Saturday 17 September 2011

ปลาไหลทะเล

ปลาไหลทะเลเป็นสัตว์ที่พบได้ในแนวปะการังอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมักอาศัยอยู่ตามโพรงหิน สามารถขุดโพรงเป็นที่หลบซ่อนตัว และออกมาหากินในเวลากลางคืน ในธรรมชาติอาจพบอยู่ตัวเดียวหรืออยู่เป็นกลุ่มก็ได้ ปลาชนิดนี้จะผสมพันธุ์และวางไข่ในที่มีสาหร่ายหรือหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์

ปลาไหลมอเรย์ เป็นปลาไหลทะเลซึ่งถือเป็นผู้ควบคุมปริมาณสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง ถ้าบริเวณใดไม่พบปลาไหลมอเรย์ หรือพบน้อยมากแสดงว่า จุดนั้นมีปริมาณและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่ำโดยเฉพาะพวกกุ้งและปู

ปลาไหลมอเรย์เป็นหนึ่งในปลาล่าเหยื่อที่สำคัญที่สุด รูปร่างเหมือนปลาไหล ผิวหนังเรียบ หนา ลื่น ไม่มีเกล็ดช่องเหงือกมองเห็นไม่ชัดเจน จุดเด่นคืออวัยวะใช้รับกลิ่นหนึ่งคู่ที่ปลายปาก หน้าตาน่ากลัว มีเขี้ยวแหลม แถมอ้าปากเป็นระยะ แต่ความจริงแล้วนั่นคือส่วนหนึ่งของวิธีการหายใจ มักซ่อนตัวตามซอกโพรงในเวลากลางวัน เมื่ออาทิตย์ตกดินจึงเลื้อยออกมาหาอาหาร ของโปรดคือกุ้งและปู จัดเป็นผู้ล่าสัตว์เล็กมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของแนวปะการังถึงแม้ว่าปลาไหลมอเรย์จะมีรูปร่างที่ดูน่ากลัว แต่ปลากลุ่มนี้จะไม่ดุร้าย โอกาสที่จะโดนกัดมักจะเป็นช่วงผสมพันธุ์หรืออยู่ในโพรงแล้วเรามองไม่เห็นไปจับข้างโพรงจึงจะโดนกัด

ปลาไหลเมอเรย์
ปลาไหลมอเรย์จัดอยู่ในครอบครัว MURAENIDAE ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด

1. ปลาไหลมอเรย์ตาขาว (Greyface moray - Siderea thyrsoidea ) มีขนาดเล็กบางครั้งสองสามตัวอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีลักษณะเด่นคือตาสีขาวเห็นชัด พบทั่วทะเลไทยส่วนใหญ่อาศัยตามกองหิน เช่น หินชุมพร หินใบ รีเชลิว เป็นต้น

2. ปลาไหลมอเรย์ยักษ์ (Giant moray - Gymnothorax javanicus) จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในปลา กลุ่มนี้ พบในอันดามันบ่อยกว่าอ่าวไทย บางครั้งจะว่ายออกมาหากินข้างนอกโดยเฉพาะตอนกลางคืน เป็นปลาที่ไม่อันตรายหากไม่อยู่ในช่วงผสมพันธุ์

3. ปลาไหลมอเรย์จุดขาว (White-spotted moray - Gymnothorax rueppelliae) พบเฉพาะในทะเลอันดามัน ส่วนใหญ่เจอแต่กลางคืน บางครั้งออกมาเลื้อยตามปะการังเขากวาง

4. ปลาไหลมอเรย์หน้าปาน (Darkspotted moray - Gymnothorax fimbriatus) มีลักษณะพฤติกรรมคล้ายกับมอเรย์หัวเหลืองแต่พบบ่อยกว่าในอันดามัน

5. ปลาไหลมอเรย์ปานดำ (Black-spotted moray - Gymnothorax tessellata) พบตามเรือจมหรือกองหินกลางอันดามันเจอบ่อยที่หมู่เกาะจังหวัดระนอง ไม่ค่อยพบในทะเลแห่งอื่น

6. ปลาไหลริบบิ้น (Ribbon moray - Rhinomuraena quesita) เป็นหนึ่งเดียวในตระกูลมอเรย์ที่เปลี่ยนเพศได้ เมื่อตอนเด็กจะสีดำยังแยกเพศไม่ออกพอโตขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีฟ้าและเป็นเพศผู้ พอโตเต็มวัยจะเปลี่ยนเป็นเพศเมียสีเหลือง ปลาชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในรูตามพื้นทะเลชายแนวปะการัง ในเมืองไทยพบเฉพาะที่หมู่เกาะสิมิลัน หากินโดยการยืดหัวเข้าออกเพื่อจับปลาขนาดเล็กที่ว่ายผ่านไปมา ที่ปลายหัวจะมีลักษณะเป็นกรวยยื่นออกมาใช้เพื่อจับทิศทางของเหยื่อ

7. ปลาไหลลายน้ำตาล (Brown-banded moray Eel - Gymnothorax reticularis Bloch) มีลำตัวค่อนข้างกลมเรียวยาวคล้ายงูไม่มีเกล็ด และแบนทางด้านข้างเล็กน้อย ส่วนหัวมนปากกว้าง ครีบหลังและครีบทวารเชื่อมรวมกับครีบหางซึ่งเรียวเล็กตรงปลายแต่ไม่มีครีบหู ขนาดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร พื้นผิวลำตัวสีน้ำตาลอ่อน และมีลายคาดสีน้ำตาลเข้ม ตามขวางตามลำตัวเป็นแถบๆ แต้มด้วยจุดสีน้ำตาลขนาดใหญ่เล็กต่างกัน กระจัดกระจายทางด้านบนลำตัวมากกว่าทางด้านล่าง ตากลมสีดำและมีขอบเหลือง พบอาศัยอยู่ตามซอกหินบริเวณแนวปะการัง ขณะว่ายน้ำเอี้ยวตัวไปมามีลักษณะคล้ายงู

No comments: