Monday 27 June 2011

ปลาพาราไดซ์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macropodus opercularis (Linnaeus, 1758)

ชื่อสามัญ : Paradise fish
ชื่อไทย : พาราไดซ์

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนทางตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน เกาหลี ลำตัวมีขนาดเล็ก และมีอวัยวะช่วยหายใจ ที่เรียกว่า Labyrinth organ เหมือนกับในปลากัด ทำให้สามารถขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง และสามารถอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ ดังนั้นเราจึงสามรถเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กเหมือนปลากัดได้ ไม่จำเป็นต้องให้อากาศเพิ่มเติมได้ อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง หนองบึง และในนาข้าว เป็นปลาที่รักความสงบ ว่ายน้ำเชื่องช้า และชอบพรรณไม้น้ำ กินอาหารประเภทตัวอ่อนของแมลงและอาหารมีชีวิตขนาดเล็ก

ปลาพาราไดซ์
ลักษณะทั่วไปของปลาพาราไดร์
ปลาพาราไดซ์มีขนาดลำตัวค่อนข้างแบน ครีบทุกครีบยาวแหลมเด่นเป็นพิเศษ ส่วนปลายครีบหางเว้าชี้แหลมยื่นยาวออกไปทั้งส่วนบน และส่วนล่าง ลำตัวสีน้ำตาลอมแดงสลับด้วยสีเงินยวง ตรงบริเวณเหงือกมีสีส้มแดงแต้มด้วยสีดำเป็นจุดเห็นชัดเจนข้างละหนึ่งจุด ปลาบางตัวมีครีบหางสีแดง และยังมีจุดเล็ก ๆ สีดำกระจายไปทั่ว ครีบหลัง และครีบก้น สีดำอมน้ำเงินยวง แต่ตัวผู้ส่วนนี้มีสีแดง ก้านครีบแข็ง และคม ตามธรรมชาติปลาพาราไดซ์มักชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ๆ ในแหล่งน้ำที่มีพื้นดินเป็นโคลนเลนระดับน้ำตื้นๆในสภาพที่เป็นกลาง และทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในบ่อกลางแจ้ง แต่ปลาชนิดนี้มีนิสัยดุร้าย เกเร ดังนั้นผู้เพาะพันธุ์จึงไม่ควรเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า



การเพาะพันธุ์
การเพาะพันธุ์นั้นทำได้ไม่ยาก ถ้าหากว่าใครเคยเพาะพันธุ์ปลากัดมาแล้วล่ะก็…หายห่วงเพราะวิธีการเป็นแบบเดียวกัน ก่อนที่จะทำการเพาะพันธุ์ ต้องทำการขุนปลาด้วยอาหารสด เช่น ไรแดง หนอนแดง ให้ปลามีความสมบูรณ์ก่อนประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถทำได้ช่วงไหนก็ได้ เพราะว่า ปลาพาราไดซ์นั้นสามารถเพาะพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี หลังจากนั้นทำการอดอาหารปลา 1 วันก่อนทำการคัดปลา การคัดปลาต้องเลือกเพศผู้และเพศเมียที่มีความพร้อมโดยเพศผู้คัดตัวที่มีความสมบูรณ์ โดยดูจากครีบที่ไม่พิการ และเป็นเส้นยาว สีลำตัวเป็นสีสดเห็นชัดเจน และเลือกให้มีขนาดใหญ่กว่าแม่ปลาเล็กน้อย ส่วนปลาเพศเมียต้องเลือกที่ท้องเต่งๆ ดูลักษณะโดยรวมแล้วต้องสมส่วนและสมบูรณ์ ในการเพาะพันธุ์นั้นจะใช้อัตราส่วนปลาเพศผู้และเพศเมีย 1:1 เมื่อคัดได้แล้ว นำมาใส่ตู้เพาะพันธุ์ที่เตรียมไว้ ภาชนะอาจมีขนาดให้พอดีกับตัวปลา ขนาดปานกลาง มีพื้นที่สำหรับปลาว่ายน้ำบ้าง อาจใช้ตู้กระจกหรือกะละมัง ภาชนะจะต้องโล่ง ไม่ต้องให้อากาศ หาอะไรมาปิดไว้กันปลากระโดด จัดที่เพาะพันธุ์ให้อยู่ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทและไม่มีสิ่งรบกวน ปลาจะก่อหวอดเหมือนกับปลากัด ขณะเพาะพันธุ์ต้องไม่เข้าไปรบกวนปลาบ่อยเกินไปเพราะจะทำให้ปลาตกใจและกินไข่ตัวเอง ไข่จะมีสีส้มขนาดเล็ก จากนั้นเมื่อปลาไข่แล้วให้ตักตัวเมียออก เนื่องจากปลาในกลุ่มปลากระดี่นี้ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่ปลา ประมาณ 2-3 วัน ลูกปลาจะฟักออกจากไข่ โดยลูกปลาที่ได้นี้ให้ทำการแยกออกมาอนุบาลในตู้ต่างหาก ให้กินอาหารจำพวกโรติเฟอร์ในช่วง 1-7 วันแรก เนื่องจากลูกปลามีขนาดเล็กมาก แล้วจึงเปลี่ยนอาหารเมื่อปลามีขนาดโตขึ้น

No comments: