Tuesday 6 January 2009

การเลี้ยงปลาช่อน

ลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ลำตัวมีสีดำ มีถุงไข่แดงสีเหลืองใสปลาจะลอยตัวในลักษณะหงายท้องขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่นิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 2 – 3 วันจึงพลิกตัวกลับลง และว่ายไปมาตราปกติโดยว่ายรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณผิวน้ำ

ลูกปลาช่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัว เมื่อถุงไข่แดงยุบ วันที่ 4 จึงเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละลายกับน้ำผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุย่างเข้าวันที่ 6 จึงให้ไรแดงเป็นอาหารอีก 2 สัปดาห์ และฝึกให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น เนื้อปลาสดบด โดยใส่อาหารในแท่นรับอาหารรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีทุ่นผูกติดอยู่ ถ้าให้อาหารไม่เพียงพออัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะแตกต่างกัน และพฤติกรรมการกินกันเอง ทำให้ตราการรอดตายต่ำจึงต้องคัดขนาดลูกปลา การอนุบาลลูกปลาช่อนโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆละ 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำ

บ่อเลี้ยงปลาช่อน
การเตรียมบ่อเลี้ยงปลาช่อน
การเลี้ยงปลาช่อนเพื่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น นิยมเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งมีหลักการเตรียมบ่อดินเหมือนกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆไป ดังนี้
1. ตากบ่อให้แห้ง
2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน ในอัตราประมาณ 60 – 100 กิโลกรัม / ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน
3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลา ในอัตราประมาณ 40 – 80 กิโลกรัม/ไร่
4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองน้ำเพื่อไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนกระทั่งมีระดับน้ำลึก 30–40 เซนติเมตร ระยะไว้ 1 – 2 วันจึงปล่อยลูกปลา ลูกปลาจะได้มีอาหารกินหลังจากที่ได้เตรียมอาหารธรรมชาติในบ่อ (ข้อ 3) เรียบร้อยแล้ว
5. ก่อนปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำ ในภาชนะลำเลียงและบ่อให้ใกล้เคียงกัน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า



ขั้นตอนการเลี้ยงปลาช่อน
ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด

1. อัตราการปล่อยปลา ลูกปลาขนาด 8 – 10 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 30 – 35 ตัว / กิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัว/ตารางเมตร และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ให้ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยงอัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร / น้ำ 100 ตัน) ในวันแรกที่จะปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น

2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็ก คือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4 : 1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ด 40 เปอร์เซ็นต์ รำ 30 เปอร์เซ็นต์ หัวอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4 – 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบนลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2 – 3 เซนติเมตร ควรวางไว้หลายๆจุด

3. การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30 – 40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำ สัปดาห์ละ 10 เซนติเมตร จนได้ระดับ 50 เซนติเมตร จึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะเติบโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด มิฉะนั้นปลาขนาดใหญ่จะกินปลาขนาดเล็ก

4. ผลผลิต หลังจากอนุบาลปลาในช่วง 2 เดือนแล้ว ต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4 – 5 เดือน จะให้ผลผลิต 1 – 2 ตัว/กิโลกรัม เช่นเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน จะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม

5. การจับ เมื่อปลาโตได้ขนาดตลาดต้องการจึงจับจำหน่าย ก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1 – 2 วัน

6. การป้องกันโรค โรคของปลาช่อนที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหา คุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งสาเหตุเกิดจากการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดการให้อาหารทันที

No comments: