Tuesday 6 January 2009

การเลี้ยงปลาช่อน

ลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ลำตัวมีสีดำ มีถุงไข่แดงสีเหลืองใสปลาจะลอยตัวในลักษณะหงายท้องขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่นิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 2 – 3 วันจึงพลิกตัวกลับลง และว่ายไปมาตราปกติโดยว่ายรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณผิวน้ำ

ลูกปลาช่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัว เมื่อถุงไข่แดงยุบ วันที่ 4 จึงเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละลายกับน้ำผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุย่างเข้าวันที่ 6 จึงให้ไรแดงเป็นอาหารอีก 2 สัปดาห์ และฝึกให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น เนื้อปลาสดบด โดยใส่อาหารในแท่นรับอาหารรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีทุ่นผูกติดอยู่ ถ้าให้อาหารไม่เพียงพออัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะแตกต่างกัน และพฤติกรรมการกินกันเอง ทำให้ตราการรอดตายต่ำจึงต้องคัดขนาดลูกปลา การอนุบาลลูกปลาช่อนโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆละ 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำ

บ่อเลี้ยงปลาช่อน
การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาช่อน
การเลี้ยงปลาช่อนเพื่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น นิยมเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งมีหลักการเตรียมบ่อดินเหมือนกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆไป ดังนี้
1. ตากบ่อให้แห้ง
2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน ในอัตราประมาณ 60 – 100 กิโลกรัม / ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน
3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลา ในอัตราประมาณ 40 – 80 กิโลกรัม/ไร่
4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองน้ำเพื่อไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนกระทั่งมีระดับน้ำลึก 30–40 เซนติเมตร ระยะไว้ 1 – 2 วันจึงปล่อยลูกปลา ลูกปลาจะได้มีอาหารกินหลังจากที่ได้เตรียมอาหารธรรมชาติในบ่อ (ข้อ 3) เรียบร้อยแล้ว
5. ก่อนปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำ ในภาชนะลำเลียงและบ่อให้ใกล้เคียงกัน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า

Friday 2 January 2009

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาช่อน
ลักษณะแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ปลาช่อนที่ดีซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ แม่พันธุ์ควรมีส่วนท้องอูมเล็กน้อย ลักษณะติ่งเพศมีสีแดงหรือสีชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมามีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน ใส ส่วนพ่อพันธุ์ติ่งเพศควรจะมีสีชมพูเรื่อๆปลาไม่ควรจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมมากเกินไป เป็นปลาขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่ประชาชนนิยมบริโภค ทำให้ปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สำหรับเกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาช่อน เนื่องจากเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว ทนทานต่อโรคและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งนี้ ลูกปลาช่อนที่เกษตรกรรวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนดังนั้นการเพาะพันธุ์ปลาจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตพันธุ์ปลาช่อน

ปลาช่อน
ในการเพาะพันธุ์ปลาช่อนต้องคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาช่อนที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะมีอายุ 1ปีขึ้นไป ขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม บ่อเพาะพันธุ์ควรมีระดับความลึกของน้ำประมาณ 1.0 – 1.5 เมตร และมีการถ่ายเทน้ำบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี มีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนมีน้ำเชื้อและไข่ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ วิธีนี้ควรใช้บ่อเพาะพันธุ์เป็นบ่อดินขนาด 0.5 – 1.0 ไร่ พร้อมทั้งจัดสภาพสิ่งแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติ โดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตรา 1:1 ให้ปลาเป็ดผสมรำเป็นอาหารในปริมาณ 2.5 – 3.0 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา

2. การเพาะพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียมด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาช่อนด้วยวิธีผสมเทียมโดยใช่ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่เพื่อที่จะรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อหรือปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ได้แก่ LHRHa หรือ LRH – a โดยใช้ร่วมกับโดมเพอริโดน (Domperidone)การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลาช่อนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์สามารถฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่นั้น ด้วยการฉีดเพียงครั้งเดียวที่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับโดมเพอริโดน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ระดับความเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับโดมเพอริโดน 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม จากนั้นประมาณ 8–10 ชั่วโมง สามารถรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อได้เนื่องจากไข่ปลาช่อนมีไขมันมากเมื่อทำการผสมเทียมจึงต้องล้างน้ำหลายๆครั้ง เพื่อขจัดคราบไขมัน นำไข่ไปฟักในถังไฟเบอร์กลาสขนาด 2 ตัน ภายในถังเพิ่มออกชิเจนผ่านหัวทรายโดยเปิดเบาๆ ในกรณีที่ปล่อยให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันเอง หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้วต้องแยกไข่ไปฟักต่างหากเช่นกัน



การฟักไข่
ไข่ปลาช่อนมีลักษณะกลมเล็ก เป็นไข่ลอย มีไขมันมาก ไข่ที่ดีมีสีเหลือง ใส ส่วนไข่เสียจะทึบ ไข่ปลาช่อนฟักเป็นตัวภายในเวลา 30 –35 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด - ด่าง 7.8 ความกระด้าง 56 ส่วนต่อล้าน