Tuesday 31 May 2011

ปลาเสือดาว

ชื่อไทย ปลาเสือ หรือ ปลาเสือดาว
ถิ่นที่อยู่อาศัย ในประเทศไทยพบในแม่น้ำ ลำคลองที่ติดต่อกับทะเล โดยเฉพาะบริเวณน้ำกร่อยพบมากเป็นพิเศษ ในต่างประเทศพบที่ออสเตรเลีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รูปร่างลักษณะ เสื่อพ่นน้ำลำตัวแบนข้างลำตัวรูปทรงขนมเปียกปูนป้อมสั้น แนวสันหลังจาก จงอยปากถึงหน้าครีบหลังเกือบเป็นเส้นตรง ปากเฉียงขึ้นข้างบน ดวงตากลมโตเป็นพิเศษกลับกลอกไปมาได้ บริเวณครึ่งบนของลำตัวมีจุดประสีดำประมาณ 5 – 6 จุดขอบครีบหลังและครีบก้น สีดำ ปลาเสือพ่นน้ำเป็นปลาผิวน้ำขนาดเล็ก โตเต็มที่ยาวประมาณ 25 ซม.

ปลาเสือดาว
อุปนิสัยปลาเสือดาว
ปลาเสือพ่นน้ำเป็นปลาที่นักเลี้ยงปลาให้ความสนใจ โดยเฉพาะเด็ก ๆ เพราะมันเป็น “ปืนฉีดน้ำที่มีชีวิต” ปลาเสือชนิดนี้สามารถฉีดพ่นน้ำไปได้ไกล เพื่อให้ถูกตัวแมลงที่เกาะอยู่ตาม ใบหญ้าหรือบินอยู่ แมลงถูกน้ำก็จะหล่นลงมาให้มันกินเป็นอาหาร การพ่นน้ำได้เพราะมี ท่อเล็ก ๆ ใต้เพดานปากและเมื่อหุบแผ่นปิดเหงือกอย่างรวดเร็วจะมีแรงกดดันน้ำให้พุ่งออกไปประกอบกับดวงตาที่กลมโปนเป็นพิเศษ จึงเพิ่มความแม่นยำยิ่งขึ้น ในตู้กระจกก็สามารถฝึกให้พ่นน้ำได้ โดยแขวนเหยื่อล่อให้เคลื่อนไหวและปล่อยให้มันหิวจัด ๆ ในแม่น้ำทั่ว ๆ ไป เช่นแม่น้ำเจ้าพระยาจะพบปลาชนิดนี้ว่ายอยู่ข้างเสาศาลาท่าน้ำหรือแพริมน้ำ อาจรวมกลุ่มกัน

ประมาณ 4 – 6 ตัว ปลาธรรมชาติที่จับขึ้นมาเลี้ยงในระยะแรกค่อนข้างตื่น และไม่ยอมกินอาหารจนอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด ปลาเสือพ่นน้ำจะวางไข่ปากแม่น้ำ เมื่อลูก ๆ เติบโตขึ้นจึงว่ายน้ำย้อนขึ้นไปในน้ำกร่อยหรือน้ำจืดต่อไป

การเลี้ยงดูปลาเสือดาว
ปลาเสือพ่นน้ำนับว่ามีความงดงามมากทีเดียวนักเลี้ยงปลาทั้งในประเทศและต่างประเทศสนใจกันมาก อาหารที่ใช้เลี้ยงได้แก่ ลูกน้ำ ไรแดง ตัวแมลงต่าง ๆ ไส้เดือน และอาหารเม็ดสำเร็จรูป ปลาเสือพ่นน้ำค่อนข้างขี้ตื่นบางทีก็ทำร้ายปลาในตู้เดียวกัน และกินปลาเล็ก ๆ เป็นอาหาร ถ้าจะปล่อยลงเลี้ยงในตู้กระจก อย่าปล่อยลงไปหลาย ๆ ตัว และควรมีพืชน้ำ ก้อนหิน กิ่งไม้น้ำ สำหรับเป็นที่หลบพักผ่อนได้บ้าง ปลาเสือพ่นน้ำเมื่อคุ้นเคยดีแล้ว จะขึ้น สีสวยงามไม่น้อยเลย

Friday 27 May 2011

เทคนิคการเลือกปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึงสิงห์ญี่ปุ่นในบ้านเรา ซึ่งก็มีมานานแล้ว "สิงห์ญี่ปุ่น" มีลักษณะและรูปแบบเป็นปลาสวยงาม มองด้านข้างหรือเลี้ยงในตู้จะมีเสน่ห์ให้ชวนหลงใหลอยู่ไม่น้อยเลย เพราะมีลักษณะความสวยงามชวนมองในหลายจุด เช่น ลักษณะของหลังค่อนข้างลาดโค้งลงสวย ใบหางตั้งประมาณ 75-90 องศา สิงห์ญี่ปุ่นในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างที่เราได้เห็นกันมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน โดยผลของการพัฒนา ทำให้เราได้ปลาที่มีลักษณะสวยงามคมชัดยิ่งขึ้น

การที่เราจะเฟ้นหาปลาสิงห์ญี่ปุ่นสวย ๆ มาเลี้ยงสักตัว ก็ต้องมีเทคนิคในการคัดเลือกกันหน่อย ซึ่งต้องให้ความสำคัญในการมองหาปลาสวย ๆ มีอยู่ 2 จุด คือ

ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น
1. รูปทรง
ในส่วนของรูปทรงให้เน้นปลาที่มีสมดุลที่สุดคือ เขี้ยวดูชัด รูปทรงดูกลมหนา ใบหางแข็ง หางตั้ง ดูแล้วมีเสน่ห์ ลักษณะของสีและมาร์คกิ้งของตัวปลาดูแล้วมีจุดเด่นเฉพาะ นี่คือรูปทรงลักษณะที่ดีของปลาสิงห์ญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น

2. มุมมองภาพรวม
สำหรับมุมมองภาพรวมของปลาสิงห์ญี่ปุ่น จะเป็นปลาสวยงามที่คนไทยนิยมกันมากในการมองด้านข้าง ซึ่งจะมองเห็นความแตกต่างจาก Top view แต่ปัจจุบันได้มีการเอาข้อด้อยของปลา Side view และข้อเด่นต่าง ๆ ของ Top view มาปรับแต่งให้มีความสมดุลในทางที่ดียิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าปลาสิงห์ญี่ปุ่นในทุกวันนี้จะต่างจากอดีต เพราะมีรูปแบบในการเพาะพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ปลาสิงห์ญี่ปุ่นในปัจจุบันดูสวยงามมีเสนห์มากยิ่งขึ้น

แต่ในส่วนภาพรวมของการมองนั้น ส่วนใหญ่นักนิยมปลาสิงห์ญี่ปุ่นแต่ละท่านจะมีการมองปลาไม่เหมือนกัน ที่เป็นจุดเด่นเฉพาะคือ หลังต้องสวย ยิ่งลงลึกเท่าไหร่ยิ่งดูดี (หลังเหรียญบาท) ใบหางแข็งขึ้น ในอดีตใบหางของปลาสิงห์ญี่ปุ่นจะบาง แต่ปัจจุบันนี้หางจะแข็งดูดีกว่า ส่วนกะโหลกก็ต้องกว้างขึ้น เขี้ยวดูเด่นขึ้นด้วย

Thursday 26 May 2011

ปลากราย

ชื่ออังกฤษ Kinfe fish, Spotted knife fish, Featherback

ชื่อไทย มีเรียกหลายชื่อ ได้แก่ปลากราย ปลาหางแพน ปลาตอง ปลาตองกราย

ปลากราย (, Haminton) เป็น ปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ประชาชนชอบบริโภคเนื่องจากเนื้อปลากรายมีรสชาติดีสามารถนำมาปรุงอาหารได้ หลายชนิด พบตามแหล่งน้ำทั่วๆ ไปของประเทศไทย ในต่างประเทศเช่น เขมร พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น


ปลากราย (ปลาตองลาย)
รูปร่างลักษณะ เป็นปลาลำตัวแบน บาง ยาวเรียวไปทางส่วนหางคล้ายมีด ส่วนหลังโค้ง หัวเล็กเว้าตรงต้นคอปากค่อนข้างกว้าง ลำตัวเป็นสีเงินหรือสีเงินปนเทา ลำตัวด้านหลังจะคล้ำ ส่วนด้านท้องจะมีสีจางกว่า บริเวณท่อนหางจะมีจุดสีดำประมาณ 5-10 จุด เรียงกันไป แต่ถ้าเป็นปลากรายขนาดเล็ก อายุยังน้อยจะยังไม่มีจุดดำ แต่จะมีลายแถบสีดำพาดขวางลำตัวแทนต่อเมื่อปลาโตขึ้นลายดำจะหายไป เกิดจุดดำขึ้นมาแทน ครีบด้านล่างของปลากรายยาวติดต่อกันไปเป็นพืด ครีบด้านหลังมีขนาดเล็กตรงกึ่งกลางลำตัว ครีบอก 2 ข้างก็เช่นเดียวกัน มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก

อุปนิสัย ปัจจุบันวงการปลาสวยงามหันมาสนใจปลากรายมากขึ้น ส่วนมากจะจับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงขนาดใหญ่ ปลากรายมักจะมีชุกชุมในแหล่งน้ำนิ่งๆ เมื่อผสมพันธุ์วางไข่แม่ปลากรายจะวางไข่ติดกับเสา หลัก ตอไม้น้ำ หรือก้อนหินในน้ำ วางไข่แล้วพ่อแม่ปลาจะช่วยกันดูแลไข่ด้วยความหวงแหน ปลากรายระยะนี้ค่อนข้างดุร้ายคอยโบกแพนหางเฝ้าไข่ไม่ยอมให้ศัตรูเข้าใกล้ ปลากรายเมื่อมีอายุมากๆ จะมีลำตัวยาวเกือบๆ เมตร แต่เดิมจะถูกจับขึ้นมาเพื่อปรุงเป็นอาหาร ขูดเนื้อทำลูกชิ้นหรือทอดมัน แต่ปัจจุบันนำมาขายกันเป็นปลาสวยงามซึ่งสามารถเลี้ยงให้คุ้นเคยและสวยงามดี

การเลี้ยงดู จากลักษณะปากกว้าง ฟันเป็นซี่ๆ ภายในปาก บอกให้รู้ถึงลักษณะการกินอาหาร ปลากรายกินสิ่งที่มีชีวิตเป็นอาหาร เป็นต้นว่า ลูกกุ้ง ลูกปลา ตัวหนอน ตัวแมลงในน้ำ สำหรับลูกปลากรายตัวเล็กๆ อาจเลี้ยงด้วย ไรน้ำ ลูกน้ำ ก็ได้ แต่ในขณะนี้ได้มีการฝึกเพื่อกินอาหารเม็ดลอยน้ำ เพื่อความสะดวกในการเลี้ยง

Tuesday 24 May 2011

ปลาปอมปาดัวร์

ปลาปอมปาดัวร์(pompadour) หรือมีชื่อเรียกสามัญภาษาอังกฤษว่า Discus อยู่ในสกุลของ Symphysodonและจัดอยู่ในครอบครัว Cichlidae ซึ่งเป็นครอบครัวปลาที่ใหญ่ที่สุดครอบครัวหนึ่ง โดยมีมากถึงกว่า 600ชนิด มีชื่อเรียกรวมๆกันทั่วไปว่า Cichilds ปลาในครอบครัวนี้ส่วยใหญ่มีถิ่นกำเนิดและพบอาศัยในเขตร้อน โดยเฉพาะทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้

ลักษณะที่สำคัญของปลาในครอบครัว Cichlidae คือ มีครีบหลังต่อกันยาวตลอด ส่วนของลำตัว และบริเวณส่วนครีบหน้าจะเป็นหน้าแหลม ซึ่งจะต่อติดกับครีบอ่อนที่อยู่ด้านท้ายลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ รูจมูกมีเพียงข้างละรู ซึ่งแตกต่างจากปลาในครอบครัวอื่นที่มีรูจมูกข้างละ 2 รู ปลาจำพวก Cichildsมักจะมีสีสันบนลำตัวสวยงาม จึงมีผู้นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ซึ่งคนรู้จักกันทั่วไป เช่น ปลาเทวดา ปลาออสก้าร์ เป็นต้น ส่วนที่นำมาเลี้ยงเป็นอาหารก็คือ ปลาหมอเทศ ปลานิล เป็นต้น

ปลาปอมปาดัวร์
ลักษณะรูปร่างปลาปอมปาดัวร์
ปลาปอมปาดัวร์ เป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะเป็นรูปทรงกลม ลำตัวแบนมีความกว้างของลำตัวมากจนคล้ายจาน ปากเล็ก มีการเคลื่อนไหวเนิบนาบ อ่อนช้อย ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 15-20 ซม. หรือประมาณ 6-8 นิ้ว มีลวดลายและสีสันเข้มข้นใกล้เคียงกับปลาทะเล ดูสวยงามมาก จึงเป็นที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้ไว้เพื่อความสวยงาม จนได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งปลาตู้" ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในวงการตลาดปลาสวยงาม และจัดเป็นปลาราคาแพง

เป็นปลาที่มีการเคลื่อนไหวเนิบนาบดูอ่อนช้อยสวยงามมีถิ่นกำเนิดเดิมที่ลุ่มแม่น้ำอเมซอน อันเป็นแม่น้ำที่อยุ่ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมีลำน้ำสาขาต่างๆไหลผ่านครอบคลุมหลายประเทศด้วยกัน เช่น บราซิล เวเนซุเอลา โคลัมเบียและเปรู ซึ่งปัจจุบันบริเวณลุ่มแม่น้ำนี้ยังคงความเป็นธรรม
ชาติไม่แตกต่างไปจากเดิม สำหรับปลาที่มีถิ่นอาศัย อยู่ในลุ่มน้ำลำธารที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆ และมีระดับความลึกของน้ำไม่มากนักมักหลบอาศัยตามรากไม้น้ำหรือใต้พุ่มไม้น้ำที่มีลักษณะรก

Friday 20 May 2011

ปลากระดี่แคระ

ชื่ออังกฤษ Dwarf gourami
ชื่อไทย กระดี่แคระ

ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย
กระดี่แคระไม่ใช่ปลาพื้นบ้านของเมืองไทยถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมอยู่ที่ประเทศอินเดียตอนใต้ แต่ขณะนี้ได้นำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ในไทย

รูปร่างลักษณะ
กระดี่แคระเป็นปลาแบนด้านข้าง ตามลำตัวมีแถบสีเขียวหรือสีน้ำเงินอ่อนสลับกับสีแดงทั่วไปตามครีบต่างๆ ด้วย กระดี่แคระจัดเป็นปลาที่มีสีสวยและน่ารักกว่าปลากระดี่ด้วยกัน เป็นปลากระดี่ขนาดเล็กที่สุด จึงได้ชื่อว่ากระดี่แคระ โตเต็มที่ความยาว ประมาณ 5-7 ซม. การดูเพศผู้หรือเพศเมียอาศัยดูสีที่ลำตัวก็อาจทราบได้คือ กระดี่แคระตัวผู้สีจัดกว่าตัวเมียมากซึ่งเป็นทำนองเดียวกับปลาหางนกยูง

ปลากระดี่แคระ
อุปนิสัย
 กระดี่แคระเป็นปลาที่รักสงบ ค่อนข้างขี้อายชอบซุกตัวเงียบ ๆ อยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำ กิ่งไม้ ตามมุมตู้ ต้องเลี้ยงให้เชื่องจริง ๆ จึงจะออกมาว่ายน้ำให้เห็น ในตู้กระจกถ้าเลี้ยงปะปนกันหลายๆ ตัว บางครั้งก็อาจทำร้ายกัน ไม่ควรปล่อยเลี้ยงมากเกินไปนัก ขณะปล่อยลงเลี้ยงใหม่ ๆ มักไม่ค่อยยอมกินอาหาร ควรปล่อยไว้ให้หิวเต็มที่และใส่อาหารลงไปให้จะออกมากินเองอย่าพยายามให้ตื่นตกใจ ปลาจะไม่ยอมกินอาหารและถอดสีไม่สวยงาม กระดี่แคระถ้า ปล่อยลงผสมพันธุ์กัน บางครั้งจะทำร้ายตัวเมียจนถึงแก่ความตาย ปลาชนิดนี้ก่อหวอดวางไข่ ตัวผู้ดูแลลูกอ่อนคอยขับไล่ตัวเมียไม่ยอมให้เข้ามาใกล้ ตัวเมียมักเสียชีวิตเมื่อผสมพันธุ์แล้ว ควรรีบตักออกมาเลี้ยงไว้ต่างหาก ไข่ของกระดี่แคระค่อนข้างเล็กมากมองแทบไม่ค่อยเห็น ควรใส่พันธุ์ไม้น้ำหรือ ที่ซุกซ่อนให้ลูกปลาไว้มาก ๆ ลูกปลาจะรอดชีวิตเพิ่มขึ้น

ข้อควรระวังประการหนึ่งคือ กระดี่แคระเป็นปลากระโดดเก่ง อาจกระโดดออกมานอกตู้ได้ถ้าไม่ได้ป้องกันไว้

การเลี้ยงดู กระดี่แคระไม่ควรจัดตู้ให้สว่างมากเกินไป มีพันธุ์ไม้น้ำ กิ่งไม้ ซอกหิน ให้ปลาได้หลบอาศัย ถ้าปลาเชื่องแล้วสีจะสวยงามมาก ถ้าจะจัดตู้โดยใช้แสง ไฟเพิ่มความสวยงามนับว่าน่าดูทีเดียว กระดี่แคระกินอาหารค่อนข้างประหยัด กินอาหารได้แทบทุกชนิด แม้กระทั่งอาหารสำเร็จรูป

Thursday 19 May 2011

ปลากระสูบ

เป็นปลาน้ำจืดกลุ่มหนึ่งของไทยที่อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Family Cyprinidae) ซึ่งเป็นปลากลุ่มใหญ่ที่สุดของปลาน้ำจืดไทยเรา ปลาในกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นที่ค่อน ข้างชัดเจนกล่าวคือปลากลุ่มนี้จะไม่มีฟันที่กระดูกขากรรไกร แต่จะมีพัฒนาการในกระดูกคอหอย (pharyngeal bone) ให้มีลักษณะเหมือนฟันเรียกว่า (pharyngeal teeth) ปลากระสูบเป็นปลา สกุลหนึ่งที่มีการกระจายพันธุ์แทบทุกภาคของประเทศ โดยสามารถพบได้ทั้งในบริเวณที่เป็นแหล่ง น้ำนิ่งและเป็นแหล่งน้ำไหลแม้แต่ในบริเวณที่เป็นลำธารตื้นๆ ที่ไหลมาจากน้ำตก ปลากระสูบที่พบในลุ่มน้ำต่างๆ ของไทยเรามีทั้งสิ้น 3 ชนิด

ปลากระสูบขีด
1. ปลากระสูบขีด
ชื่อเรียก กระสูบ(ภาคกลาง) สูบ(ภาคใต้) สูด(ภาคอิสาน)
ชื่อวิทย์ (Hampala macrolepidota Valenciennes)
เป็นปลากระสูบ (Hampala) ที่มีการกระจายพันธ์กว้างที่สุดในสกุลนี้ โดยสามารถพบ ได้ในลุ่มน้ำตะนาวศรีในพม่า แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่น้ำในเขตภาคตะวันออกของไทย ภาคใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซียพบในเกาะสุมาตรา ชวา(เป็น Type locality ของปลาชนิดนี้) และ กาลิมันตัน ปลากระสูบชนิดนี้เป็นตัวอย่างต้นแบบของปลาในสกุลปลากระสูบ (Hampala) ทุกชนิด แหล่งที่สำคัญที่สุดที่จะพบปลากระสูบขีดได้ดีจะมีลักษณะเป็นแหล่งน้ำนิ่ง ขนาดใหญ่ที่มีน้ำค่อนข้างใส ไม่ว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน หรือในหนองบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่นที่บึงบอระเพ็ด เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น

ปลาชนิดนี้มีลักษณะเด่นค่อนข้างชัดเจนและสมกับชื่อกระสูบขีด กล่าวคือในปลาตัว เต็มวัยขนาดความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ขึ้นไปจะมีแถบดำอยู่ในแนวขวางในแนวด้านข้าง ลำตัว ซึ่งจะเป็นแถบที่เห็นชัดที่สุดอย่างไรก็ดีในปลาบางตัวจะมีแถบบริเวณโคนครีบ หางและแถบ ขวางคาดตาเพิ่มขึ้นด้วยแม้ว่าจะมีขนาดใหญ่แล้วก็ตาม

ปลากระสูบจุด
2. ปลากระสูบจุด (ภาคกลาง) สูด(อิสาน)
ชื่อวิทย์(Hampala dispar Smith)
ปลา กระสูบชนิดนี้มีแหล่งที่ถูกเก็บและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ครั้งแรกจาก แม่น้ำมูล จังหวัด อุบลราชธานี โดย H.M. Smith ในปี 1934 ปลากระสูบชนิดนี้มีลักษณะเด่นโดยจะมีจุดกลมอยู่ใน แนวด้านข้างลำตัว นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปลากระสูบขีด หรือ ปลากระสูบพม่า แล้ว กระสูบสุดจะมีลำตัวอ้วนป้อมกว่า หัวสั้นกว่า และมีหางสั้น ครีบต่างๆ ของกระสูบจุดใสไม่มีสี นอกจากครีบหางที่มีสีส้ม ส่วนมากจะไม่มีแถบดำที่บริเวณขอบด้านบนและล่างของครีบหาง

มีหนวดสั้น 1 คู่ที่ริมฝีปาก ครีบหลังค่อนข้างเล็ก ครีบหางเว้าลึก เกล็ดค่อนข้างใหญ่ ตัวมีสีเงิน ด้านหลังสีคล้ำอมน้ำตาล ด้านท้องสีจาง ด้านข้างลำตัวมีจุดสีคล้ำข้างละหนึ่งดวง ครีบมีสีแดงเรื่อ ครีบหางมีสีแดงไม่มีแถบสีคล้ำ โดย พบตัวอย่างจำนวนน้อยเท่านั้นที่พบแถบดังกล่าว

ปลากระสูบพม่า
3. ปลากระสูบพม่าหรือกระสูบสาละวิน
ชื่อวิทย์(Hampala salweenensis Doi&Taki)
ปลา กระสูบชนิดนี้เป็นน้องใหม่ของวงการปลากระสูบ ถูกตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรก จากตัวอย่างที่มาจากแม่น้ำเมย จังหวัดตาก โดย Doi&Taki ในปี 1994 นี่เอง อย่างไรก็ดีปลาชนิด นี้พบได้ทั่วไปในระบบลุ่มน้ำสาละวินรวมถึงลำน้ำสาขาทางตอนล่างติดกับชายแดน อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ปลากระสูบชนิดนี้มีลำตัวเพรียวยาวกว่ากระสูบสองชนิดที่กล่าวถึงข้างต้น และมีจุดเด่นที่สำคัญคือเมื่อเปรียบเทียบกับกระสูบขีดจะมีลักษณะตำแหน่งแถบ ตามขวางคล้ายคลึงกันรวมทั้งลักษณะสีของครีบหาง

ที่แตกต่างกันมากที่สุดคือปลากระสูบขีดนั้นแถบตามขวาง มีลักษณะเป็นขีดแต่แถบตามขวางของกระสูบพม่ามีลักษณะเป็นแต้มคล้ายรอยนิ้วมือ และมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้แต้มดังกล่าวจะเห็นได้ชัดและมีขนาดใหญ่มากในช่วงที่ปลามีขนาดเล็ก เมื่อ ปลาเจริญเติบโตขึ้นแต้มดังกล่าวทั้งสามแต้มก็จะไม่จางหายไป (ในกรณีที่อยู่ในที่เลี้ยงแต้มของ ปลาอาจจางได้ถ้าสภาพของตู้ไม่เหมาะสม) ปลากระสูบพม่าเท่าที่มีรายงานโตเต็มที่มีความยาว ประมาณ 40 เซนติเมตร

Tuesday 17 May 2011

ปลากระดี่นาง

ลักษณะทั่วไปของปลากระดี่นาง
ปลากระดี่นางเป็นปลาน้ำจืดซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกับปลาสลิด กระดี่หม้อ กระดี่มุก และอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาหมอ ไทย กระดี่นางมีสีขาวนวล ไม่มีจุดดำ ลำตัวบาง เกล็ดบาง เกล็ดเล็กละเอียด ขอบเกล็ดเป็นจักรเช่นเดียวกับเกล็ดปลาหมอ มีเส้นก้านครีบเป็นรยางค์ยาวอยู่ใต้ท้อง 1 คู่ ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ปลากระดี่นางมีอวัยวะช่วยหายใจพิเศษ เช่นเดียวกัน ในสภาพที่น้ำไม่ดีนัก กระดี่นางก็จะโผล่ริมฝีปากขึ้นมาฮุบเอาอากาศหายใจได้ อาหารเป็นพวกสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น ตัวอ่อนของแมลง ไรแดง ปลาเพศผู้มีสีแสดบริเวณท้อง กล่าวกันว่า ปลากระดี่ใช้รยางค์คู่นี้เป็นเครื่องรับความรู้สึก มีนิสัยสงบ เลี้ยงรวมกับปลาอื่นได้ดี แต่ในฤดูผสมพันธุ์ปลาตัวผู้มีนิสัยกีดกันปลาอื่น ปลากระดี่ขนาดลำตัวโตกว่ากระดี่หม้อเล็กน้อย ชาวต่างประเทศเรียกว่า "มูนบีน หรือมูนไลท์" ซึ่งตรงกับคำว่าปลากระดี่แสงจันทร์

ปลากระดี่นาง
การแพร่กระจาย
ปลากระดี่นางมีอยู่ทั่วไปตามแหล่งน้ำ และมีถิ่นที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับปลากระดี่หม้อ คือ พบตามแหล่งน้ำหนองบึง ลำห้วย ซึ่งมีพืชพันธุ์ไม้น้ำหนาแน่น ในทุกภาคของประเทศ ต่างประเทศ มีในแถบอินโดจีน

การเพาะพันธุ์ปลากระดี่นาง
ในฤดูผสมพันธุ์ ปลากระดี่นางเพศผู้นอกจากสังเกตจากครีบหลังเช่นกระดี่หม้อแล้ว ขอบครีบก้นของปลาตัวผู้ขึ้นสีเป็นสีส้ม การเพาะพันธุ์ปลากระดี่นาง สามารถทำการเพาะโดยวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ หรือ การเพาะแบบวิธีกึ่งธรรมชาติ การเพาะโดยวิธีการเลียนแบบ ธรรมชาติโดยการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความพร้อม โดยปลาเพศเมีย ควรมีช่วงท้องขยายใหญ่ขึ้น และนิ่ม ในเพศผู้สังเกตสีของขอบครีบก้นของปลาตัวผู้จะขึ้นสีเป็นสีส้ม นำมาปล่อยในบ่อเพาะไว้รวมกันใส่พรรณไม้น้ำประมาณ 1 ใน 4 บ่อ ทำการถ่ายน้ำทุก 2-3 วัน หลังจากนั้นประมาณ 7 วัน ตัวผู้เริ่มก่อหวด ส่วนการเพาะด้วยวิธีกึ่งธรรมชาติ โดยการฉีดฮอร์โมนให้กับแม่ และปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองแบบธรรมชาติ อัตราความเข้มข้นของฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ในการฉีดครั้งที่ 1 ฉีดแม่ในความเข้มข้น 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทิ้งระยะห่าง 6 ชั่วโมง ทำการฉีดฮอร์โมนในครั้งที่ 2 ในอัตราความเข้มข้น 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์ domperidone 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แล้วปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงบ่อเพาะ ที่มีพรรณไม้น้ำอยู่ด้วย พบว่าแม่ปลาสามารถวางไข่ได้ หลังจากการฉีดครั้งที่ 2 ประมาณ 45-50 ชั่วโมง ไข่ปลาใช้เวลาในการฟักประมาณ 18 ชั่วโมง ซึ่งการอนุบาลลูกปลาวัยอ่อนควรใช้โรติเฟอร์ และไข่แดงต้มสุกบดละเอียดให้กินเป็นอาหาร

Tuesday 10 May 2011

ปลาทับทิม

ชื่อไทย : ปลาทับทิม
ชื่อสามัญ : NILE TILAPIA
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oreochromis niloticus

ลักษณะทั่วไปปลาทับทิม
ปลาทับทิม เป็นปลาที่ได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ให้ดีขึ้น ลักษณะของปลาทับทิม เนื้อผนังช่องท้องสีขาวสะอาด ต่างจากเนื้อปลาชนิดอื่น โดยทั่วไปจะมีผนังช่องท้องเป็นสีเทาดำโดยมีเกล็ด และผิวหนังเป็นสีแดงซึ่งถือเป็นสีมงคล ในปี พ.ศ.2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริให้ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นำปลานิลจิตรลดาไปพัฒนาสายพันธุ์ใหม่โดยเลือกลักษณะเด่นของปลาแต่ละสายพันธุ์ที่ ต้องการนำมาผสมพันธุ์จนได้ปลาเนื้อพันธุ์ใหม่ เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำเค็ม ในปี พ.ศ.2541 พระราชทานนามปลาชนิดใหม่ว่า "ปลาทับทิม" ตามลักษณะภายนอกอันโดดเด่น คือ สีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีแดงอมชมพูดูเป็นมงคล

อาหารปลาทับทิม
กินได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ

ปลาทับทิม
ลักษณะเด่น 9 ประการ ของปลาทับทิม
1. เส้นใยเนื้อละเอียดแน่น จึงมีรสชาติดีและปราศจากกลิ่น

2. มีไขมันต่ำมากจึงปราศจากกลิ่นที่เกิดจากไขมันในตัวปลา และเป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่มีประโยชน์

3. ปริมาณเนื้อบริโภคได้ต่อน้ำหนักสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนสันหนามาก

4. ส่วนหัวเล็ก โครงกระดูกเล็ก ก้างน้อย

5. ผิวมีสีแดงอมชมพู เนื้อทุกส่วนสีขาว ทำให้น่ากิน

6. เจริญเติบโตในความเค็มสูงถึง 25 ppt

7. อัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก

8. การกินอาหารเก่ง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี และมีความต้านทานต่อโรคสัตว์น้ำต่างๆ ได้ดี

9. สามารถเลี้ยงในกระชังมีความหนาแน่นสูงได้ โดยไม่มีผลเสียต่อปลา ให้ผลผลิตเฉลี่ย 40 กิโลกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร

Sunday 8 May 2011

สาเหตุที่ทำให้ปลาตายเฉียบพลัน

สาเหตุที่ทำให้ปลาตายอย่างฉับพลัน ได้แก่ สาเหตุจากการติดเชื้อและสาเหตุจากอุบัติเหตุ ซึ่งแม้จะเกิดไม่บ่อยครั้งก็ตาม แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับปลาที่เลี้ยงได้เป็นจำนวนมาก หากท่านไม่อยากสูญเสียปลาที่รักไปก่อนเวลาอันควร ก็ต้องศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ เพื่อจัดมาตรการป้องกัน

การติดเชื้อ
มีเชื้อโรคไม่กี่ชนิด ที่สามารถทำให้ปลาตายได้อย่างฉับพลันและปลาไม่กี่ชนิดที่ตายโดยไม่ทันสังเกต หรือไม่มีอาการให้เห็นล่วงหน้า โดยส่วนใหญ่ปลาที่สัมผัสเชื้อที่ก่อโรค มักจะแสดงอาการอ่อนๆ มาบ้างแล้ว หากมีการสังเกตอย่างถ้วนถี่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูร้อนอาจพบปลา Koi ตายเป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการติดเชื้อเหงือกอักเสบรุนแรง

ปลาตายเฉียบพลัน
เคยมีประวัติการตายทั้งร้อยเปอร์เซนต์ทีเดียว ซึ่งมักเกิดตามหลังการนำปลาใหม่ลงบ่อหรือตู้ กรณีนี้อาจมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเฮอร์บี (Herpes virus) ในปลา Koi ชนิดที่ก่อโรคร้ายแรง

การติดเชื้อไมโครแบคทีเรีย ซึ่งมักจะเป็นโรคเรื้อรังเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปลาที่อาศัยในเขตร้อน แถวบ้านเราจะไม่ค่อยเกิดกรณีที่ปลาตายโดยหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากเรื่องที่ทราบอยู่แล้วทั้งนั้น

ปลาที่อาการย่ำแย่จากโรคเรื้องรังในร่างกาย อย่างเช่นเนื้องอก ก็อาจจะพบว่าตายลง เนื่องจากการติดเชื้อฉวยโอกาส (Secondary bacterial infection) กรณีอย่างนี้ บางทีก็อาจถูกเหมารวมไปว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้น ปลาที่สูงวัยขึ้นก็ได้เช่นกัน

อุบัติเหตุ
อุบัติเหตุหลายประเภทที่ทำให้ปลาตายอย่างฉับพลัน อาทิ การติดอยู่ในหมู่พืชน้ำ สิ่งของตกแต่งตู้ปลาหรือตัวกรองน้ำเข้าและเครื่องสูบน้ำเข้าบ่อ เป็นต้น ส่วนกรณีอุบัติเหตุที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ การหนี ตู้ปลาส่วนใหญ่จะมีฝาครอบปิดด้านบนเพราะปลาบางชนิดชอบกระโดด เพื่อตั้งใจหนีออกจากตู้ปลา ปลาที่กระโดดหนีออกจากตู้ปลามักจะพบว่ามีอาการบาดเจ็บรุนแรง และตายในที่สุด ปลาที่เลี้ยงในบ่อ เช่น ปลาคราฟ หรือ ปลาทอง เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าชอบกระโดดออกจากบ่อ โดยเฉพาะจากบ่อน้ำตื้น แล้วพบแห้งอยู่ข้างบ่อเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง แล้วยังสามารถกลับไปฟื้นตัวในน้ำได้อีกครั้งในเวลาไม่นาน การขึงตาข่ายรอบๆ บ่อที่เลี้ยงก็อาจจำเป็น เพื่อป้องกันปลาเหล่านี้หลบหนีออกจากบ่อนั่นเอง

ไฟฟ้าช็อต
อันตรายใหญ่หลวงสำหรับปลาและเจ้าของปลา ก็คือไฟฟ้ารั่ว และช็อตเจ้าของบ่อปลา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตั้งระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ สำหรับปลาที่ถูกไฟฟ้าช็อตจะมีอาการป่วยหนัก-เบาแตกต่างกันไปตามระยะเวลา และความแรงของกระแสไฟฟ้าที่ช็อต ปลาบางชนิดเมื่อถูกไฟฟ้าช็อตก็อาจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับถูกวางยาสลบเท่านั้น แต่ปลาบางชนิดก็อาจถึงตายได้ จึงควรระวังอย่างยิ่ง

น้ำรั่ว
บ่อยครั้งที่ท่อปล่อยน้ำออกหลวมและหลุดทำให้น้ำในบ่อหรือตู้ปลารั่วออกไปจนหมด การป้องกันกรณีอย่างนี้จำเป็นจำเป็นต้องตรวจตราอุปกรณ์ หรือปั๊มน้ำอย่างถี่ถ้วน

ช็อค
การกีดขวางเหงือกโดยวัตถุแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปทางปาก หรือการที่ปลาถูกงับไว้ในปากจนมิดหัว และแผ่นปิดเหงือกอาจทำให้ปลาช็อค เนื่องจากขาดอากาศหายใจก็ได้

Saturday 7 May 2011

ปลาไวท์คลาวด์

ชื่อไทย : ปลาไวท์คลาวด์
ชื่อสามัญ : White Cloud Mountain Minnow
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tanichthys albonubes

ปลาไวท์คลาวด์ เป็นปลาขนาดเล็ก ที่เลี้ยงง่ายและมีถิ่นกำเนิดอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากประเทศไทยมากนัก คือมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน และทางตอนบนของประเทศเวียดนามที่ติดกับประเทศจีน ปลาชนิดนี้แต่เดิมอาศัยอยู่ในที่อากาศเย็นบนเทือกเขา ในธรรมชาติเป็นปลาที่หายากใกล้สูญพันธุ์และถือเป็นสัตว์คุ้มครองของประเทศจีน ปัจจุบันปลาที่เลี้ยงกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นปลาที่ได้จากการเพาะพันธุ์ขึ้นทั้งสิ้น จึงทำให้ปลาสามารถปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิในบ้านเราได้

ลักษณะของปลาชนิดนี้ลำตัวจะมีสีขาวออกเงินๆ สะท้อนแสง เวลามองจากด้านบนจะเป็นสีเงินอมเขียว กลางลำตัวมีแถบสีทองออกเงินพาดขวางลำตัว ครีบหางมีสีแดงสด ส่วนครีบอื่นๆ จะมีสีเหลืองตรงขอบของครีบ เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ราคาไม่แพง กินอาหารได้ทั้งอาหารสำเร็จรูป และอาหารที่มีชีวิต เช่น ไรแดง ไรทะเล ไส้เดือนน้ำ เป็นต้น มักจะว่ายน้ำเป็นฝูง การสังเกตเพศจะสังเกตได้จากที่ตัวผู้จะมีสีสดกว่าตัวเมียและลำตัวจะเพรียวกว่า

ปลาไวท์คลาวด์
จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าปลาชนิดนี้สามารถเพาะพันธุ์ได้ โดยปลาชนิดนี้จะวางไข่กับพวกสาหร่าย ไข่จะฝักตัวภายใน 36 ชั่วโมง อาหารของลูกปลา แรกเกิดมักจะให้หนอนจิ๋วหรือไข่แดง โตมาหน่อยก็ให้ไรแดง จัดว่าเป็นปลาที่โตไวพอสมควร

โรคของปลาไวท์คลาวด์ ส่วนมากจะเป็นโรคจุดขาวกับโรคเน่าเปื่อยและท้องอืด ปลาไวท์คลาวด์นั้นเมื่อมีการเพาะพันธุ์กันมากๆ จึงทำให้เกิดการผ่า เหล่าออกมาจากปลาไวท์คลาวด์แบบปกติอีกสองชนิดคือ ปลาไวท์คลาวด์เผือก (แต่ตาไม่แดง) และปลาไวท์คลาวด์หางยาวหรือไวทคลาวด์หางพวง

โดยปลาไวท์คลาวด์เผือกนี้ลำตัวจะเป็นสีเหลืองสด ครีบทุกครีบจะเป็นสีแดงเข้มกว่าไวท์คลาวด์ปกติ แต่สีของตายังเป็นสีดำอยู่ ค่อนข้างเลี้ยงยากและ เปราะกว่าปลาไวท์คลาวด์ปกติ ส่วนอีกตัวหนึ่งคือ ไวท์คลาวด์หางยาวหรือไวท์คลาวด์หางพวงลักษณะและสีสันจะเหมือนกับไวท์คลาวด์ปกติ แต่ ครีบทุกครีบจะยาวกว่าปกติออกเป็นลักษณะคล้ายหางพวงเป็นกระโปรง ปลาไวท์คลาวด์เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ราคาก็ไม่แพงและปลายังทนต่อสภาพน้ำต่างๆ อีกด้วยจึงเหมาะสำหรับนักเลี้ยงปลามือสมัครเล่นอีกชนิดหนึ่ง

Wednesday 4 May 2011

ปลาซิวข้างขวาน

"ปลาซิวข้างขวาน” จัดเป็นปลาน้ำจืดที่มี ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซียและประ เทศไทย รูปร่างลักษณะของปลาชนิดนี้จัดเป็นปลาที่มีลำตัวแบนด้านข้าง ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว แต่บริเวณกลางลำตัวมีสีน้ำตาลอมแดง ลักษณะ เด่นสะดุดตาของปลาชนิดนี้อยู่ตรงที่ แถบสามเหลี่ยมสีดำคล้ายรูปขวาน ตอนกลางตัวไปทางด้านหาง นอกจากนั้นครีบจะมีสีส้มหรือสีแดงอ่อนช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับตัวปลาจึง เริ่มเป็นปลาที่มีคนไทยนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้กระจกกันมากขึ้น

ในธรรมชาติปลาซิวข้างขวานจะ อยู่รวมเป็นฝูงในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ และบริเวณแอ่งน้ำค่อนข้างนิ่ง พื้นท้องน้ำเป็นดินโคลน มีซากวัชพืชหรือใบไม้ทับถม ลักษณะของน้ำมีสีน้ำตาลหรือสีชา ซึ่งเป็นน้ำฝาดที่ได้จากการสลายตัวของซากพืชและอินทรียวัตถุ จัดเป็นปลาที่เคลื่อนที่ได้เร็ว ใช้สายตาและสามารถพรางตัวจากศัตรูได้ดีเนื่องจากมีตาโตและไม่มีหนวด ปากเล็กอยู่ด้านหน้าสุด อีกทั้งสภาพของน้ำที่อาศัยมีค่าความเป็นกรดสูงคือมีค่า pH เฉลี่ย 4.4-6.0

ปลาซิวข้างขวาน
เนื่องด้วยปลาซิวข้างขวานจัดเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ในการแยกเพศด้วยการสังเกตลักษณะภายนอกด้วยตาเปล่าทำได้ยาก โดยมากจะใช้การสังเกตจากลักษณะของลำตัว สีและรูปสามเหลี่ยม คล้ายขวานบริเวณลำตัวเป็นตัวบ่งบอกเพศได้บ้าง เช่น เพศผู้จะมีลักษณะของลำตัวเรียวยาวและรูปสามเหลี่ยมมีปลายเว้าไปทางด้านหน้า ของลำตัว ส่วนเพศเมียจะมีลักษณะของลำตัวค่อนข้างป้อมและรูปสามเหลี่ยมมีปลายตัดตรง ในขณะเดียวกันปลาเพศผู้ลำตัวมักจะมีสีส้มหรือสีเข้มกว่าปลาเพศเมียอย่าง ชัดเจน

Tuesday 3 May 2011

ตลาดปลาสวยงาม

การซื้อขายปลาสวยงามในปัจจุบันจะพบร้านขายปลา สวยงามอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก ที่ร้านขายปลาสวยงามเหล่านี้มักจะไม่ได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงลูกปลาขึ้นเอง แต่ดำเนินกิจการคล้ายกับร้านค้ารายย่อย คือรับซื้อสินค้าจากร้านขายส่ง ผู้ผลิต หรือเกษตรกรมาขายต่ออีกทีหนึ่ง

สำหรับร้านขายส่งปลาสวยงามนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่ซันเดย์พลาซ่าและตลาดสวนจตุจักร มีร้านค้าปลาสวยงามเปิดขายประจำวันอยู่หลายร้าน โดยการขายส่งปลาจะเริ่มตั้งแต่เที่ยงวันศุกร์จนถึงวันเสาร์ มีการนำปลาสวยงามชนิดต่างๆ จากแหล่งต่างๆเข้ามาวางขายในลักษณะขายส่งเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ผู้ค้าปลาสวยงามที่เปิดร้านอยู่ในแหล่งต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจะเดินทางเข้าไปเลือกซื้อปลากันในช่วงบ่ายวันศุกร์และเช้าวันเสาร์มากที่สุด สำหรับผู้เลี้ยงปลาสวยงามที่เคยหาซื้อปลา ก็มักจะไปเลือกซื้อปลาในวันเสาร์เช่นกัน เนื่องจากรู้ว่าจะมีปลาให้เลือกซื้อค่อนข้างมาก ในปัจจุบันได้มีตลาดขายส่งปลาสวยงามเกิดขึ้นอีกหลายแห่งเป็นจำนวนมาก ในวันนี้ผมจะพาไปดูครับ

ตลาดซันเดย์ Sunday Market

1. ตลาดซันเดย์ Sunday Market
เปิดขายวันอังคาร - วันอาทิตย์วันอังคารเป็นวันขายส่ง เปิดขายเวลา 09.00 - 18.00 น.วันพุธ - วันอาทิตย์ เปิดขายเวลา 09.00 - 18.00 น.
สถานที่ตั้ง ด้านหน้าอยู่ตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์เด็ก จตุจักร ถ.กำแพงเพชร แขวงลาดยาว เขต จตุจักร กรุงเทพฯ


ตลาดนัดจตุจักร Jutujak Market

2. ตลาดนัดจตุจักร Jutujak Market
เปิดขายวันเสาร์ - วันอาทิตย์ เวลา 08.00 - 18.00 น.
สถานที่ตั้ง ด้านหน้าอยู่ตรงข้ามกรมการขนส่งทางบก ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขต จตุจักร กรุงเทพฯ



จตุจักรพลาซ่า Jutujak Plaza


3. จตุจักรพลาซ่า Jutujak Plaza
เปิดขายวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 10.00 - 18.00 น.
สถานที่ตั้ง ด้านหน้าอยู่ตรงข้ามตลาดเซเว่นเดย์ ถ.กำแพงเพชร2 แขวง ลาดยาว เขต จตุจักร กรุงเทพฯ


ตลาดศรีสมรัตน์ Srisomrat Market

4. ตลาดศรีสมรัตน์ Srisomrat Market
เปิดขายวันอังคาร - วันอาทิตย์ 10.00 - 18.00 น.
สถานที่ตั้ง อยู่ด้านหลังตลาดซันเดย์ บริเวณติดกับลานจอดรถ ถ.กำแพงเพชร2 แขวง ลาดยาว เขต จตุจักร กรุงเทพฯ



ตลาดนัดธนบุรี สนามหลวง 2 Ton Buri


5. ตลาดนัดธนบุรี สนามหลวง 2 Ton Buri
เปิดขายทุกวัน แต่จะมีสินค้ามากในวันเสาร์ - วันอาทิตย์ เปิดเวลา 09.00 - 18.00 น.
สถานที่ตั้ง อยู่ระหว่างพุทธมณฑลสาย3 และสาย4 ถ.เลียบคลองทวีวัฒนา เขต ทวีวัฒนา กรุงเทพฯ


Monday 2 May 2011

สัตว์ทะเลที่มีพิษและเป็นอันตรายต่อมนุษย์

ท้องทะเลไทยนับว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด คนไทยได้นำสัตว์ทะเลเหล่านี้มาบริโภคเป็นอาหารกันเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ไม่สามทารถนำมาบริโภคได้เนื่องจากมีพิษ และบางชนิดที่ไม่มีพิษต่อการบริโภค แต่จะเป็นอันตรายหากไปสัมผัส หรือไปอยู่ในบริเวณที่มีสัตว์ทะเลเหล่านั้นชุกชุม

อันตรายจากสัตว์ทะเลแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
1.อันตรายจากสัตว์ทะเลที่มีพิษ กัด ทิ่มแทง หรือต่อย (venomous animals) และปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายตรงบริเวณบาดแผลนั้น พิษของสัตว์ทะเลอาจอยู่ที่เงี่ยง ก้าน ครีบ เขี้ยว และมีเข็มพิษที่เรียกว่า นีมาโตศีย์สต์ (nematocyst) ตัวอย่างได้แก่ ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน งูทะเล ปลาสิงโต และเม่นทะเล

แมงดาทะเล
2.อันตรายจากการบริโภคเนื้อ และอวัยวะของสัตว์ทะเลที่มีพิษ (poisonous animals) สัตว์ทะเลบางชนิดมีการสะสมสารพิษในบริเวณเนื้อเยื่ออวัยวะภายใน และรังไข่ เมื่อมนุษย์นำเอาสัตว์ทะเลนั้นมาบริโภค จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น แมงดาทะเล ปูบางชนิด และปลาปักเป้า เป็นต้น สัตว์บางชนิดมีสารพิษสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อเป็นบางช่วงฤดูกาล เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม ที่เพาะเลี้ยงอยู่ตามชายฝั่งที่มักเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีเป็นประจำในช่วงฤดูฝน หรืออาจได้รับสารพิษจากไดโนแฟลกเจลเลตที่เป็นสาเหตุของปรากฏณ์ดังกล่าวเข้าไป เมื่อมนุษย์นำสัตว์มาบริโภคทำให้ได้รับสารพิษนั้นได้ ในทำนองเดียวกันหากดินตะกอนบริเวณชายฝั่งมีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง ที่พัดพามาจากแผ่นดิน สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอาจมีการสะสมของสารพิษดังกล่าวด้วยเช่น หอยสองกาบที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล ได้แก่ หอยลาย หอยแครง เป็นต้น ซึ่งกินอาหารโดยการกรองดินตะกอนและอินทรีย์สารเข้าไป เมื่อคนบริโภคหอยดังกล่าวทำให้ร่างกายได้รับสารพิษของโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานในประเทศไทยว่ามีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลงในหอยเหล่านี้ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค

สัตว์ทะเลบางชนิดในกลุ่มที่ 1 ที่กล่าวมาแล้วนั้นสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้เนื่องจากสารพิษที่มีอยู่บริเวณเงี่ยง หรือ ก้านครีบ เมื่อถูกความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารจะสลายตัวไป เช่น พิษที่เงี่ยงปลากระเบน ปลาดุกทะเล เป็นต้น แต่ถ้าสารพิษสะสมอยู่ในกลุ่มที่ 2 ความร้อนจากการปรุงอาหารไม่สามารถทำให้สลายไปได้ เช่น พิษของไข่แมงดาทะเล เนื้อและอวัยวะภายในของปลาปักเป้า เป็นต้น

ฉลาม
3.อันตรายจากสัตว์ทะเลที่ทำให้การเกิดบาดแผล (injurious animals) เนื่องจากถูกอวัยวะที่แหลมคม เช่น ฟัน หนาม ก้านครีบ หรือเงี่ยง รวมทั้งการปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาของสัตว์ทะเลบางชนิด ตัวอย่างเช่น ฉลามกัด ปูหนีบ เพรียงหินบาด และเปลือกหินทิ่มตำ เป็นต้น สัตว์เหล่านี้มักมีฟัน ครีบ และเงี่ยงที่แหลมคมไว้ใช้ในการป้องกันตัว และล่าเหยื่อเท่านั้น หาได้มีไว้เพื่อโจมตี หรือทำร้ายมนุษย์แต่อย่างไร