Monday 18 October 2010

ปัจจัยในการเลี้ยงปลาทะเล

ปัจจัยในการเลี้ยงปลาทะเล
1. หินเป็น
หินเป็นคือหินที่เกิดจากซากปะการังตายมาเกาะตัวกันเป็นก้อน ซึ่งภายในมีลักษณะพิเศษต่างจากหินทั่วไปคือมีรูพรุน ซึ่งเหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่สำหรับแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในการกำจัดของเสียไนเรตภายในตู้และนอกจากนี้ จะมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆหลายชนิดอาศัยอยู่ภายใน เช่น ดาวเปราะ , ปู ( อันตรายต่อปลา ควรเอาออก ) , หนอน และอื่นๆ ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะช่วยให้ ระบบนิเวศน์ภายในตู้ของเราสมบูรณ์และคล้ายกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้นโดยที่ถ้าในตู้มีหินเป็นมากเท่าไหร่ ระบบภายในตู้ก็จะยิ่งเสถียรมากเท่านั้น

การเลี้ยงปลาทะเล
สำหรับการเริ่มตั้งตู้ปลาทะเลนั้นหินเป็นมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยเร่งระยะเวลาการเซตตู้ให้เร็วขึ้นและทำให้ระบบเสถียรมากขึ้น นอกจากนี้เรายังใช้หินเป็นในการจัดตู้เพื่อความสวยงาม เป็นฐานสำหรับวางปะการังได้ตามความต้องการอีกด้วย ซึ่งหินเป็นนั้นสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายปลาทะเล และหินเป็นที่มีคุณภาพคือหินเป็นที่บำบัดแล้วมิฉะนั้นอาจทำให้น้ำในตู้เน่าเสียหรือเหลืองได้ และหินเป็นเหล่านี้ต้องเปียกเสมอ ถ้าหินแห้งนั้นจะเรียกว่าหินตาย ซึ่งไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่แล้วแต่สามารถกลายเป็นหินเป็นได้ ถ้านำมาไว้ในตู้เดียวกันกับหินเป็นเพราะจะมีสิ่งมีชีวิตย้ายเข้าไปอาศัยอยู่เพิ่ม



2. การเซตตู้
ความยากอย่างหนึ่งของการเลี้ยงปลาทะเลและถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ความใจเย็นอย่างมากนั่นก็คือขั้นตอนการเซตตู้ เนื่องจากการเลี้ยงปลาทะเลนั้นเราไม่สามารถใส่น้ำและใส่ปลาได้เลยทันทีเพราะการทำแบบนี้จะทำให้ปลาตาย เนื่องด้วยระบบภายในตู้ไม่สามารถกำจัดและรองรับของเสียที่เกิดจากปลาได้ เพราะของเสียเหล่านี้จำเป็นต้องถูกกำจัดโดยแบคทีเรียที่มีในตู้ซึ่งต้องมีปริมาณมากระดับหนึ่ง เมื่อแรกเริ่มตั้งตู้ครั้งแรกนั้นจะยังไม่มีแบคทีเรีย เราจึงต้องทำการใส่หัวเชื้อแบคทีเรียลงในตู้ ( สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าขายอุปกรณ์เลี้ยงปลา )ที่ใส่น้ำจนเต็มและรันน้ำทิ้งไว้อย่างนั้นเป็นเวลา 1- 3 เดือน เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียในตู้ให้มีปริมาณมากพอ ซึ่งสำหรับขั้นตอนนี้เราจะต้องทำการลงหินเป็นไปด้วยเพื่อให้ระบบการเซตตัวสมบูรณ์สำหรับเป็นที่ลงเกาะของแบคทีเรีย โดยยิ่งมีหินเป็นมากก็จะยิ่งทำให้ระบบเซตตัวได้เร็วขึ้น และสำหรับขั้นตอนนี้ยังไม่ต้องเปิดไฟเพราะจะทำให้มีตะไคร่ขึ้นมากทำให้เกิดความไม่สวยงาม ซึ่งในช่วงแรกของการเลี้ยงปลานั้น การเกิดตะไคร่ในตู้เป็นเรื่องปกติและจะลดลงเมื่อตู้เสถียรมากขึ้น ทั้งนี้เราอาจจะใช้วิธีควบคุมการเกิดตะไคร่ได้หลายวิธี เช่น เลี้ยงสัตว์ที่กินตะไคร่ , การใช้ Phosphate remover , การขัดออกการเลี้ยงสาหร่าย หรือลดเวลาการเปิดไฟ เป็นต้น

Saturday 16 October 2010

การเลี้ยงปลาทะเล

ปัจจัยที่ต้องคำนึงในการเลี้ยงปลาทะเล
1. ไฟ
สำหรับการเลี้ยงปลาทะเลโดยที่ไม่เลี้ยงปะการังนั้น สามารถใช้ไฟอะไรก็ได้เพื่อให้แสงสว่างและความสวยงามตามปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมแสงสีขาวจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ผสมกับแสงสีฟ้าจากหลอด blue แต่สำหรับกรณีที่มีการเลี้ยงปะการังนั้นจำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณไฟ เนื่องจากปะการังส่วนใหญ่ดำรงชีวิตโดยการสังเคราะห์แสงซึ่งต้องใช้แสงปริมาณมากและต่างกันไปตามความต้องการของปะการังแต่ละชนิด ซึ่งหลอดไฟที่สามารถเลี้ยงปะการังชนิดที่ต้องการแสงจัด ( ส่วนมาก ) ได้ดีและเป็นที่นิยม คือ หลอดไฟ MHซึ่งจะเกิดปัญหาในเรื่องของอุณหภูมิตามมาและมีราคาค่อนข้างสูง แต่สำหรับปะการังที่ใช้แสงน้อยก็สามารถใช้หลอดฟลูออเรสต์เซนต์หลายๆหลอดในการเลี้ยงได้ และปะการังบางชนิดก็ไม่ใช้แสงในการดำรงชีวิตต่างกันออกไปซึ่งไฟที่เราจะเลือกนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของสิ่งมีชิวิตที่เราจะเลี้ยง ซึ่งโดยปกติแล้้ิวหลอดไฟต่างๆจะมีอายุการใช้งานที่จำกัด ( ประมาณ 1 ปี ) ซี่งเมื่อหมดอายุ หลอดไฟจะให้ค่าความสว่างลดลงและอาจมีสีที่ผิดเพี้ยนจากเดิม



การเลี้ยงปลาทะเล
2. อุณหภูมิ
โดยปกติแล้ว อุณหภูมิในทะเลเขตร้อน จะเย็นกว่าอุณหภูมิ ของอากาศบ้านเราซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลาทะเลนั้นอยู่ที่ 25 - 29 องศาเซลเซียสซึ่งปลาบางชนิดจะีมีความสามารถในการทนต่ออุณหภูมิสูงๆได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปะการัง จะชอบอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นๆ และอาจตายได้ถ้าอยู่ในอุณหภูมิที่ิร้อนจนเกินไปและสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ก็คือความคงที่ของอุณหภูมิ ซึ่งสำคัญมากต่อสุขภาพของปลา โดยอุณหภูมิที่แกว่ง ขึ้น-ลงไปมาในแต่ละวัน จะทำให้ปลาปรับตัวยาก เกิดโรคต่างๆเนื่องจากภูมิต้านทานลด เกิดความเครียด ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยมากก็คืออุณหภูมิในตู้สูงเกินไป โดยผู้เลี้ยงอาจแก้ไขได้ด้วยการติดพัดลมเป่าที่ผิวน้ำ หรือติดเครื่องทำความเย็น ( Chiller ) ซึ่งมีราคาที่สูงมากแต่สามารถคุมอุณหภูมิได้คงที่และเย็นได้ตามต้องการ ส่วนอีกปัญหาีนึงก็คือการเลี้ยงปลาในห้องแอร์ และมีผลทำให้ีอุณหภูมิในตู้ิ เย็นเกินไป สามารถแก้ไขได้โดยการติดHeater ในตู้ปลาซึ่งสามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป

Friday 15 October 2010

การเลี้ยงปลาทะเล

ปัจจัยต่างๆที่ต้องคำนึงในการเลี้ยงปลาทะเล
1. น้ำ
แน่นอนว่าการเลี้ยงปลาทะเลก็จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเค็มในการเลี้ยงโดยแหล่งน้ำที่ใช้้เลี้ยงนั้นสามารถหาได้โดยใช้น้ำทะเลจริง ซึ่งควรจะใช้น้ำทะเลที่ห่างจากฝั่งพอสมควรเพื่อที่จะได้ไม่ีมีมลภาวะต่างๆ หรืออาจจะซื้อน้ำทะเลที่มีขายอยู่ตามร้านขายปลาทะเลก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้เกลือสังเคราะห์สำหรับเลี้ยงปลาทะเลโดยเฉพาะซึ่งหาซื้อได้ทั่วไป มีหลายยี่ห้อและเป็นที่นิยมเนื่องจากสะดวกกว่า จากนั้นก็นำเกลือที่ได้นำมาผสมน้ำตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างถุง โดยน้ำที่ใช้ถ้าเป็นน้ำกลั่นจะดีมาก หรืออาจใช้น้ำที่กรองแล้วเนื่องจากการใช้น้ำประปาจะมีฟอสเฟสมาก และเป็นที่มาของตะไคร่ในตู้ ทำให้เกิดความไม่สวยงามได้ซึ่งการผสมน้ำนั้นให้ค่อยๆเทเกลือลงในน้ำและคนอาจเปิดปั๊มอ๊อกหัวทรายเพื่อให้น้ำไหเวียน
หรืออาจจะผสมลงตู้เลยก็ได้ และใช้อุปกรณ์สำหรับวัดความเค็ม (Hydrometer) ซึ่งวัดในรูปความถ่วงจำเพาะให้ได้ค่าประมาณ 1.020-1.025 โดยเครื่องวัดความเค็มนั้นมีหลายราคาตั้งแต่ถูกจนถึงแพง

การเลี้ยงปลาทะเล
2.ระบบกรอง
ระบบกรองน้ำในตู้นั้นมีความสำคัญมากเนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพน้ำภายในตู้ ซึ่งจริงๆแล้วระบบกรองในตู้ทะเลมีหลายแบบและมีข้อดี-ข้อเสียต่างกันออกไปในที่นี้จะกล่าวถึงระบบที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้และมีคุณภาพ นั่นคือการใช้ระบบกรองข้างภายในตู้ หรือการใช้ระบบกรองล่าง ภายนอกตู้ ซึ่งจะต้องมีปั๊มดูดน้ำจากในตู้ไปยังช่องกรองซึ่งสำหรับกรองข้างนั้นภายในอาจจะบรรจุด้วย...

- ใยแก้ว ชั้นบนสุดสำหรับกรองเศษสิ่งสกปรกซึ่งอาจจะเกิดการหมักหมมได้ดังนั้นจึงควรหมั่นทำความสะอาดด้วย

- Bio ball เพื่อเพิ่มการแตกตัวของน้ำ ทำให้ผิวสัมผัสระหว่างน้ำกับอากาศมากขึ้นจึงเป็นการเพิ่มอ๊อกซิเจนในน้ำให้สูงขึ้น

- เศษปะการัง , เปลือกหอยนางรมทุบ หรือ Bio ring เพื่อเป็นการ เพิ่มพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ในการย่อยสลายของเสียในระบบของเรา ( วัสดุต่างๆอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความสะดวกของผู้เลี้ยง )

Wednesday 13 October 2010

การเลี้ยงปลาคาร์ฟ

บ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟ
ปลาคาร์ฟเป็นปลาที่สวยงามโดยเฉพาะตรงหลังของปลา จึงไม่นิยมเลี้ยงในตู้กระจก บ่อปลาไม่มีกำหนดว่าจะต้องใหญ่ หรือเล็ก เอาอ่างอะไรก็ได้ที่ มีเนื้อที่ให้ปลาได้ว่ายหน่อย เพราะปลาคาร์พสามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดีมาก แต่มีข้อคิดคือปลาคาร์พเป็นปลาที่ไม่อยู่นิ่ง ( active ) ดังนั้นบ่อใหญ่ย่อมดีกว่าบ่อเล็ก บ่อลึกย่อมดีกว่าบ่อตื้น เมื่อปลาอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ ปลาจะว่ายอย่างมีความสุข บ่อเลี้ยงควรมีบ่อกรองเพื่อไม่ทำให้เรายุ่งยากในการเปลี่ยนน้ำ



บ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟ
การสร้างบ่อเลี้ยงปลาคาร์ฟไม่มีขนาดและรูปทรงที่แน่นอน แต่มีข้อแม้ว่าบ่อกรองควรมีขนาดหนึ่งในสามของบ่อเลี้ยง เพื่อประสิทธิภาพในการกรองที่ดี ความลึกของน้ำที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พคือ 80-150 ซม.(ขึ้นอยู่กับขนาดของ ปลาที่จะเลี้ยง) และขอบบ่อควรสูงกว่าระดับน้ำในบ่อ 20-30 ซม. ถ้าเป็นบ่อแบบขุดลงดินขอบบ่อก็ควรสูงกว่าพื้นดินไม่น้อยกว่า 30 ซม. เพื่อป้องกันน้ำท่วมบ่อ ก้นบ่อควรเทพื้นให้ลาดเอียง 20-30 องศา จากริมก้นบ่อโดยรอบเข้าหาใจกลางบ่อที่เป็นเป็นตัว U และสะดือบ่อที่อยู่ใจกลางบ่อก็ควรมีขนาดที่ไม่เล็กจนเกินไป และอาจมีได้หลายสะดือ ถ้าบ่อมีขนาดใหญ่มากๆ หรือมีส่วนที่เว้าเยอะ วัสดุในบ่อกรองให้ใช้หินกรองสามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ ปั๊มน้ำก็ควรใช้ที่เงียบ และแรงเหมาะสมกับขนาดบ่อ บ่อทรงกลมจะช่วยให้ไม่ต้องใช้ปั๊มน้ำขนาดใหญ เพื่อให้น้ำในบ่อหมุน เพราะถ้าน้ำหมุนก็จะทำให้ขี้ปลาไปรวมที่ก้นบ่อเร็ว และจะลงไปในสะดือไปที่บ่อกรองได้ง่าย ที่ตั้งของบ่อก็ควรให้มีแดดส่องถึง อย่างน้อยวันละ 3 ชั่วโมง หรือให้แสงส่องลงบ่อประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์

1. บ่อเลี้ยงแบบบ่อกรองและบ่อเลี้ยงอยู่บนดิน
บ่อแบบนี้จะสะดวกต่อการจัดการ เพราะน้ำที่มาจาก สะดือบ่อเลี้ยง จะมาที่บ่อกรอง โดยตรง ไม่ต้องใช้การปั๊มจากบ่อพัก มาบ่อกรอง และการล้างบ่อกรองก็ง่ายเพราะบ่อกรองอยู่บนดิน เพียงแค่เปิดวาล์วที่ทำไว้กันบ่อกรองต่อกับสะดือบ่อกรองทุกห้อง โดยใช้วิธี ล้างกลับ (Reverse Flow) โดยการให้น้ำไหลจากด้านบนกลับไปที่ด้านล่างจนกว่าน้ำจะใส ประมาณปีละ2-3 ครั้งขึ้นอยู่กลับปริมาณปลาและการให้อาหาร ข้อสำคัญก้นบ่อกรองจะต้องเทลาดเอียงทุกห้อง และมีสะดือบ่อเหมือนบ่อเลี้ยง ให้ตะกอนมารวมกันเพื่อง่ายต่อการกำจัด

2. บ่อเลี้ยงแบบบ่อกรองและบ่อเลี้ยงอยู่ในดิน
วิธีสร้างบ่อกรองแบบนี้ไม่สามารถทำวาล์วไว้ที่ก้นบ่อ ได้เหมือนสองวิธีแรกได้ เพราะระดับน้ำของก้นบ่อกรอง อยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดินปกติ ดังนั้นจึงต้องทำก้นบ่อกรองให้ลาดเอียงไปทางด้านช่องของน้ำล้น เข้า ที่ไม่ได้ใส่วัสดุกรองของแต่ละช่อง และช่องว่างของช่องน้ำล้นเข้าต้องกว้างพอที่จะใส่ปั๊มน้ำลงไปได้ เพราะเมื่อต้องการล้างบ่อกรอง โดยใช้ วิธีการล้างกลับ (Reverse Flow) โดยการให้น้ำไหลจากด้านบนกลับไปที่ด้านล่างจนกว่าน้ำจะใสนั้น จะต้องใช้ปั๊มน้ำเป็นตัวดึงน้ำออกแทนการเปิดวาล์วแบบสองวิธีแรก

3. บ่อเลี้ยงแบบบ่อกรองอยู่บนดินและบ่อเลี้ยงขุดลงในดิน
วิธีสร้างบ่อกรองใช้เหมือนวิธีแรกแต่บ่อพักต้องสร้างลึก ลงไป ให้ เท่ากับก้นบ่อเลี้ยง แล้วใช้ปั้มน้ำปั้มน้ำจากบ่อพัก มาบ่อกรอง ขนาดของบ่อพัก ไม่จำกัดจะใหญ่หรือเล็กก็ได้ การล้างบ่อกรองก็เหมือนวิธีแรก

Monday 11 October 2010

การเพาะพันธุ์ปลาอะโรน่า (arowana)

การเพาะปลาอะโรวาน่า
ปลาในตระกูลอะโรวาน่าทั้งหมดเป็นปลาที่แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ฟักและเลี้องลูกในปาก ( MOUTH INCUBATOR ) ยกเว้นปลาอะราไพม่าซึ่งมีพฤติกรรมวางไข่คล้ายกับปลาช่อนในบ้านเรา โดยอัตราการวางไข่ของปลาอะโรวาน่าโดยทั่ว ๆ ไปจะอยู่ในช่วงระหว่าง 30-400 ฟองโดยประมาณ ไข่ปลามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 0.5-1.5 เซนติเมตรทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและความสมบูรณ์ของไข่แต่ละฟอง โดยไข่ของปลาอะโรวาน่าทางแถบอเมริกาใต้จะมีขนาดเล็กกว่าไข่ของปลาอะโรวาน่าทางแถบโซนเอเซียซึ่งไข่ของปลาอะโรวาน่าเงินและดำจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 0.5-0.8 เซ็นติเมตร ในขณะที่ปลาอะโรวาน่าโซนเอเซียจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1-1.5 เซ็นติเมตร โดยรูปทรงของไข่ปลาอะโรวาน่าเงินและดำจะมีลักษณะกลมรีคล้ายรูปไข่ ส่วนไข่ของปลาอะโรวาน่าทางแถบโซนเอเซียจะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลมขนาดและลักษณะคล้ายเมล็ดลำใย โดยไข่ของปลาอะโรวาน่าแต่ละชนิดจะมีสีสันคล้าย ๆ กันคือออกสีเหลืองหรือสีส้มอม เหลือง

ปลาอโรวาน่า
ปกติไข่จะใช้เวลาในการฟักเป็นตัวราว 2-5 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำในแต่ละช่วงว่าจะสูงหรือต่ำ หากอุณหภูมิน้ำสูงไข่ก็จะฟักเป็นตัวเร็วขึ้น ในธรรมชาติหลังจากพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์วางไข่เสร็จแล้วพ่อแม่ปลาจะอมไข่และฟักลูกในปากโดยในขณะที่ปลาตัวเมียวางไข่ตัวผู้ก็จะว่ายคลอเคลียพร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกับไข่ที่ตัวเมียเบ่งออกมา ยามที่ลูกปลาเริ่มฟักเป็นตัวใหม่ ๆ จะมีถุงอาหารสีส้มลักษณะคล้ายกับลูกโป่งใบเล็ก ๆ ห้อยติดอยู่ที่ใต้ท้อง ซึ่งถุงอาหาร นี้จะค่อย ๆ ยุบตัวเมื่ออาหารสำรองในถุงถูกลูกปลาย่อยหมดแล้ว ในระหว่างนี้ พ่อแม่ปลาจะยังคงเลี้ยงลูกของตนไว้ในปากจนกระทั่งผ่านไปเป็นเวลาเดือนเศษเมื่อลูกปลาเริ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองในการหาอาหารได้แล้ว พ่อแม่ปลาก็ จะผละจากไปโดยในช่วงแรกลูกปลาที่เพิ่งแยกจากพ่อแม่จะจับกลุ่มรวมเป็น ฝูงลอยคออยู่ใกล้ระดับผิวน้ำ แต่พอเริ่มโตขึ้นก็จะค่อย ๆ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยจะเริ่มกัด ทำร้ายกันเอง จนในที่สุดก็จะว่ายแตกฝูงกันไปคนละทิศละทาง โดยจะยังจับกลุ่มกันเป็นฝูงย่อย ๆ ฝูงละไม่กี่ตัว ซึ่งโดยมากจะพบแค่ฝูงละ3-5 ตัวเป็นอย่างมาก

Saturday 9 October 2010

ปลาอะโรวาน่าเขียว (Green arowana)

ปลาอะโรวาน่าเขียว
ปลาอะโรวาน่าเขียวหรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่าปลาตะพัด มีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ทั่วไปตามแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เท่าที่เคยมีการสำรวจพบในประเทศไทยที่จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง และจังหวัดภาคใต้ที่มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังสำรวจพบปลาสายพันธุ์นี้ในประเทศลาว เขมร เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย และมาเลเซียจะเห็นได้ว่าปลาสายพันธุ์นี้มีแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ดังนั้นาจึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ปลาสายพันธุ์นี้จะมีปะปนมากับอะโรวาน่าทองหรือแดงอยู่เสมอเพราะที่จริงแล้วปลาทั้ง 4 สายพันธุ์ที่ว่าก็คือปลาชนิดเดียวกัน แต่เนื่องจากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต่างกันจึงทำให้ปลาในแต่ละแหล่งน้ำมีสีสันไม่เหมือนกันแต่ก็ยังมีปลาอีกบางส่วนที่มีลักษณะสีสันใกล้เคียงกันมากจนทำให้วงการปลาเกิดการปั่นปวนอยู่เนือง ๆ

ปลาอะโรวาน่าเขียว (Green Arowana)
ลักษณะของปลาอะโรวาน่าเขียว
โดยปกติปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์สีเขียว จะมีลำตัวเป็นพื้นสีเงินจึงมีชื่อว่า SIVER AROWANA และบางแหล่งก็เรียกว่า PLAPINUM AROWANA แต่ที่นิยมเรียกมากที่สุดคือ GREEN AROWANA บริเวณแผ่นหลังจะมีสีน้ำตาลออกเขียว ครีบและหางออกสีเขียวอมน้ำตาลหรือดำ ปลาในบางแหล่งน้ำที่บริเวณวงในของเกล็ดจะมีสีคล้ำเล็กน้อย บ้างก็มีเกล็ดสีเงินเหลือบเขียว ความนิยมในปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์นี้สำหรับในบ้านเราไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากเหตุผลที่ว่าไม่ค่อยมีสีสันดึงดูดใจเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ราคาของปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์นี้มีราคาถูกที่สุดในบรรดาปลาอะโรวาน่าทั้งหมดในเอเซีย แต่ถึงอย่างไรก็ตามในอดีตปลาอะโรวาน่าเขียวก็มักจะหลงเข้าไปอยู่ในตู้ปลาของนักเลี้ยงปลาเป็นประจำสาเหตุไม่ใช่ว่านักเลี้ยงปลาต้องการจะเลี้ยงปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์นี้ แต่เนื่องจากเกิดจากการผิดพลาดในการแยกสายพันธุ์ของปลาตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น บวกกันถูกพ่อค้าแม่ค้าต้มตู๋นจึงทำให้ปลาอะโรวาน่าเขียวกลายเป็นปลายอดนิยมโดยผู้เลี้ยงไม่ได้ตั้งใจ

Friday 8 October 2010

ปลาอะโรวาน่าแดง (Red arowana)

ปลาอะโรวาน่าแดง
ปลาสายพันธุ์นี้พบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศอินโดนีเซียที่บังกากาลิมันตัวและเกาะสุมาตรา

ลักษณะของปลาอะโรวาน่าแดง
เกล็ดบนลำตัวจะออกสีส้มอมทอง หรือสีส้มอมเขียว บางตัวที่มีสีเข้มหน่อยก้ออกสีทองอมแดง ครีบและหางจะออกสีแดงคล้ายสีเลือดนก ปลาสายพันธุ์นี้จัดว่ามีราคาแรงและได้รับความนิยมรองลงมาจากปลาอะโรวาน่ามาเลเซีย ทั้งนี้เนื่องจากปลาที่มีสีแดงเข้มสดจริง ๆ หายากมากดังนั้นคนจึงนิยมหันไปเลี้ยงปลาอะโรวาน่าทองมาเลย์แทน เพราะแต่ละตัวโดยโดยมากจะมีสีทองแวววาวไม่แพ้กันเท่าไหร่ ปลาอะโรวาน่าแดงจัดว่าเป็นปลาที่ค่อนข้างหายากอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะปลาที่มีรูปร่างและสีสันสวยงามจริง ๆ แต่เดิมปลาสายพันธุ์นี้ถูกจัดรวมอยู่ในปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์สีทองแต่เนื่องจากสีทองของปลาพันธุ์นี้ จะออกสีส้มแดง จึงได้มีการแยกออกเป็นสายพันธุ์สีแดงในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงหลังปรากฎว่าปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์นี้กลับได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปลาอะโรวาน่าแดง (Red Arowana)
จนปัจจุบันราคาปลาสายพันธุ์นี้ได้เขยิบตัวสูงขึ้นมากทีเดียว สำหรับแหล่งปลาอะโรวาน่าแดงที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นแหล่งของปลาอะโรวาน่าแดงที่มีสีสันสวยงามที่สุดอยู่ที่รัฐกาลิมันตันและเท่าที่ทราบราคาปลาที่ซื้อขายกัน ปลาอะโรวาน่าที่นี่จะมีราคาแพงกว่าปลาอะโรวาน่าแดงจาแหล่งน้ำอื่น ๆ เพราะตลาดมีความต้องการมาก ทำให้พ่อค้าคนไทยมักสู้ราคาไม่ไหวจึงทำให้ปลาอะโรวาน่าแดงที่สั่งเข้ามาจำหน่ายโดยมากจะเป็นปลาอะโรวาร่าแดงที่มีสีสันไม่สดสวยเท่าที่ควรจึงเป็นที่น่าวิตกว่าอนาคตความนิยมในปลาอะโรวาน่าแดงในบ้านเราอาจจะลดน้อยลงเนื่องจากปลาที่เลี้ยงพอโตขึ้นมากลับมีสีสันไม่สวยดึงดูดใจเท่าที่ควรและอาจทำให้นักเลี้ยงปลาเลิกให้ความสนใจแก่ปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์นี้ เนื่องจากไม่มีโอกาสได้เห็นปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์สีแดง ที่มีความสวยงามจริง ๆ

ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2539) ปลาอะโรวาน่าแดงส่วนใหญ่ที่สั่งเข้ามาจำหน่าย โดยมากจะเป็นปลาที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงแทบทั้งสิ้นดังนั้นในด้านของคุรภาพสีจึงค่อนข้างแน่นอนกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีน้อยตัวที่มีสีแดงเข้มสดเหมือนสีเลีอดนกอยู่ดี

Sunday 3 October 2010

ปลาอะโรวาน่าทองมาเลย์ (Malayan bonytongue)

ปลาอะโรวาน่าทองมาเลย์
เป็นปลาอะโรวาน่าที่มีสีสันใกล้เคียงกับปลาอะโรวาน่าทองอินโดนีเซียมากที่สุดแต่เกล็ดบนลำตัวจะมีสีเหลืองทองสุดใสกว่า และมีเกล็ดที่เป็นมันแวววาวกว่ามากเมื่อเวลาที่ปลาแหวกว่ายแลดูคล้ายดั่งทองคำเปลวเคลื่อนที่เลยทีเดียว จัดได้ว่าเป็นปลาอะโรวาน่าที่มีสีสันสวยสดงดงามเด่นสะดุดตามากสามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นมากที่สุด และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปลาสายพันธุ์นี้มีราคาแพงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับปลาอะโรวาน่าชนิดอื่น ๆ

ปลาอะโรวาน่าทองมาเลย์ที่มีความสวยงามและมีสภาพสมบูรณ์จริง ๆ ราคาที่ซื้อขายบางตัวมีราคาเป็นแสน ๆ บาท

ปลาอะโรวาน่าทองมาเลย์ (Malayan Bonytongue)
หากความแตกต่างของสีสันเพียงเล็กน้อยเท่านี้กลับทำให้ปลาสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมสูงสุด เพียงแต่ปริมาณของปลาที่จับได้มีปริมาณน้อยไม่พอเพียงกับความต้องการของตลาด จึงทำให้ราคาซื้อขายค่อนข้างสูงมากคนที่อยากเลี้งแต่ฐานะทางการเงินไม่พร้อมจึงหันไปเลี้ยงสายพันธุห์อินโดนีเซียแทนปลาอะโรวาน่าสายพันธุ์นี้เท่าที่พบมีอยู่ใน เพนิซูล่า ซาบาร์บอร์เนียวเหนือ และซาราวัคนอกจากความแตกต่างในด้านของสีสันและความแวววาวของเกล็ดแล้วปลาอะโรวาน่าทองของมาเลเซียยังมีสีทองที่เกล็ดขึ้นถึงเกล็ดบริเวณแผ่นหลังด้วย ซึ่งจุดนี้จึงทำให้ปลาสายพันธุ์นี้แลดูสวยงามกว่าปลาสายพันธุ์ที่พบในประเทศอินโดนีเซีย

Saturday 2 October 2010

ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจุด (Spotted barramundi)

ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจุด
ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้เกล็ดบนลำตัวจะออกสีเงินแกมน้ำตาลอมเขียวหรือเหลืองส่วนท้องจะมีสีจาง มีเกล็ดตามเส้นข้างตัวอยู่ 35 เกล็ด เกล็ดแต่ละเกล็ดจะมีจุดสีส้มปนแดงสะท้อนแสงอยู่ 1-2 จุด ครีบหลังครีบทวารและหางมีสีน้ำตาลจาง ๆ หรือเทาอมน้ำตาลครีบทวารมีลักษณะยาวกว่าครีบหลัง มีก้านครีบทั้งหมด 31 ก้านส่วนครีบหลังมีก้านครีบทั้งหมด 21 ก้าน ไข่ของปลาชนิดนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 10 มิลลิเมตร ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้พบทางแถบบริเวณ่ตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย บริเวณหมู่เกาะควีนแลนด์เพียงแห่งเดียว จัดว่าเป็นปลาในตระกูลอะโรวาน่าที่หายากที่สุดและจวนจะสูญพันธุ์แล้ว สำหรับในประเทศไทยเคยมีผู้ลักลอบนำเข้ามาขายบ้างแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นปลาที่มีสีสันไม่สะดุดตาเลย

ปลาอะโรวาน่าออสเตเรียจุด (Spotted Barramundi)

สำหรับปลาชนิดนี้ขนาดโตเต็มที่จะมีความยาวโดยถัวเฉลี่ยราว 90 เซนติเมตร

Friday 1 October 2010

ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลีย (Australia arowana)

ปลาอะโรวาน่าออสเตรเลีย
เป็นปลาอะโรวาน่าที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับปลาอะโรวาน่าที่พบในทวีปเอเซียมากที่สุด ต่างกันตรงที่สีสันและลักษณะความกว้างของลำตัว โดยปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจะมีความกว้างของลำตัวน้อยกว่าอะโรวาน่าที่พบในแถบโซนเอเซีย และแผ่นหลังจะมีลักษณะโค้งมากกว่า ครีบหลังมีขนาดเล็กกว่าครีบทวารอย่างเห็นได้ชัด และลักษณะของหนวดจะไม่ใหญ่และเหยียดตรงไปด้านหน้าเหมือนปลาอะโรวาน่าทางแถบโซนเอเซีย แต่จะม้วนเข้าหาลำตัวหรือ กางออกข้างปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจัดว่าเป็นปลาอะโรวาน่าที่ค่อนข้างหายากที่สุดและใกล้จะ สูญพันธุ์แล้ว ด้วยเหตุนี้ทางประเทศออสเตรเลียจึงได้ออกกฎหมายให้การคุ้มครองปลาทั้ง 2 ชนิดนี้อย่างเคร่งครัด ทำให้ปลาทั้ง 2 ชนิดไม่ค่อนมีจำหน่ายในท้องตลาดเหมือนปราอะโรวาน่าชนิดอื่น ๆ แต่ก็ยังมีขายประปรายเป็นพัก ๆ ซึ่งความนิยมก็ไม่มากเท่ากับปลาอะโรวาน่าทางแถบโซนเอเซียและอเมริกาใต้สาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่าสีสัน รวมทั้งรูปร่างไม่มีความน่าประทับใจเท่าที่ควรจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม

ปลาอะโรวาน่าออสเตรเรีย (Australia Arowana)
ปลาอะโรวาน่าชนิดนี้มีรูปร่างป้อมกว่าปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียจุดเล็กน้อย ดว่าเป็นปลาอะโรวาน่าที่มีรูปร่างใกล้เคียงกับปลาอะโรวาน่าทางแถบโซนเอเซียมากที่สุด ปลาชนิดนี้จะมีลำตัวสีเงินแซมน้ำเงินออกคล้ำ มีแถบสีชมพูประแต้มบนเกล็ดแต่ละเกล็ด ครีบและหางมีสีน้ำเงินคล้ำเหลือบด้วยสีเขียว พบทางทิศตะวันออกของทวีปออสเตรเลีย

นอกจากนี้ยังมีบางส่วนพบในประเทศอินโดนีเซียแถบอีเรียนจายาและปาปัวนิวกินี เข้าใจว่าปลาอะโรวาน่าออสเตรเลียเหนือที่ส่งเข้ามาขายในไทยขณะนี้ถูกส่งมาจากประเทศอินโดนีเซียมากกว่า เพราะที่ประเทศออสเตรเลียได้มีกฎหมายให้การค้มครองแก่ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้เข้มงวดมาก