมาณ 10-15 วัน หากต้องการเร่งให้ใส่ น้ำส้มสายชูผสมลงไปด้วย จะช่วยร่นระยะเวลาให้ เร็วขึ้น

หลังจากที่หินหมดความเป็นด่างแล้วให้นำมาใส่ในตู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาที่ยังไม่มีสัตว์หรือภาชนะอื่น ๆ เติมน้ำทะเลลงไป ใส่อากาศ แล้วใส่แอมโมเนียมคลอไรด์ หรือถ้าหาไม่ได้อาจใช้เนื้อกุ้งหรือเนื้อหอยขนาดตัวเล็ก ๆ จำนวน 1 ตัว ใส่ลงไปทุกอาทิตย์ จะเกิดการเน่าสลายให้แอมโมเนียออกมาเป็นอาหารกับแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียที่ต้องการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนเกาะอยู่บนหินที่ทำขึ้น ในช่วงนี้ให้ทำ การตรวจปริมาณของแอมโมเนียและไนไตรต ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน หินนั้นก็จะมีแบคทีเรียพร้อมที่จะทำงานได้เมื่อนำไปใส่ ในตู้เลี้ยง หากต้องการสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นสาหร่ายก็สามารถนำเอาสาหร่ายมาผูกติดหรือเกาะบนหิน เมื่อเวลาผ่านไปสาหร่ายก็จะขึ้นปกคลุมหินนั้นทำให้เหมือนกับหินที่ได้มาจากธรรมชาติ

No comments: