Monday 8 August 2011

ปลากะทิงไฟ

ชื่อสามัญ : Fire Spiny Eel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotaenia

ลักษณะทั่วไป ปลากะทิงไฟ
เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่สกุลเดียวกับปลากระทิงดำ รูปร่างคล้ายปลาไหล มีขนาดความยาวประมาณ 20 - 70 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาว และแบนข้าง มีจะงอยปากเป็นติ่งเล็กยื่นออกมาทำหน้าที่รับความรู้สึก พื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ข้างลำตัวมีเส้นหรือจุดสีแดงขนาดใหญ่และเล็กเรียงตามความยาวลำตัวบริเวณนัยน์ตาจนถึงโคนครีบหาง ครีบหางและครีบก้นเชื่อมติดกันถึงครีบหลังตอนท้าย ครีบทั้งหมดมีสีแดงสด บริเวณขอบครีบหนังเป็นกระดูกแหลมแข็งสำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหูมีสีดำขอบแดง ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่แตกต่างจากปลากระทิงชนิดอื่นคือ ปลากระทิงไฟไม่มีกระดูกที่เป็นหนามแหลมอยู่บริเวณหน้า นัยน์ตา ปลากระทิงไฟที่พบในภาคกลาง จะมีสีแดงสดใสกว่าแหล่งน้ำอื่น

ปลากะทิงไฟ
ในกรณีที่ต้องการเลี้ยงปลากระทิงไฟรวมเป็นฝูง ควรเลือกปลาขนาดใหญ่พอๆกันเพื่อความปลอดภัย และควรจัดซอกมุมหลายๆแห่งเพื่อให้ปลาใช้เป็นที่หลบซ่อนกำบังตัว โดยซอกมุมที่ว่าควรจัดให้มีเพียงพอกับจำนวนปลาที่เลี้ยงเพื่อปลาจะได้ไม่ต้องต่อสู้ชิงที่อยู่กัน โดยโพรงหรือซอกรูที่ว่าอาจใช้หลอดแก้วโปร่งใสมาตั้งวางไว้เฉยๆ เพื่อให้ปลามุดลอด เพื่อเวลาที่ปลาว่ายเข้าไปหลบในโพรงเราจะได้มองเห็นชัดๆ หรือถ้าไม่สนใจเรื่องทัศนียภาพก็อาจใช้ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไปมาฝังลงในชั้นกรวดเพื่อสร้างเป็นโพรงก็ไม่เลว แต่ไม่ควรใช้ท่อขนาดเล็กกว่านี้เพราะอาจทำให้ปลาถอยกลับตัวออกมาไม่ได้ โดยใช้หินกรวดตกแต่งปิดทับ บริเวณปากทางเข้าไม่ให้เห็นปากท่อก็จะดูเป็นธรรมชาติและประหยัดเงินดีด้วย สำหรับกรวดที่ใช้ควรเป็นกรวดขนาดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากระทิงไฟขุดมุดลอดลงไปเป็นขอมดำดินจนทำให้ระบบกรองใต้พื้นกรวดเสียหาย ขณะเดียวกันท่ออ๊อกซิเจนควรเลือกชนิดที่มีตะแกรงปิดเพื่อกันปลาว่ายลอดเข้าไปหลบในท่อจนทำให้ถอยกลับตัวออกมาไม่ได้จนเป็นเหตุให้ปลาตายเพราะอดอาหารในที่สุด

ปลากะทิงไฟ
นอกจากนี้ตู้ควรมีฝาครอบปิดมิดชิดเพื่อกันปลาไถลออกมานอกตู้ หากใช้ตะแกรงหรือมุ้งลวดครอบก็ควรหาของหนักๆ มาวางทับอีกชั้นหนึ่ง เพราะปลากระทิงไฟสามารถใช้ตัวดันตะแกรงและเลื้อยหนีออกมาได้ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็จะตายเนื่องจากขาดน้ำขาดอากาศหายใจ และหากต้องการให้ภายในตู้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นก็ควรปลูกประดับด้วยพืชน้ำ แต่ควรฝังรากให้ลึกๆ หน่อย เพราะมิฉะนั้นอาจถูกปลากระทิงไฟขุดทำลายได้ ยิ่งปลากระทิงไฟเป็นปลาที่ขี้อายและขี้ตกใจอยู่แล้ว โดยมากถ้าไม่หิวจริงๆก็จะไม่ยอมปรากฏตัวให้ใครเห็น สำหรับประเภทของอาหารที่ปลากระทิงไฟชอบกินก็ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ลูกปลา กุ้งฝอย หนอนแดง ไรทะเล ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น จัดว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเพราะมีความอดทนและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีอีกชนิดหนึ่ง

ถิ่นอาศัย :ประเทศไทย มีอยู่ในบริเวณน้ำจึดและน้ำกร่อย ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทางภาคใต้ที่ทะเลน้อย (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) แม่น้ำตาปี ชาวใต้เรียกชื่อปลานี้ว่าปลากระทิงลายดอกไม้


No comments: