Tuesday 30 August 2011

ปลาหมอตาล

ปลาหมอตาลเป็นปลาน้ำจืดที่มีความทนทาน อยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีกระแสน้ำไม่เชี่ยว เลี้ยงง่าย รสดี พบทั่วไปเฉพาะในนาข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเป็นปลากินพืชสามารถเลี้ยงในบ่อได้ ปลาหมอตาลเผือกนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ปลาอีดัน ปลาใบตาล ปลาวี ปลาจูบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helostoma temminckii

รูปร่างลักษณะ ปลาหมอตาล
ปลาหมอตาลแบนข้าง ยาวมากกว่ากว้าง ปากเล็กยืดหดได้ ริมฝีปากหนา ริมฝีปากบนและล่างเท่ากัน ฟันละเอียด ตาอยู่เหนือมุมปาก ครีบหลังและครีบก้นมีก้านครีบแข็งและอ่อน ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 5 ซี่ เกล็ดเล็กมีอยู่ที่เส้นข้างตัว 44-48 เกล็ด เส้นข้างลำตัวขาดตอนตรงบริเวณใต้ก้านครีบอ่อนของครีบหลัง ปกติตัวมีสีเทาเงินหรือปนเขียวอ่อน ด้านท้องมีสีจางกว่าด้านหลัง ตัวโตเต็มที่มีความยาวถึง 32.5 เซนติเมตร อยู่ในครอบครัวเดียวกับปลาหมอ คือ Anabantidae ( อะ-นา-แบน-ทิ-ดี้ )

ปลาหมอตาล
การเตรียมบ่อเลี้ยง
ปลาหมอตาลสามารถนำไปเลี้ยงในนาข้าวได้ ระดับน้ำของคูในนาข้าวไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร ปล่อยปลาลงเลี้ยงในอัตรา 1 ตัวต่อหนึ่งตารางเมตร การเลี้ยงในตู้กระจกเลี้ยงได้ตั้งแต่ตู้กระจกขนาด 10 ด 15 เซนติเมตรขึ้นไป ปลาที่สมบูรณ์จะเจริญเติบโตไม่ต่ำกว่า 15 เซนติเมตรในระยะเวลา 1 ปี

ปลาหมอตาล
อาหารเสริม
ปลาหมอตาลชอบกินสาหร่ายและไรน้ำเป็นอาหาร ควรเพาะไรน้ำในบ่อปลาด้วยปุ๋ยคอกในอัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนการปล่อยปลาลงเลี้ยง นอกจากนี้แล้วควรหาผักบุ้งและไร รำให้กินบ้าง



Sunday 28 August 2011

ปลากระโทงแทง (Billfishes)

ปลากระโทงแทง (Billfishes) เป็นชื่อเรียกรวมๆ กันของปลาที่แยกออก ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก ปลา Swordfish (Xiphias gladius) อยู่ในวงศ์ Xiphiidae ปากบนมีลักษณะแบนราบ เมื่อโตเต็มวัยไม่มีเกล็ดหุ้มตัว ไม่พบครีบท้อง ในปากไม่มีฟัน บริเวณด้านข้างคอด หางมีสันนูนเพียงข้างละสันเดียว ขนาดตัวยาวถึง 4.5 เมตร

กลุ่มที่สอง ปลา Spearfishes มี 6 ชนิด ในสกุล Tetrapturus ปากบนมีลักษณะกลม มีเกล็ดห่อหุ้มตัว ครีบท้องยาวเรียวแหลมและมีสันนูน 2 สัน ตรงด้านข้างของคอดหาง ครีบหลังยาวมีร่อง พับเก็บได้บนหลัง ครีบหลังสูงพอๆ กับความลึกของลำตัว

กลุ่มสาม คือ ปลา Marlins มีด้วยกัน 3 ชนิด ทุกชนิดจัดอยู่ในสกุล Makaira มีลักษณะ เหมือนกับกลุ่มที่สอง และทั้งสองกลุ่มจัดอยู่ในวงศ์ Istiophoridae เช่นเดียว กับปลากระโทงร่ม แต่ต่างออกไป โดยมีครีบหลังตอนหน้าสั้นกว่าความลึก ของลำตัว

ปลากระโทงแทง (Billfishes)
ลักษณะของปาก ปลากระโทงแทง (Billfishes) ที่ยื่นแหลมออกคล้ายดาบนี้ เชื่อกันว่าใช้แทงปลาที่เป็นเหยื่อหรือบางครั้งเวลาโกรธจัดอาจใช้แทงทะลุเรือของนักตกปลาได้ แต่น่าจะเป็นการปรับตัวให้มีลักษณะเพรียว สะดวกในการว่ายน้ำ ได้รวดเร็วมากกว่า เนื่องจากมันว่ายได้เร็วถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ปลากลุ่มนี้อาศัยอยู่ในท้องทะเลและมหาสมุทรทั่วโลกทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน นิสัยชอบเคลื่อนย้ายแหล่งอาศัยอยู่เสมอ ในประเทศไทยพบชุกชุม บริเวณท้องทะเลอันดามันใกล้หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ส่วนใหญ่ที่ตก ได้มักเป็นชนิด Markaira indica มีน้ำหนักตัวประมาณ 40-80 กิโลกรัม

ปลากระโทงแทง (Billfishes)
อาหารของกลุ่มปลากระโทงแทง ได้แก่ ปลาขนาดเล็กและปลาหมึก ศัตรูในธรรมชาติมีน้อยมากมีเพียงพวกปลาฉลามขนาดใหญ่เท่านั้นที่พบว่ากินปลากระโทงแทงเป็นอาหาร

ปลากระโทงแทงเคยพบมีชุกชุมในแหล่งตกปลาหลายแห่งของโลก แต่ในระยะหลังเริ่มหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ อาจเนื่องจากการประมงจับปลา ทูน่าหรือปลาโอซึ่งทำเป็นกิจการขนาดใหญ่ ทำให้อาหารในธรรมชาติ ลดลงก็เป็นได้


Wednesday 24 August 2011

ปลาสเตอร์เจียน (Sturgeon)

ปลาสเตอร์เจียน (Sturgeon) ปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ในอันดับปลาฉลามปากเป็ดหรืออันดับปลาสเตอร์เจียน(Acipenseriformes) อาศัยได้อยู่ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล เมื่อยังเล็กจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด ทะเลสาบหรือตามปากแม่น้ำ แต่เมื่อโตขึ้นจะว่ายอพยพสลงสู่ทะเลใหญ่ และเมื่อถึงฤดูวางไข่ก็จะว่ายกลับมาวางไข่ในแหล่งน้ำจืด

ปลาสเตอร์เจียน (Sturgeon) เป็นปลาที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารมานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่ปลา ที่เรียกว่า ไข่ปลาคาเวียร์ (Caviar) ซึ่งนับเป็นอาหารราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก

ปลาสเตอร์เจียน (Sturgeon) 
ลักษณะ ปลาสเตอร์เจียน
มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม มีหนามแหลมสั้น ๆ บริเวณหลังและเส้นข้างลำตัว (Llateral line) มีหนวดทั้งหมด 2 คู่อยู่บริเวณปลายจมูก ปลายหัวแหลม ปากอยู่ใต้ลำตัว หากินตามพื้นน้ำโดยอาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็กต่าง ๆ สเตอร์เจียนจะพบแต่เฉพาะซีกโลกทางเหนือซึ่งเป็นเขตหนาวเท่านั้น ได้แก่ ทวีปเอเชียตอนเหนือ ทวีปยุโรปตอนเหนือ ทวีปอเมริกาเหนือตอนเหนือ สถานะปัจจุบันของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์เต็มที แต่ปัจจุบันสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในบางชนิด

ปลาสเตอร์เจียน (Sturgeon) 
ปลาสเตอร์เจียน (Sturgeon) มีทั้งหมด 27 ชนิด (Species) ใน 3 สกุล (Genus) โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุดคือ สเตอร์เจียนขาว (Huso huso) พบในรัสเซีย สามารถโตเต็มที่ได้ถึง 5 เมตร หนักกว่า 900 กิโลกรัม และมีอายุยืนยาวถึง 210 ปี นับเป็นปลาที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก เท่าที่มีการบันทึกมา และเป็นชนิดที่ให้ไข่รสชาติดีที่สุดและแพงที่สุดด้วย ส่วนชนิดที่เล็กที่สุดคือ สเตอร์เจียนแคระ (Pseudoscaphirhynchus hermanni) ที่โตเต็มที่มีขนาดไม่ถึง 1 ฟุตเสียด้วยซ้ำ

สเตอร์เจียนขาว (Huso huso) 




นอกจากนี้แล้ว สเตอร์เจียนยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย
จากเว็บ วิกิพีเดีย

Monday 22 August 2011

ปลาน้ำผึ้ง หรืออีดูด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gyrinocheilus aymonieri (Tirant, 1883)
ชื่อสามัญ : Siamese algae eater

ชื่อไทย : ปลาน้ำผึ้ง, ปลาอีดูด

ปลาน้ำผึ้งในธรรมชาติเป็นปลาขนาดกลาง โตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 20 เซนติเมตร มีสีคล้ำกระด่างกระดำ มีเส้นสีดำหนาใหญ่พาดจากดวงตายาวไปจนถึงโคนหางเป็นจุดสังเกตเด่นชัด ส่วนปลาที่นำมาเลี้ยงในตู้คาดว่ามีการพัฒนาสายพันธุ์จนมีสีขาวอมชมพูหวานแหววน่ารักน่าชัง ไม่มีลายคาดดำ และไม่ใหญ่โตนัก (แต่ปลาที่นำไปเลี้ยงในบ่อขนาดใหญ่ มีตะไคร่ให้กินอุดมสมบูรณ์ ปลาก็จะโตได้เต็มที่เท่ากับในธรรมชาติของมันอยู่นั่นเอง)

ปลาน้ำผึ้ง หรืออีดูด
ปลาน้ำผึ้ง มีรูปร่างยาวทรงกระบอก ปากรูปดูดเหมือนปลาซัคเกอร์ ชอบกินตะไคร่น้ำเหมือนกัน แต่บางทีเผลอๆ ก็แจมอาหารปลากับเขาบ้าง โดยเฉพาะอาหารสดอย่างไส้เดือนน้ำ ปลาน้ำผึ้งไม่นิยมเลี้ยงรวมกับปลาทอง เพราะเป็นปลาเอื่อยอุ้ยอ้าย แถมยังมีเมือกเยอะ ทำให้ปลาน้ำผึ้งชอบเข้าไปรุมตอมดูดเอาเมือกตามผิวหนังของปลาทอจนบางตัวเซ็งถอดใจลอยหงายตุ๊บป่องตายไปเลย

ปลาน้ำผึ้ง หรืออีดูด
ในตู้ปลาขนาดปานกลางไม่ควรเลี้ยงปลาน้ำผึ้งมากนัก เพราะปลาน้ำผึ้งกินตะไคร่เร็ว และหากไม่มีให้กินแล้วจะซูบผอมจนหัวโตภายในไม่กี่วัน เมื่อหิวมากๆ ก็อาจจะกลายเป็นมาทำร้ายปลาในตู้ที่ว่ายช้าป้องกันตัวเองไม่ค่อยได้จนถึงตาย

ปลาน้ำผึ้ง หรืออีดูด
การแพร่กระจาย
ปลาน้ำผึ้งมีการแพร่กระจายตามแหล่งน้ำไหลทั่วไปทั้งในประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชามาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ข้อดีของปลาน้ำผึ้ง กินตะไคร่น้ำได้ดุเดือดดีมาก เป็นเครื่องจักรสังหารตะไคร่ในตู้ชนิดเยี่ยม

ข้อเสียของปลาน้ำผึ้ง ชอบดูดเมือกข้างลำตัวปลาอื่นที่เชื่องช้า เช่น ปลาทอง บางครั้งเล่นไม่เลิกจนปลาทองตายก็มี


Friday 19 August 2011

ปลากระดี่มุก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichogaster leerii (Bleeker, 1852)
วงศ์ : Anabantoids

ชื่อไทย : ปลากระดี่มุก

ลักษณะทั่วไปของปลากระดี่มุก
ปลาในชนิดนี้มีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ เรียกว่า labyrinth organ เหมือน กับในปลากัด ทำให้สามารถขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำได้โดยตรง และสามารถอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ มีขนาดลำตัวเล็ก คือ ประมาณ 12.5 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างกว้าง แบนข้าง หัวเล็ก นัยน์ตาโต ปากอยู่หน้าสุด ริมฝีปากยืดหดได้ มีฟันบนกระดูกเพดานปาก เส้นข้างตัวไม่สมบูรณ์ ครีบหลังมีก้านครีบแขนงไม่เกิน 10 ก้าน ครีบหลัง และครีบก้นมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบอกบางใส ครีบท้องมีก้านครีบเดี่ยว อันแรกยื่นออกมาเป็นเส้นยาว ครีบหางมีปลายครีบตัดตรง บนลำตัวมีแถบน้ำเงินอ่อนหรือแถบเขียวสลับแดงอมน้ำตาล แถบสีเหล่านี้กระจายไปตามครีบต่าง ๆ ในปลาเพศผู้มีสีสันสดสวยกว่าตัวเมีย เกล็ดบริเวณลำตัวมันวาว สวยงาม กินอาหารประเภทตัวอ่อนแมลง และอาหารมีชีวิตขนาดเล็ก

ปลากระดี่มุก
การแพร่กระจายและถิ่นกำเนิด
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย และมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ หนองบึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้น้ำหนาแน่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปลากระดี่มุก
การขยายพันธุ์
ก่อหวอดบนผิวน้ำที่มีเงาปกคลุม โดยตัวผู้เป็นผู้ฟักไข่ 2 วัน วางไข่ครั้งละประมาณ 500-2,000 ฟอง



Monday 15 August 2011

ปลากระเบนโมโตโร่

ปลากระเบนโมโตโร่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Potamotnygon motoro เป็นปลาน้ำจืดที่มีถิ่นอาศัยอยู่ลุ่มน้ำในแถบประเทศอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เปรู โคลัมเบีย ปารากวัย อุรุกวัย โบลิเวีย อาร์เจนตินา เป็นต้น มีขนาดตัวเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 40-60 เซนติเมตร ความสวยงามของปลากระเบนโมโตโร่อยู่ที่ลวดลายและโทนสีจำนวนมากบนลำตัวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากกว่า 20 รูปแบบ ลักษณะเฉพาะของปลากระเบนโมโตโร่ที่แตกต่างจากปลากระเบนสายพันธุ์อื่นอยู่ที่สีพื้นของลำตัว ซึ่งจะเป็นสีโทนน้ำตาล (น้ำตาลเข้ม, น้ำตาลอ่อน,น้ำตาลส้ม) และลวดลายบนลำตัวที่เป็นจุดสีน้ำตาล หรือสีส้ม

ความนิยมเลี้ยงที่เกิดขึ้นกับปลากระเบนโมโตโร่ ก็ด้วยเพราะว่า เป็นปลากระเบนที่เลี้ยง และดูแลง่ายกว่ากระเบนสายพันธุ์อื่น และมีราคาไม่สูงมากนัก โดยที่ราคาจะอยู่ที่ประมาณคู่ละ 2,500-3,000 บาท (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาด อายุ และความแปลกในลวดลายของปลา) ในขณะที่ปลากระเบนสายพันธุ์อื่นมีราคาซื้อ-ขายที่สูงมาก จึงเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นเลี้ยงปลาชนิดนี้

ปลากระเบนโมโตโร่
การเลือกซื้อ ปลากระเบนโมโตโร
ปลากระเบนโมโตโร่ขนาดที่เหมาะสมต่อการเลี้ยง ควรมีขนาดอย่างน้อย 5 นิ้วขึ้นไป โดยลูกปลากระเบนที่แข็งแรงจะว่ายน้ำหาอาหารที่พื้นตู้ตลอดเวลา ผู้ซื้อควรจะสังเกตว่าปลาตัวนั้น ๆ สามารถจับหาอาหารเองได้หรือไม่ โดยส่วนมากตามร้านค้ามักจะให้ไส้เดือนน้ำที่เกาะกันเป็นก้อน ๆ และค่อย ๆ ดูดกิน ผู้ซื้อควรใช้เวลาสังเกตลูกปลากระเบนสักระยะ สังเกตดูว่าปลากระเบนกินอาหารหรือไม่ โดยอาจจะสังเกตขนาดของกระเพาะอาหารก็ได้ กระเพาะอาหารของปลากระเบน จะอยู่บริเวณใกล้โคนหางที่นูนขึ้นมาก บ่งบอกได้ว่าปลากระเบนตัวนั้นกินอาหารได้ดี ลูกปลาที่สามารถหากินอาหารได้ดีจะมีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตได้สูง หลังจากเลือกปลากระเบนได้แล้วก่อนที่จะปล่อยปลากระเบนของตู้เลี้ยงต้องนำถุงที่มีปลากระเบนลงแช่ในน้ำที่เตรียมไว้ประมาณครึ่งชั่วโมงหรืออาจจะใช้วิธีปล่อยปลาลงในภาชนะขนาดใหญ่อย่างเช่น อ่างไฟเบอร์หรือกะละมัง แล้วค่อย ๆ ตักน้ำจากตู้เลี้ยงมาผสม ๆ ทุก ๆ 5 นาที จนกว่าจะเต็มภาชนะแล้วจึงปล่อยปลาพร้อม ๆ กับน้ำในภาชนะนั้นลงไปในตู้เลี้ยงทั้งนี้เพื่อป้องกันปลาช็อคน้ำตายได้

ปลากระเบนโมโตโร่
การเลี้ยงดู ปลากระเบนโมโตโร่
ในกรณีที่เลี้ยงในตู้ สำหรับบ่อไซส์ใหญ่ ขนาดของตู้เลี้ยงควรมีขนาดความยาว 60 นิ้วขึ้นไป กว้างมากกว่า 24 นิ้ว เพื่อให้ปลามีพื้นที่ว่ายน้ำไปมา เพราะปลากระเบนโมโตโร่มีขนาดตัวที่ใหญ่พอสมควรสำหรับในปลาไซส์เล็กขนาด 4-5 นิ้ว ควรใช้ตู้ 4-8 นิ้วขึ้นไป ตู้เลี้ยงควรจะมีฝาปิดมิดชิด เพราะปลากระเบนมักจะว่ายน้ำขึ้นลง แนบกระจกเพื่อหาอาหาร เมื่อประสาทของปลากระเบนรับรู้ถึงตำแหน่งของอาหารมันจะว่ายไปตะครุบเหยื่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งหากอาหารนั้นอยู่ริมผิวน้ำและไม่มีฝาตู้ปิดมิดชิด อาจทำให้ปลากระเบนหลุดออกมาจากตู้เลี้ยงได้ โมโตโร่เป็นปลาที่อายุยืนยาวได้นานถึง 20 ปี เพราะฉะนั้นควรเลือกซื้อตู้ใบใหญ่เพื่อรองรับขนาดปลาที่ใหญ่ขึ้น ทั้งนี้โดยปกติปลากระเบนต้องการเนื้อที่ประมาณ 15 เท่าของตัวมันเอง ซึ่งจะทำให้ปลาไม่เครียด เพราะหากปลาเครียดอาจนำโรคภัยตามมาก็ได้ น้ำที่ใช้เลี้ยงต้องใสสะอาด มีออกซิเจนละลายในน้ำที่เพียงพอ ดังนั้นการมีระบบกรองที่มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงปลากระเบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปลาเล็กถ้าคุณภาพน้ำไม่ดี ปลาจะเริ่มหยุดกินอาหาร และปลาอาจตายได้ กระเบนโมโตโร่ไวต่อสารเคมีในน้ำมาก เพราะฉะนั้นจึงควรระวังในการใช้ยา และใช้น้ำที่ปราศจากคลอรีน การให้อาหารในปลากระเบนไซส์เล็ก 3-4 นิ้ว ให้กินอาหารที่มีชีวิต เช่น ไส้เดือนน้ำ หนอนแดง กุ้งฝอยขนาดเล็ก ในปลาไซส์ใหญ่ควรฝึกให้กินกุ้งฝอยตาย ปลาหั่นชิ้นหรือกุ้งแกะเปลือก


Wednesday 10 August 2011

ปลากระเบนลายเสือ

ปลากระเบนลายเสือ เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Himantura oxyrhynchus อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) รูปร่างเหมือนปลากระเบนชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน หางยาว โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่สามารถงอกใหม่ได้เมื่อหลุดหรือหักไป หางไม่มีริ้วหนัง พื้นลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเหลือง กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ มีจุดดำคล้ายลายของเสือดาวกระจายอยู่ทั่วตัวไปจนปลายหาง อันเป็นที่มาของชื่อ พื้นลำตัวด้านล่างสีขาว หากินตามพื้นท้องน้ำโดยอาหารได้แก่ ปลาขนาดเล็ก, สัตว์หน้าดิน และสัตว์มีเปลือก จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้ง มีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร

ปลากระเบนลายเสือ 
ปลากระเบนลายเสือเป็นปลาน้ำกร่อยที่พบอาศัยอยู่ค่อนมาทางน้ำจืด เป็นปลาที่พบน้อย พบได้ตามปากแม่น้ำ เช่น ปากแม่น้ำเจ้าพระยา, ปากแม่น้ำโขง, ทะเลสาบเขมร และพบได้ไกลถึงปากแม่น้ำบนเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย เป็นต้น แต่มีรายงานทางวิชาการว่าพบครั้งแรกที่ แม่น้ำน่าน

เนื่องจากเป็นปลาที่มีลวดลายสวยงามจึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีราคาแพง แต่มักจะเลี้ยงไม่ค่อยรอดเพราะปลามักประสบปัญหาปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดหรือภาวะแวดล้อมในที่เลี้ยงไม่ค่อยได้

ปลากระเบนลายเสือมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า "กระเบนเสือดาว", "กระเบนลาย" หรือ "กระเบนลายหินอ่อน"



Monday 8 August 2011

ปลากะทิงไฟ

ชื่อสามัญ : Fire Spiny Eel
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mastacembelus erythrotaenia

ลักษณะทั่วไป ปลากะทิงไฟ
เป็นปลาน้ำจืดที่อยู่สกุลเดียวกับปลากระทิงดำ รูปร่างคล้ายปลาไหล มีขนาดความยาวประมาณ 20 - 70 เซนติเมตร ลำตัวเรียวยาว และแบนข้าง มีจะงอยปากเป็นติ่งเล็กยื่นออกมาทำหน้าที่รับความรู้สึก พื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้ม ข้างลำตัวมีเส้นหรือจุดสีแดงขนาดใหญ่และเล็กเรียงตามความยาวลำตัวบริเวณนัยน์ตาจนถึงโคนครีบหาง ครีบหางและครีบก้นเชื่อมติดกันถึงครีบหลังตอนท้าย ครีบทั้งหมดมีสีแดงสด บริเวณขอบครีบหนังเป็นกระดูกแหลมแข็งสำหรับป้องกันตัวจากศัตรู ครีบหูมีสีดำขอบแดง ลักษณะทางอนุกรมวิธานที่แตกต่างจากปลากระทิงชนิดอื่นคือ ปลากระทิงไฟไม่มีกระดูกที่เป็นหนามแหลมอยู่บริเวณหน้า นัยน์ตา ปลากระทิงไฟที่พบในภาคกลาง จะมีสีแดงสดใสกว่าแหล่งน้ำอื่น

ปลากะทิงไฟ
ในกรณีที่ต้องการเลี้ยงปลากระทิงไฟรวมเป็นฝูง ควรเลือกปลาขนาดใหญ่พอๆกันเพื่อความปลอดภัย และควรจัดซอกมุมหลายๆแห่งเพื่อให้ปลาใช้เป็นที่หลบซ่อนกำบังตัว โดยซอกมุมที่ว่าควรจัดให้มีเพียงพอกับจำนวนปลาที่เลี้ยงเพื่อปลาจะได้ไม่ต้องต่อสู้ชิงที่อยู่กัน โดยโพรงหรือซอกรูที่ว่าอาจใช้หลอดแก้วโปร่งใสมาตั้งวางไว้เฉยๆ เพื่อให้ปลามุดลอด เพื่อเวลาที่ปลาว่ายเข้าไปหลบในโพรงเราจะได้มองเห็นชัดๆ หรือถ้าไม่สนใจเรื่องทัศนียภาพก็อาจใช้ท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไปมาฝังลงในชั้นกรวดเพื่อสร้างเป็นโพรงก็ไม่เลว แต่ไม่ควรใช้ท่อขนาดเล็กกว่านี้เพราะอาจทำให้ปลาถอยกลับตัวออกมาไม่ได้ โดยใช้หินกรวดตกแต่งปิดทับ บริเวณปากทางเข้าไม่ให้เห็นปากท่อก็จะดูเป็นธรรมชาติและประหยัดเงินดีด้วย สำหรับกรวดที่ใช้ควรเป็นกรวดขนาดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากระทิงไฟขุดมุดลอดลงไปเป็นขอมดำดินจนทำให้ระบบกรองใต้พื้นกรวดเสียหาย ขณะเดียวกันท่ออ๊อกซิเจนควรเลือกชนิดที่มีตะแกรงปิดเพื่อกันปลาว่ายลอดเข้าไปหลบในท่อจนทำให้ถอยกลับตัวออกมาไม่ได้จนเป็นเหตุให้ปลาตายเพราะอดอาหารในที่สุด

ปลากะทิงไฟ
นอกจากนี้ตู้ควรมีฝาครอบปิดมิดชิดเพื่อกันปลาไถลออกมานอกตู้ หากใช้ตะแกรงหรือมุ้งลวดครอบก็ควรหาของหนักๆ มาวางทับอีกชั้นหนึ่ง เพราะปลากระทิงไฟสามารถใช้ตัวดันตะแกรงและเลื้อยหนีออกมาได้ แต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็จะตายเนื่องจากขาดน้ำขาดอากาศหายใจ และหากต้องการให้ภายในตู้ดูมีชีวิตชีวาขึ้นก็ควรปลูกประดับด้วยพืชน้ำ แต่ควรฝังรากให้ลึกๆ หน่อย เพราะมิฉะนั้นอาจถูกปลากระทิงไฟขุดทำลายได้ ยิ่งปลากระทิงไฟเป็นปลาที่ขี้อายและขี้ตกใจอยู่แล้ว โดยมากถ้าไม่หิวจริงๆก็จะไม่ยอมปรากฏตัวให้ใครเห็น สำหรับประเภทของอาหารที่ปลากระทิงไฟชอบกินก็ได้แก่ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ลูกปลา กุ้งฝอย หนอนแดง ไรทะเล ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น จัดว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเพราะมีความอดทนและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีอีกชนิดหนึ่ง

ถิ่นอาศัย :ประเทศไทย มีอยู่ในบริเวณน้ำจึดและน้ำกร่อย ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ทางภาคใต้ที่ทะเลน้อย (ทะเลสาบสงขลาตอนใน) แม่น้ำตาปี ชาวใต้เรียกชื่อปลานี้ว่าปลากระทิงลายดอกไม้


Saturday 6 August 2011

การเริ่มต้นเลี้ยงปลาคาร์พ

การจะเริ่มต้นเลี้ยงปลาคาร์พ ควรเริ่มต้นด้วยการขุดบ่อเสียก่อน โดยขุดบ่อให้มีขนาด 80 x 120 ลึก 50 เซนติเมตร มีสะดือที่ก้นบ่อขนาด 1 x 2 ฟุต ลึกประมาณ 4-6 นิ้ว เพื่อไว้เป็นที่สำหรับเก็บขี้ปลาและสิ่งสกปรก และต้องอย่าลืมติดตั้งระบบถ่ายเทบำบัดน้ำเสียเพื่อช่วยให้น้ำในบ่อสะอาดอยู่ตลอดเวลา สำหรับบ่อที่จะใช้เลี้ยงปลาคาร์ฟ ควรเป็นบ่อซีเมนต์เพราะสามารถดัดแปลงเป็นบ่อให้เหมือนธรรมชาติได้ง่ายที่สุด มีตะใคร่น้ำเกิดและเกาะได้เร็ว ซึ่งตะใคร่น้ำนั้นเป็นอาหารที่ดีของปลาและสามารถดูดสิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำได้อีกด้วย

บ่อเลี้ยงปลาคาร์พ ควรจะตั้งอยู่ในที่ที่มีร่มเงา หรือใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อที่จะทำให้บ่อปลามีความร่มรื่นพอควร อย่าให้อยู่กลางแจ้งเพราะจะทำให้ปลามีสัสันที่จืดจางลง และเจริญเติบโตช้าลงไปด้วย

การเลี้ยงปลาคาร์พ
ส่วนน้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาคาร์พ ควรเป็นน้ำประปาจะดีกว่าน้ำชนิดอื่น เพราะน้ำประปามีสภาพเป็นกลาง ถ้าใช้น้ำฝนจะทำลายสีของปลาและปลาอาจเกิดโรคได้ง่าย ส่วนน้ำจากแม่น้ำลำคลองก็ไม่เหมาะ เพราะอาจมีเชื้อโรคติดมาเป็นอันตรายกับปลาได้ หากไม่มีน้ำประปา ต้องใส่ยาฆ่าเชื้อและเติมปูนขาวเพื่อปรับสภาพน้ำจากกรดให้เป็นกลางเสียก่อน แล้วค่อยนำมาเลี้ยงปลาได้ ทางที่ดีต้องติดตั้งระบบหมุนเวียนของน้ำ และเครื่องพ่นน้ำ เป็นการเพิ่มออกซิเจนให้น้ำในบ่อถ่ายเทอยู่ตลอดเวลา และมีออกซิเจนเพียงพอกับปลาด้วย

เมื่อเตรียมบ่อและน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การจะหาปลาคาร์ฟมาเลี้ยง ควรหาลูกปลาที่มีอายุ 1-2 ปี มาเลี้ยง ไม่ควรจะนำปลาขนาดใหญ่มาเลี้ยง และปลาชนิดอื่นหากไม่จำเป็นไม่ควรนำมาเลี้ยงรวมกับปลาคาร์ฟ เพราะอาจนำเชื้อโรคมาให้ปลาคาร์ฟได้

ปลาคาร์พ
อาหารและการเลี้ยงดู
ผู้เลี้ยงควรให้อาหารไม่เกินวันละ 2 เวลา คือเช้ากับเย็น ข้อควรจำในการให้อาหารคือ ต้องให้ตามเวลา เพื่อปลาจะเกิดความเคยชินและเชื่องกับผู้ที่เลี้ยง และอาหารที่ให้ต้องกะให้พอกับจำนวนปลา อย่าให้น้อยหรือมากเกินไป ทั้งนี้ต้องคอยสังเกตว่า ปลากินอาหารอย่างไร? ถ้าอาหารหมดเร็ว แสดงว่าปลายังต้องการอาหารเพิ่ม ก็เพิ่มลงไปอีเล็กน้อย แต่ถ้าอาหารยังลอบน้ำอยู่ ก็รีบตักออกเพราะว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้น้ำเสียเร็ว

ทั้งนี้ เมื่อสังเกตเห็นน้ำในบ่อเริ่มขุ่นและมีสิ่งสกปรกมาก ต้องรีบเปลี่ยนน้ำทันที และขณะที่ถ่ายน้ำ ออก 1 ใน 3 ส่วนของบ่อจะต้องเพิ่มน้ำใหม่แทนในปริมาณเท่าเดิมโดยใช้น้ำประปาที่เก็บไว้ประมาณ 2-3 วันหลังจากที่คอรีนระเหยแล้ว อย่าใช้น้ำประปาที่รองจากก๊อกใหม่ๆ หรือน้ำประปาที่เก็บไว้นานเพราะจะเกิดอันตรายต่อปลาได้

Wednesday 3 August 2011

หินเทียมเพื่อเพาะเลี้ยงแบคทีเรียอาหารปลา

เป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบันสำหรับการเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจกตามบ้านเรือนทั่วไป ด้วยเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นที่มาของความสุขและเพลิดเพลินเจริญสายตาของผู้เป็นเจ้าของ ขณะเดียวกันทุกวันนี้ตลาดปลาสวยงามก็นับได้ว่ากำลังมาแรงอยู่ไม่น้อย ถึงขั้นมีการเพาะขายไปยังตลาดต่างประเทศนำเงินรายได้เข้าสู่กระเป๋าเกษตรกรและประชาชาติ ปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

การเลี้ยงปลาสวยงามในตู้กระจก นั้น อดีตมีการนำเอาวัสดุจากสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติโดยเฉพาะจากท้องทะเลมาเป็นเครื่องประดับเติมเต็มความสวยงามให้กับตู้ปลา แต่ปัจจุบันมีการรณรงค์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมากขึ้น และหากมีการฝ่าฝืนก็ผิดกฎหมายอีกต่างหาก ขณะที่ความต้องการของนักเลี้ยงปลาในตู้ก็ ยังมีอยู่ไม่ขาดสาย ซึ่งนี่คือที่มาของการคิดค้นสร้างหินเป็นเทียมขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนประกอบ สำคัญของความสวยงามแบบธรรมชาติภายในตู้ปลา

หินเทียม
ฝ่ายวิจัยการเพาะเลี้ยง สถาบันวิทยาศาสตร์ ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรีได้มีการศึกษาเรื่องนี้และประสบผลสำเร็จจนสามารถนำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรและผู้สนใจนำไปทำเองได้แล้วในตอนนี้

ข้อมูลจากส่วนงานที่กำลังกล่าวถึงนี้ระบุว่า วัสดุที่ใช้เพื่อการทำหินเทียมประกอบด้วย หินปูน หรือทรายหยาบ หรือเปลือกหอยนางรมบดหรือวัสดุที่ใกล้เคียงอย่างใดอย่างหนึ่งผสมรวมกัน 4-5 ส่วน รายการที่ 2 คือ กระบะทรายพร้อมทรายละเอียดที่ซื้อสำหรับทำเป็นแบบ สุดท้ายคือปูน ตัวยึดเหนี่ยวให้วัสดุเชื่อมติดกันตามรูปแบบที่ต้องการ

ขั้นตอนการทำเริ่มด้วยการนำเอาวัสดุที่กล่าวมามารวมกันคลุกเคล้าให้เข้ากันกับปูนซีเมนต์ โดยใช้ปูน 1 ส่วน จากนั้นผสมน้ำลงไปประมาณ 1/2-1 ส่วน ควรระวังอย่าให้น้ำมากเกินไป จากนั้นผสมกันให้เข้าที่ ขั้นต่อไปก็นำกระบะทรายที่เตรียมไว้สำหรับการทำแบบมาขุดหลุมเป็นขนาดและรูปร่าง ที่ต้องการ แล้วนำส่วนผสมมาหยอดลงในแบบที่ ขุดไว้ บริเวณใดที่ต้องการให้เป็นโพรง ถ้ำ หรือรอยแตกให้ใช้ทรายเป็นตัวกั้นไว้

ขั้นตอนสุดท้ายคือการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนหินเทียม ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญและใช้เวลาค่อนข้างนานซึ่งเปรียบได้กับการทำหินเทียมที่ทำขึ้นให้มีชีวิต คือสามารถใช้ประโยชน์ในด้านการควบคุมคุณภาพน้ำเช่นเดียวกับหินเป็น หลังจากที่นำหินเทียมออกจากแบบแล้วให้นำหินนั้นแช่น้ำจืดและเปลี่ยนน้ำทุกวัน เพื่อให้ปูนหมดความเป็นด่าง ซึ่งจะใช้ เวลาประมาณ 10-15 วัน หากต้องการเร่งให้ใส่ น้ำส้มสายชูผสมลงไปด้วย จะช่วยร่นระยะเวลาให้ เร็วขึ้น

หลังจากที่หินหมดความเป็นด่างแล้วให้นำมาใส่ในตู้ที่ต้องการเลี้ยงปลาที่ยังไม่มีสัตว์หรือภาชนะอื่น ๆ เติมน้ำทะเลลงไป ใส่อากาศ แล้วใส่แอมโมเนียมคลอไรด์ หรือถ้าหาไม่ได้อาจใช้เนื้อกุ้งหรือเนื้อหอยขนาดตัวเล็ก ๆ จำนวน 1 ตัว ใส่ลงไปทุกอาทิตย์ จะเกิดการเน่าสลายให้แอมโมเนียออกมาเป็นอาหารกับแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียที่ต้องการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนเกาะอยู่บนหินที่ทำขึ้น ในช่วงนี้ให้ทำ การตรวจปริมาณของแอมโมเนียและไนไตรต ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน หินนั้นก็จะมีแบคทีเรียพร้อมที่จะทำงานได้เมื่อนำไปใส่ ในตู้เลี้ยง หากต้องการสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่นสาหร่ายก็สามารถนำเอาสาหร่ายมาผูกติดหรือเกาะบนหิน เมื่อเวลาผ่านไปสาหร่ายก็จะขึ้นปกคลุมหินนั้นทำให้เหมือนกับหินที่ได้มาจากธรรมชาติ